เปิด "7 ประเด็น" ปชป.ยกร่างคำร้อง ยื่นศาลรธน. วินิจฉัย "พ.ร.บ.นิรโทษกรรม"

การเมือง
2 พ.ย. 56
13:53
85
Logo Thai PBS
เปิด "7 ประเด็น" ปชป.ยกร่างคำร้อง ยื่นศาลรธน. วินิจฉัย "พ.ร.บ.นิรโทษกรรม"

ทีมกฏหมายพรรคประชาธิปัตย์ ยกร่างคำร้องเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ รวม 7 ประเด็น คณะกรรมาธิการกิจการวุฒสภา หรือ วิปวุฒิ เรียกประชุมกำหนดระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภาในวันพุธที่ 6 พฤศจิกายนนี้ โดยมีรายงานว่า อาจบรรจุวาระพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมในวันศุกร์ (8 พ.ย.) สุดสัปดาห์ที่จะถึงนี้

ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรด้วยเสียงข้างมาก 310 ต่อ 0 เสียง และงดออกเสียง 4 เสียง เมื่อเช้ามืดของวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556

 
โดยขณะนี้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งร่างกฎหมายให้วุฒิสภาแล้ว ซึ่งนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เตรียมนำเรื่องเข้าหารือคณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิ) เพื่อกำหนดระเบียบวาระ โดยมีรายงานว่า วิปวุฒิจะบรรจุวาระการพิจารณาในวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายนนี้ 

    

 
สำหรับร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบนั้น มีโครงสร้างของร่างกฎหมาย รวม 7 มาตรา โดยสาระสำคัญสรุปกรอบการนิรโทษกรรม ด้วยการนิรโทษให้กับบุคคลหรือประชาชนทั้งหลายทั้งสิ้น ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิด โดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมา ที่เกิดขึ้นระหว่าง ปี 2547 ถึง 8 สิงหาคม 2556 ไม่ว่าในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ ให้พ้นจากความผิดและรับผิดโดยสิ้นเชิง 
 
แต่ด้วยกระบวนการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ยกร่างคำร้องเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความถูกต้องของร่างกฎหมาย รวม 7 ประเด็น ประกอบไปด้วย 1.ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 เรื่องหลักนิติรัฐนิติธรรม ที่มีการแบ่งอำนาจ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ออกจากกัน จะก้าวก่ายกันไม่ได้ 2.ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 เรื่องหลักความเสมอภาค แต่ร่างกฎหมายนี้ เป็นการเลือกปฏิบัติ 

    

 
3.ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 เรื่องการขัดกันของผลประโยชน์ส่วนตัวกับส่วนรวม และ 4.ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 ที่รับรองการบรรดากระทำที่เกี่ยวเนื่องจากคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แต่ครั้งนี้ให้นิรโทษกรรมไปถึงคดีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) พิจารณาด้วย 
 
5.แก้ไขเนื้อหาเกินกว่าหลักการที่สภารับหลักการในวาระแรก 6.ขัดหลักการสากล เพราะไม่มีที่ไหนในโลกที่นิรโทษกรรมให้กับคดีทุจริตคอร์รัปชัน และสุดท้าย 7. เป็นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน เนื่องจากผลจากกฎหมายนี้จะทำให้ต้องมีการคืนเงินจากคดียึดทรัพย์ 46,000 ล้านบาท

    
    

  
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง