อาเซียนกังขาความจริงจัง "รัสเซีย - สหรัฐฯ" ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในภูมิภาค

ต่างประเทศ
9 ต.ค. 56
15:24
48
Logo Thai PBS
อาเซียนกังขาความจริงจัง "รัสเซีย - สหรัฐฯ" ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในภูมิภาค

ปัญหาข้อพิพาทเรื่องพื้นที่ทางทะเล ความท้าทายในการเตรียมตัวเข้าสู่การเป็นประชาคมยังคงเป็นประเด็นหลักในการหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ท่ามกลางความกังขาถึงความจริงจังของชาติมหาอำนาจอย่างรัสเซีย และสหรัฐฯ ที่จะเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับอาเซียน หลังจากผู้นำของทั้ง 2 ไม่มาร่วมการประชุม

การหารือระหว่างอาเซียนกับจีนดูเหมือนจะเป็นไฮไลต์ของการประชุมในวันนี้จากปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ที่ถึงแม้ที่ผ่านมาจะส่งสัญญาณที่ดีขึ้น แต่ยังไม่ถึงจุดที่สมาชิกอาเซียนคู่กรณีหวังไว้ที่ต้องการเห็นกรอบเวลาในการกำหนดแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ หรือ Code of conduct ที่จะเป็นแนวปฏิบัติที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย
 
นี่เป็นครั้งแรกที่นายหลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีนได้มาร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนกับคู่เจรจา ท่ามกลางการจับตามองถึงท่าทีของจีนต่อปัญหาทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนยังย้ำที่จะแก้ปัญหาผ่านการเจรจา
 
ผู้นำจีนบอกว่าจีนเห็นด้วยเสมอมาว่าปัญหาทะเลจีนใต้ต้องแก้ไขด้วยทางตรงหาทางออกผ่านการเจรจา ก่อนการหารือมีรายงานถึงความเห็นที่ไม่ตรงกันในแถลงการณ์ประธานในการประชุมอาเซียน-จีนในเรื่องทะเลจีนใต้ที่มีถ้อยคำระบุว่าอยากให้ได้ข้อสรุปให้เร็วที่สุด ซึ่งมีนัยหมายถึงกรอบเวลาในการจัดทำ
 
Code of Conduct ซึ่งเป็นจุดที่จีนไม่เห็นด้วย และคาดว่าจะถูกตัดออกจากแถลงการณ์ เพื่อรักษาบรรยากาศการเจรจาในช่วงหลังที่มีแนวโน้มดีขึ้น ในช่วงที่ผ่านมาจีนได้เปลี่ยนท่าทีโดยได้มีการหารือในระดับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในเรื่องแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา และในการประชุมครั้งนี้ ผู้นำจีนระบุว่าการประชุมดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่นักวิเคราะห์มองว่าเป็นความต้องการในการถ่วงเวลาของจีน
 
นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุมในครั้งนี้ไม่ได้มีการหารือกันในเรื่องกรอบเวลา แต่จีนต้องการเห็นกระบวนการแบบค่อยเป็นค่อยไป
 
ที่ผ่านมา สมาชิกอาเซียนขาดความเป็นเอกภาพในการแก้ปัญหาทะเลจีนใต้ และทำให้เกิดความเห็นต่างระหว่างชาติสมาชิกอย่างรุนแรง ในขณะที่ช่วงเช้า ชาติสมาชิกอาเซียนได้หารือกันถึงความคืบหน้าในการเป็นประชาคมอาเซียนในอีก
 
2 ปีข้างหน้าท่ามกลางความกังวลว่าชาติสมาชิกทุกชาติอาจไม่พร้อม ซึ่ง สุลต่าน ฮัสซานาน โบลเกีย แห่งบรูไนประธานอาเซียนทรงยอมรับว่ายังมีความท้าทาย แต่แสดงความเชื่อมั่นว่าอาเซียนจะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมได้
 
นอกจากนั้น ยังมีการหารือถึงวิสัยทัศน์ของอาเซียนหลังการเป็นประชาคมที่จะเน้นในการพัฒนาศักยภาพประชากรในอาเซียน และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนกับประชาชนโดยผู้นำได้เห็นพ้องที่จะให้สภาประสานงานอาเซียนดำเนินการจัดทำหลักการวิสัยทัศน์ เพื่อให้ผู้นำได้รับรองในการประชุมปีหน้า
 
ในขณะที่ในช่วงเย็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้หารือแบบทวิภาคีกับนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งนายกฯญี่ปุ่นได้แสดงความเป็นห่วงถึงปัญหาน้ำท่วม และของให้ไทยช่วยดูแลกิจการของญี่ปุ่น ในขณะที่ไทยได้เชิญชวนให้ญี่ปุ่นมาลงทุนในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะการขนส่งระบบรางทั้งระบบรถไฟความเร็วสูง และระบบรถไฟในกรุงเทพมหานคร โดยขอให้มีการกำหนดผู้ประสานงานโดยตรงระหว่างรัฐมนตรีกับรัฐมนตรี เพื่อการดำเนินการที่รวดเร็ว
 
แหล่งข่าวในที่ประชุมระบุว่าบรรยากาศการประชุมระหว่างอาเซียนกับจีนเป็นไปด้วยความเป็นมิตร ฟิลิปปินส์ ประเทศคู่กรณีที่สำคัญในเรื่องทะเลจีนใต้ดูจะตอบรับข้อเสนอของทุกฝ่าย และมองว่าถ้าแก้ปัญหาได้ประโยชน์จะตกเป็นของทุกฝ่าย แต่สำหรับการประชุมเอเซียตะวันออกในพรุ่งนี้ที่ไม่มีผู้นำสหรัฐฯ และรัสเซียมาร่วมประชุมทั้งๆ ที่ผู้นำรัสเซียเพิ่งจะไปร่วมการประชุมเอเปคที่บาหลีอินโดนีเซีย ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตถึงความจริงจังของประเทศมหาอำนาจทั้ง 2 ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในภูมิภาค และอาจทำให้อิทธิพลของจีนในภูมิภาคยังคงแข็งแกร่งต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง