วิเคราะห์ร่าง"พ.ร.บ.นิรโทษกรรม"

1 พ.ย. 56
14:02
263
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ร่าง"พ.ร.บ.นิรโทษกรรม"

ประธานวุฒิสภาเตรียมนำร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าหารือคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา หรือ วิปวุฒิสภา เพื่อกำหนดระเบียบวาระการพิจารณา ในวันที่ 8 หรือ วันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ หลังสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบเมื่อเวลา 4.30 น. การลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 310 เสียงของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อช่วงเช้ามืดวันนี้ (1 พ.ย.) มีข้อสังเกตถึงนัยยะทางการเมือง และทิศทางการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะขวากหนามที่ต้องเผชิญอีกหลากหลาย

310 เสียงที่ลงมติเห็นชอบผ่านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมครั้งนี้ นับว่าเป็นจำนวนตัวเลขที่ให้การสนับสนุนมากกว่าจำนวนส.ส.ที่พรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาลมีอยู่ในมือ และนี่อาจเป็นนัยยะที่เกี่ยวข้องกับพันธมิตรทางการเมือง ทั้งในวันนี้และอนาคต

ไล่เรียงกันรายมาตราจะเห็นว่า มาตรา 3 ว่าด้วยกรอบการนิรโทษกรรม ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป้าหมายอยู่ที่การนิรโทษกรรมให้กับคดีทุจริตคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นจากคตส.,ปปช.และกกต. หลังเหตุรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยเฉพาะคดียึดทรัพย์พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น แม้สภาผู้แทนราษฎรจะลงมติด้วยคะแนนที่น้อยกว่า มาตราอื่น ๆ แต่ก็มากถึง 307 เสียง

ส่วนมาตรา 6 และมาตรา 7 ว่าด้วยการยกเว้นสิทธิในการเรียกร้องทางแพ่งจากการกระทำผิดของบุคคลอันเกี่ยวเนื่องกับการเมือง และการรักษาการตามร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม นับว่าคะแนนลงมติอยู่ในระดับสูงสุดถึง 314 และ 315 เสียง ตามลำดับ ก่อนจะลงมติด้วยคะแนน 310 เสียง เพื่อเห็นชอบร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้วาระที่ 3 สะท้อนให้เห็นถึงจำนวนตัวเลขที่ให้การสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ มีมากกว่าจำนวนส.ส.ที่พรรคเพื่อไทย หรือพรรคร่วมรัฐบาลมีอยู่

<"">

แต่ก็มีคำถามเกิดขึ้นว่า พรรคร่วมรัฐบาล รวมแล้วมีทั้ังหมด 299 เสียง หักส.ส.บัญชีรายชื่อ อันดับ 1 ออกไป ก็ 1 เสียงเท่านั้น ดังนั้นคำตอบที่ถามถึงเสียงที่เพิ่มมากขึ้น คงหลีกไม่พ้นจำนวนส.ส.ในพรรคภูมิใจไทย ที่อย่างน้อยๆ ก็ 7 เสียง ซึ่งน่าจะปันใจให้กับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะก่อนหน้านี้มีรายงานมาโดยตลอดว่า เตรียมย้ายสังกัดกลับมาบ้านเดิม พรรคเพื่อไทย ส่วนอีก 2 เสียง ก็คือส.ส.ของพรรคมาตุภูมิ

สำหรับผู้ที่งดออกเสียง 4 เสียงเปิดเผยตัวแล้ว คือ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นายแพทย์เหวง โตจิราการ, นายวรชัย เหมะและน.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส่วนผู้ที่ไม่ลงคะแนน อาทิ นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง, นายประชา ประสพดี, นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย, นายสมคิด บาลไธสง, และนายเสนาะ เทียนทอง รวมถึงนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานทั้ง 2 คน

เสร็จสิ้นตามขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว หลังจากนี้ก็ถึงคราวที่วุฒิสภาต้องแสดงบทบาทกัน เริ่มต้นที่ประธานวุฒิสภา นิคม ไวยรัชพานิช ตอบรับแล้วว่า จะนำร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมหารือวิปวุฒิ เพื่อบรรจุเป็นวาระการพิจารณา ไม่วันศุกร์ที่ 8 ก็วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายนนี้

<"">
<"">

10 วันหลังสภาผู้แทนราษฎร ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ ก็จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา และแน่นอนว่าต้องมีส.ว.กลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะส.ว.กลุ่ม 40 ที่ประกาศเจตนารมณ์คัดค้านออกมาแล้วออกมาแล้ว แต่ถ้าดูจากคะแนนที่ลงมติร่างพ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท จะเห็นว่าวุฒิสภาลงมติรับหลักการด้วยคะแนน 86 ต่อ 41 เสียงด้วยกัน ซึ่งการลงมติร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็น่าจะเทียบฐานคะแนนนี้ได้

ซึ่งหากวุฒิสภาลงมติเห็นชอบในหลักการ และเข้าสู่วาระที่ 2 และ 3 ก็อาจไม่เป็นปัญหา หรืออาจจะพิจารณา 3 วาระรวดก็เป็นได้ เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้สภาผู้แทนราษฎรบอกว่าเป็นเรื่องด่วน เรื่องจำเป็นที่ประชาชนผู้ต้องขังในเรือนจำกำลังรอคอยอยู่

แต่ถ้าวุฒิสภาเห็นต่างออกไป ก็มีกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 146 และ 147 กำหนดไว้และให้การรองรับ โดยวุฒิสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน หากเกินกรอบเวลา แล้วไม่ส่งคืนสภาผู้แทนราษฎร ให้ถือว่าวุฒิสภาให้ความเห็นชอบแล้ว

แต่ถ้าส่งกลับด้วยการปรับแก้เนื้อหาของร่างกฎหมาย จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 2 สภา เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันได้ แต่ถ้ายังสรุปตรงกันไม่ได้อีก จนเกินเลยกรอบเวลา 180 วันให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติยืนยัน ก่อนนำร่างกฎหมายเข้าสู่ขั้นตอนการประกาศให้มีผลบังคับใช้

<"">
<"">

ทิศทางและขวากหนามของร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ยังไม่จบเพียงแค่กลไกของรัฐสภาหรือฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะระหว่างนี้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ระบุแล้วว่า จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ตรากฎหมายมิชอบควรระงับไว้ตาม มาตรา 154 หรือไม่ และเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 กรณีรับรองการกระทำอันเกี่ยวเนื่องกับ 19 กันยายน 2549 หรือไม่ และขัดต่อมาตรา 30 ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิบุคคลย่อมเสมอกัน รวมทั้งขัดมาตรา 122 ที่ว่าด้วย ส.ส. และ ส.ว. ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยที่ไม่มีผลผูกพันหรืออยู่ใต้อาณัติใคร

ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะฝ่าด่านการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปได้อย่างไร ขึ้นอยู่กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน แต่นับจากนี้อย่างน้อย 2 เดือน อย่างมากที่สุด 6 เดือน ก็จะรู้ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ จะผ่านความเห็นชอบของฝ่ายนิติบัญญัติไปได้หรือไม่ อุปสรรคของร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมยังต้องชี้วัดกับมวลชนคัดค้าน ที่ขึ้นอยู่กับบริบทของนายสุเทพ เทือกสุบรรณอีกด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง