เพื่อไทยยึดมติพรรค โหวตร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

การเมือง
28 ต.ค. 56
04:47
69
Logo Thai PBS
เพื่อไทยยึดมติพรรค โหวตร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

พรรคเพื่อไทยจะมีการประชุมพรรคพรุ่งนี้ (29 ต.ค.) เพื่อสรุปแนวทางในการเดินหน้าร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว หลังมี ส.ส.ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย รวมถึงมีกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนที่เคยให้การสนับสนุนรัฐบาลออกมาคัดค้าน

ในวันที่ 29 ตุลาคมนี้ พรรคเพื่อไทยจะจัดประชุม เพื่อเปิดโอกาสให้ ส.ส.และสมาชิกพรรค หารือ และแสดงความเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่คณะกรรมาธิการฯ เสียงข้างมาก ได้พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาจากฉบับเดิมที่ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ โดยมีคำยืนยันก่อนหน้านี้ว่า ท้ายที่สุด ส.ส. และสมาชิกพรรค ต้องยึดมติพรรคเป็นหลัก

กรณีนี้ นายวรชัย เหมะ ได้ออกมายืนยันแล้วว่า จะขอยึด ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับที่ตนเองเป็นผู้เสนอ แต่ยอมรับว่า หากมติพรรคยังยืนยันจะสนับสนุนร่างที่มีการแก้ไข ก็ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ นอกจากเมื่อถึงขั้นตอนการลงมติวาระ 2 ก็จะโหวตสวนมติพรรค โดยเน้นเฉพาะมาตรา 3 และ 4 ที่มีการแก้ไขเนื้อหาร่างเดิม ส่วนมาตราอื่นๆ จะสนับสนุนตามร่างกรรมาธิการฯ และเมื่อถึงการลงมติวาระ 3 ก็จะงดออกเสียง ส่วน ส.ส.ที่ยกมือสนับสนุนร่างของกรรมาธิการฯ เสียงข้างมากก็ต้องไปตอบคำถามประชาชนเอาเอง

นายวรชัย ยอมรับว่า การที่พรรคอ้างเหตุผลว่าร่างฉบับที่ตนเองเสนอ อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 เรื่องความเสมอภาคในการบังคับใช้กฎหมายนั้น ว่า เป็นเรื่องลำบาก น่าจะให้ยกเลิก รัฐธรรมนูญปี 2550 ไปเลย โดยให้กลับมาโหวตแก้ไขมาตรา 291 วาระ 3 ที่ค้างอยู่น่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมกว่า

ด้าน นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า การเดินหน้าผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นไปเพื่อการช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นแนวทางเดียวกับที่เคยทำมาโดยตลอด จึงขอให้ประชาชนที่ต่อต้านการทุจริต ต้องแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมให้คนทุจริต

สำหรับร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ในขณะนี้ อยู่ที่ประเด็นการขยายเนื้อหาการนิรโทษกรรมให้ครอบคลุมไปถึงแกนนำ และผู้สั่งการ ซึ่งฉบับที่เสนอผ่านวาระแรกในสภาฯ คือวาระของนายวรชัยนั้น ไม่มีประเด็นนี้อยู่ จึงเกิดกระแสคัดค้านจากกลุ่มบุคคลในพรรคเพื่อไทยเอง

มีการตั้งข้อสังเกต และวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่คนในพรรคเพื่อไทยคัดค้านกรณีนี้ อาจเป็นเพราะหากมีการรับร่างหลักการที่แก้ไข อาจทำให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ขัดต่อหลักการ และอาจต้องเผชิญกับกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงจากสังคมได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง