"ประธานวุฒิสภา"แจงเลื่อนถก"พ.ร.บ.นิรโทษกรรม"เร็วขึ้น เหตุสถานการณ์ร้อนแรง

การเมือง
7 พ.ย. 56
13:08
80
Logo Thai PBS
"ประธานวุฒิสภา"แจงเลื่อนถก"พ.ร.บ.นิรโทษกรรม"เร็วขึ้น เหตุสถานการณ์ร้อนแรง

นายกรัฐมนตรีแถลงชี้แจงสภาผู้แทนราษฎรลงมติถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมและร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ที่อยู่ในวาระการพิจารณาของสภา รวม 6 ฉบับออกไปแล้ว ด้วยเจตนาที่สร้างความสบายใจให้เกิดขึ้นกับประชาชนและผู้ชุมนุมคัดค้านต่อต้านแล้ว ส่วนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสภาผู้แทนราษฎรส่งให้วุฒิสภาพิจารณาตามขั้นตอนนั้น ประธานวุฒิสภาเรียกประชุมเป็นกรณีพิเศษ เพื่อพิจารณาเวลา 14.00 น.ของวันพรุ่งนี้ (8 พ.ย.) พร้อมระบุว่าที่ต้องเลื่อนให้เร็วขึ้น เพราะสถานการณ์การชุมนุมเข้าข่ายร้อนแรงขึ้น

ระหว่างการประชุมนอกรอบร่วมกับส.ว.บางคนนั้น นายนิคม ไวยรัชพาณิช แจ้งว่าจะใช้อำนาจประธานวุฒิสภา ตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ข้อ 15 วรรค 2 นัดประชุมวุฒิสภาเป็นกรณีพิเศษในวันที่ 8 พฤศจิกายน เวลา 14.00 น. เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตามที่สภาผู้แทนราษฎรส่งมาให้

ทำให้ส.ว.กลุ่มหนึ่ง ถกเถียงและกล่าวหาว่า พฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจและชี้ว่าเร่งรีบและรวบรัด อาจรับใบสั่งทางการเมือง แต่ ส.ว.อีกกลุ่มหนึ่งก็แสดงความไม่พอใจ และเชื่อว่า ส.ว.บางกลุ่มมีเจตนาเข้าร่วมชุมนุมมากกว่าจะทำหน้าที่ในสภาสูง

ขณะที่นายนิคมชี้แจงว่า ไม่มีใบสั่งทางการเมือง แต่ที่ต้องเลื่อนการประชุมให้เร็วขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การชุมนุมเข้าสู่ความร้อนแรง และกล่าวตัดบทว่าใช้อำนาจโดยชอบที่จะเรียกประชุม พร้อมกับเดินออกจากห้องประชุม
และหลังสภาผู้แทนราษฎรลงมติถอนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมและร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง รวม 6 ฉบับที่ค้างอยู่ในระบบออกจากการพิจารณาแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงชี้แจงเจตนารมณ์ของการถอนร่างกฎหมาย ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะสร้างความสบายใจให้กับประชาชน ว่าเรื่องทั้งหมดน่าจะจบสิ้นจริงๆ แล้ว พร้อมปฏิเสธการตรากฎหมายเพื่อช่วยเหลือคดีทุจริต และระบุว่าโครงการจำนำข้าว หรือโครงการบริหารน้ำ ไม่เกี่ยวข้องกับข้อบัญญัติของร่างกฎหมายแต่อย่างใด

นายกรัฐมนตรียังกล่าวปฏิเสธข้อเท็จจริง กรณีรัฐบาลจะใช้ความรุนแรง หรือใช้กำลังทหารปราบปรามประชาชน โดยระบุว่า ทุกขั้นตอนจะเป็นไปตามกฎหมาย แต่ร้องขอประชาชนที่ไม่จำเป็นอย่าเข้าใกล้พื้นที่เสี่ยง เพราะเกรงมือที่สามจะก่อเหตุวุ่นวาย พร้อมยืนยันว่า ไม่มีการสั่งการทางทหารหรือกองทัพเข้าไปช่วยดูแลความมั่นคง

ขณะที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ยืนยันว่า สถานการณ์การชุมนุมยังคงอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ควบคุมดูแลได้ แม้บางกลุ่มจะเคลื่อนไหวเข้าใกล้สถานที่หวงห้าม แต่ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศอ.รส. ยังคงใช้กำลังตำรวจเป็นหลัก โดยไม่จำเป็นต้องขอกำลังทหารเข้ามาช่วยเสริม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง