ประธาน กมธ.ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ร่นวันแปรญัตติ

การเมือง
22 ต.ค. 56
05:17
55
Logo Thai PBS
ประธาน กมธ.ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ร่นวันแปรญัตติ

ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ร่นวันแปรญัตติ เป็นวันที่ 24 -25 ตุลาคม และไม่เชื่อทำรัฐบาลอายุสั้น ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เชื่อมีใบสั่งเร่งรัด และขู่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความเข้าข่ายกฎหมายการเงิน

นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ว่า ในวันที่ 24-25 ตุลาคมนี้ กรรมาธิการจะให้ผู้แปรญัตติมาชี้แจงคำแปรญัตติต่อ กมธ.จากเดิมที่กำหนดให้ผู้แปรญัตติมาชี้แจงคำแปรญัตติต่อกรรมาธิการในวันที่ 30 -31 ตุลาคม ซึ่งไม่ใช่การเร่งรีบที่จะนำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสภาฯ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ทำเอกสารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ให้ผู้แปรญัตติมาชี้แจงคำแปรญัตติได้ทันที 
 
นายสามารถ กล่าวว่า คาดว่า กมธ.จะประชุมอีก 2 ครั้ง และจะเสนอรายงานต่อสภาฯ ได้ในปลายเดือนตุลาคม จากนั้นสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายน จะพิจารณาวาระ 2 ได้ ซึ่งยืนยันว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่มีผลให้คืนเงิน 46,000 ล้านบาท แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดย พ.ต.ท.ทักษิณ จะได้รับประโยชน์พ้นผิดจากคดีอาญาที่เป็นผลพวงจากการรัฐประหารเท่านั้น หาก พ.ต.ท.ทักษิณ อยากได้เงิน 46,000 ล้านบาทคืนต้องไปใช้สิทธิฟ้องร้องเองภายหลัง ทั้งนี้ ยอมรับว่ากฎหมายฉบับนี้ถูกต้านอย่างหนัก อาจเป็นเครื่องล่อให้การรัฐประหารคืนชีพมาอีกครั้ง
 
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เพิ่งทราบว่าคณะกรรมาธิการได้นัดประชุมแปรญัตติเร็วขึ้น จากเดิมที่มีมติว่าจะประชุมในครั้งต่อไป ในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ แต่มีการแจ้งว่าเปลี่ยนเป็นวันที่ 24-25 ตุลาคม การนัดประชุมนี้มีเจตนาชัดเจนว่าต้องการเร่งรัด และพยายามรวบรัดเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะเป็นมติ และประธานได้แจ้งในที่ประชุมชัดเจน แต่กลับมีการเปลี่ยนแปลงในวันที่ 21 ตุลาคม 
 
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ วิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า การยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก็ต้องรอให้ผ่านกระบวนการของรัฐสภาก่อน โดยกฎหมายดังกล่าวเข้าข่ายที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 ซึ่งขณะนี้ฝ่ายค้านรวบรวมประเด็น เช่น การแก้ไขเกินหลักการของกฎหมาย และกฎหมายฉบับนี้อาจเข้าข่ายเป็นกฎหมายการเงินที่นายกรัฐมนตรีต้องให้ความเห็นชอบ
 
ขณะที่กลุ่มญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ทางการเมือง พ.ศ.2553 นำโดยนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดานายสมาพันธ์ ศรีเทพ ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. เมื่อปี 2553 นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานกรรมการญาติพฤษภา 35 
 
นายสุนัย ผาสุก ผู้ประสานงานที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ของกลุ่มญาติผู้สูญเสียฯ คัดค้านการนิรโทษกรรมแบบยกเข่ง ขณะเดียวกัน ยังฝากไปถึงคนเสื้อแดงที่ตั้งคำถามว่า ทำไมกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตต้องออกมาเคลื่อนไหว ทั้งๆ ที่ได้เงินไปแล้ว 7,500,000 บาทว่าเงินที่ได้มาจากเงินภาษีของประชาชนไม่ใช่เงินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และในวันที่ 24 ตุลาคม เวลา 11.00 น. กลุ่มญาติผู้เสียชีวิต จะรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนจะเดินขบวนไปที่รัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ดังกล่าวต่อคณะกรรมาธิการ 
 
ด้าน ศ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รวบรวมข้อมูลการนิรโทษกรรม ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย 81 ปี มี กฎหมายนิรโทษกรรม 22 ฉบับ เฉลี่ย 3 ปีครึ่ง มีกฎหมายนิรโทษกรรม 1 ฉบับ ซึ่งพบว่า 72.7% นิรโทษกรรมให้ชนชั้นนำ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง