"ญี่ปุ่น" ประสบปัญหา "งบสนามกีฬา" ในโอลิมปิกส์ 2020 บานปลาย-หวั่นปชช.ไม่พอใจ

ต่างประเทศ
28 ต.ค. 56
14:17
354
Logo Thai PBS
"ญี่ปุ่น" ประสบปัญหา "งบสนามกีฬา" ในโอลิมปิกส์ 2020 บานปลาย-หวั่นปชช.ไม่พอใจ

ญี่ปุ่นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี 2020 ต้องปรับแผนการก่อสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่ เนื่องจากมีปัญหางบประมาณบานปลาย และเกรงจะส่งผลกระทบทำให้ชาวญี่ปุ่นเกิดความไม่พอใจ ในขณะที่เจ้าภาพโอลิมปิกหลายประเทศล้วนต้องเผชิญกับปัญหาแตกต่างกันหลังจบการแข่งขัน

แผนการก่อสร้างสนามแห่งใหม่ที่สวยหรูของญี่ปุ่น คือ การทุบสนามกีฬาแห่งชาติเดิมที่มีความจุ 54,000 ที่นั่ง และสร้างสนามใหม่ความจุ 80,000 ที่นั่ง ซึ่งต้องใช้งบประมาณอย่างน้อย 40,000 ล้านบาท แต่ล่าสุดปัญหาเงินฝืดทำ และราคาวัสดุก่อสร้างรวมทั้งค่าแรงที่มีราคาสูงขึ้น ทำให้งบประมาณบานปลายกว่า 94,000 ล้านบาท

 
ทั้งนี้ ข้อจำกัดด้านงบประมาณทำให้ผู้แทนราษฎรจำนวนมากอภิปรายคัดค้านการก่อสร้าง และกดดันให้นายฮาคูบุน ชิโมมูระ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการจัดการแข่งขันโอลิมปิกต้องพิจารณาหาแนวทางลดขนาดสนามและงบประมาณให้ได้มากที่สุด
 
การใช้งบประมาณมหาศาลในการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกทำให้เกิดข้อสงสัยว่าญี่ปุ่นจะเอาตัวรอดได้มากน้อยแค่ไหนหลังจบโอลิมปิก เพราะพวกเขาชนะการคัดเลือกท่ามกลางปัญหาและมรสุมหลายครั้ง ทั้งการกระจายกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลัยร์ และความขัดแย้งเหนือพื้นที่ทางทะเลกับเพื่อนบ้าน

    

 
ย้อนกลับไปดูงบประมาณของเจ้าภาพแต่ละเมืองที่ผ่านมานับตั้งแต่โอลิมปิกครั้งที่ 25 ที่บาร์เซโลน่า ในปี 2535 ใช้งบประมาณถึง 400,000 ล้านบาท ขณะที่แอตแลนด้าใช้งบประมาณ 75,000 ล้านบาท นครซิดนีย์ใช้งบประมาณ 125,000 ล้านบาท ส่วนเอเธนส์ใช้งบประมาณ 400,000 ล้านบาทซึ่งภายหลังประสบปัญหาการเงินหนักที่สุดจนเกือบล้มละลาย
 
กรุงปักกิ่งใช้งบประมาณมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ 1.75 ล้านล้านบาท แต่จีนไม่ได้รับผลกระทบทางการเงินมากนักเนื่องจากเป็นประเทศที่มั่งคั่ง ส่วนลอนดอนใช้งบ 450,000 ล้านบาท โดยก่อนโอลิมปิกอังกฤษคาดการณ์ว่าจะมีรายได้ 650,000 ล้านบาท และการสร้างงานอีก 100,000 คน แต่เมื่อจบการแข่งขันสิ่งที่อังกฤษคาดการณ์ความสำเร็จทางเศรษฐกิจก็ค่อย ๆ หายไป
 
สำหรับริโอเดอจาไนโร ของบราซิลที่จะเป็นเจ้าภาพครั้งที่ 31 ใช้งบประมาณน้อยลงคือ 360,000 ล้านบาท ถือว่าไม่เป็นภาระกับประเทศมากนักเพราะเป็นประเทศเศรษฐกิจใหม่ แต่บราซิลกลับมีปัญหาการประท้วงอย่างรุนแรงในประเทศซึ่งประชาชนและแรงงานไม่พอใจที่รัฐบาลทุ่มงบประมาณกับการสร้างสนามและระบบสาธารณูปโภคเพื่อโอลิมปิกแทนที่จะสนใจความเป็นอยู่ของประชาชน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง