ไม่มั่นใจโครงการแลนด์บริดจ์ สงขลา-สตูล

27 ต.ค. 56
15:19
413
Logo Thai PBS
ไม่มั่นใจโครงการแลนด์บริดจ์ สงขลา-สตูล

โครงการสะพานเชื่อมเศรษฐกิจพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย หรือ แลนด์บริดจ์ สงขลา-สตูล ถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นแผนยุทธศาสตร์ ที่จะขยายนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออกมาอยู่ในภาคใต้ ซึ่งจะเปลี่ยนภาคใต้ให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมหนัก ที่วิถีชีวิตคนส่วนใหญ่พึ่งพาภาคการเกษตร การค้า และการท่องเที่ยว ขณะที่สื่อมวลชนในพื้นที่แนะให้ดูตัวอย่าง เมืองอุตสาหกรรมในต่างประเทศ ที่ทุกวันนี้ต้องกลายเป็นเมืองร้าง

การเดินเท้าของอาสาสมัครเครือข่ายติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสงขลา-สตูล ขณะนี้เหลือระยะทางอีกประมาณ 20 กิโลเมตร ก็จะถึงที่หมายบริเวณชายทะเลบ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา โดยเมื่อคืนที่ผ่านมา มีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเครือข่ายภาคประชาสังคมในจังหวัดสงขลา บริเวณหน้าสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ ก่อนจะเดินเท้าเข้าอ.นาหม่อม เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา กิจกรรมเดินด้วยรักษ์พิทักษ์ชายหาดปากบารา - สวนกง ระยะทาง 220 กิโลเมตร มีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่ข้อมูลและผลกระทบ จากโครงการสะพานเชื่อมเศรษฐกิจพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ เพราะเป็นแผนพัฒนาที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่า มีเป้าหมายเพื่อย้ายฐานนิคมอุตสาหกรรม จากภาคตะวันออกมาอยู่ในพื้นที่ภาคใต้

ข้อมูลที่เครือข่ายติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสงขลาและสตูล แจกจ่ายให้กับประชาชนสองข้างทาง คือรายละเอียดของแผนยุทธศาสตร์โครงการสะพานเชื่อมเศรษฐกิจพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ประกอบด้วยโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ในอ.ละงู จ.สตูล ใช้งบศึกษาโครงการไปแล้วกว่า 500 ล้านบาท ส่วนโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ในอ.จะนะ จ.สงขลา อยู่ระหว่างศึกษาโครงการ ขณะที่ โครงการรถไฟรางคู่เชื่อมท่าเรือน้ำลึกปากบารา กับท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 อยู่ในระหว่างรอการอนุมัติผลการศึกษาโครงการ

หลังโครงสร้างพื้นฐานนพร้อม จะมีการขุดเจาะอุโมงค์เชื่อมจังหวัดสตูลกับรัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซีย สร้างคลังเก็บและโรงแยกกลั่นน้ำมันเนื้อที่ 5,000 ไร่ในจ.สตูล และในจ.สงขลาอีก 10,000 ไร่ พร้อมสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำอีกจังหวัดละ 1 แห่ง รองรับนิคมอุตสาหกรรมปริโตรเคมี เนื้อที่กว่า 200,000 ไร่ ทั้งในจ.สงขลาและจ.สตูล หลังรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม ทำให้ชาวบ้านที่สนับสนุนโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก เริ่มไม่มั่นใจว่าโครงการนี้จะส่งผลดีจริงหรือไม่

ขณะที่ชาวบ้าน บ้านปากบารา อ.ละงู จ.สตูล หลายคนต่างไม่มั่นใจกับการดำเนินชีวิตในวันข้างหน้า หลังพบว่าที่อยู่อาศัย อยู่ในแผนที่ที่จะถูกเวนคืนที่ดิน เพื่อก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก เช่นเดียวกับชาวบ้าน บ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา ที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการประมง วันนี้หลายคนกำลังมีความรู้สึกกดดัน จากทิศทางและแผนการพัฒนาของภาครัฐ

สื่อมวลชนที่ติดตามแผนพัฒนาภาคใต้ มาเกือบ 20 ปี มองว่า แผนการพัฒนานี้จะพลิกโฉมหน้าของภาคใต้ให้เป็นเหมือนกับภาคตะวันออกที่มีนิคมอุตสาหกรรมอยู่ในพื้นที่ และสร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม และชุมชนโดยไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิม เช่นกรณีของนิคมอุตสาหกรรมเมืองดีทรอยด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีสภาพกลายเป็นเมืองร้างในขณะนี้

การพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐได้ผลักดันโครงการก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติ และโรงไฟฟ้าจากพลังงานก๊าซธรรมชาติ ในพื้นที่อ.จะนะ จ.สงขลา จนเป็นผลสำเร็จ แต่พื้นที่นี้กำลังถูกจับตามองจากนักวิชาการและนักวิจัยด้านสาธารณสุข ว่าเป็นแหล่งก่อมลพิษต่อประชาชนในพื้นที่หรือไม่

การเตรียมความพร้อมเพื่อผลักดันพื้นที่ จ.สงขลาและจ.สตูลเป็นเขตอุตสาหกรรม ของหน่วยงานภาครัฐได้เตรียมบังคับใช้ประกาศผังเมืองรวมจ.สงขลาและสตูล ฉบับใหม่ ที่กำหนดข้อบังคับการใช้ประโยชน์ที่ดิน พบว่าพื้นที่ในโซนสีเขียว หรือพื้นที่สำหรับทำการเกษตร ได้ถูกแก้ไขใหม่ให้เป็นโซนสีม่วง หรือเขตอุตสาหกรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง