40 ส.ว.ไม่เข้าประชุมวุฒิฯ ถก พ.ร.บ.นิรโทษ

การเมือง
8 พ.ย. 56
04:59
104
Logo Thai PBS
40 ส.ว.ไม่เข้าประชุมวุฒิฯ ถก พ.ร.บ.นิรโทษ

ประธานวุฒิสภา เรียกประชุมวุฒิสภานัดพิเศษ เพื่่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมบ่ายวันนี้ ซึ่งหากพิจารณาจากจุดยืนของ สว.แต่ละกลุ่ม มีแนวโน้มที่จะยับยั้ง หรือ คว่ำร่างกฎหมาย แต่ที่ต้องจับตาก่อนหน้านั้น คือ ปัญหาองค์ประชุมเนื่องจากมี ส.ว.หลายคนไม่พอใจการนัดประชุมด่วนในวันนี้ (8 พ.ย.)

มาตรการรักษาความปลอดภัยความสงบเรียกร้อยโดยรอบรัฐสภาวันนี้มีความเข้มงวดมากขึ้น ทั้งกำลังเจ้าหน้าที่และการคัดกรองของผู้ผ่านเข้าออก เนื่องจาก นายนิคม ไวยรัชพาณิชย์ ประธานวุฒิสภา ได้เรียกประชุมวุฒิสภาเป็นกรณีพิเศษเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมตามที่สภาผู้แทนราษฎรส่งให้ โดยใช้อำนาจตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาข้อ 15 วรรค 2 อ้างอิงถึงความจำเป็นเร่งด่วนโดยเฉพาะสถานการณ์การชุมนุมที่ร้อนแรง และเลี่ยงวันตัดสินคดีปราสาทพระวิหารของศาลโลกในวันที่ 11 พฤษจิกายนนี้

ตามระเบียบวาระวุฒิสภาจะเริ่มประชุมในเวลา 14.00 น. แต่เรื่องทื่ต้องจับตาก่อนเข้าสู่วาระคือปัญหาองค์ประชุมหลังจากสมาชิกวุฒิสภาบางส่วนทักท้วง และตั้งข้อสังเกตุถึงการดำเนินการที่เร่งรีบ และรวบรัด หากเป็นการมรับใบสั่งทางการเมือง โดย ส.ว.ทั้งหมด 139 คน หากมีผู้เข้าร่วมการประชุมไม่ถึงกึ่งหนึ่งหรือว่า 75 คน จะเกิดปัญหาองค์ประชุมไม่ครบ และไม่สามารถเดินหน้าพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมในวันนี้ได้ ซึ่งล่าสุดกลุ่ม 40 ส.ว.ก็ยืนยันแล้วว่าจะไม่ลงชื่อเข้าร่วมการประชุมด้วย โดยอ้างว่าการนัดหมายประชุมของประธานวุฒิสภาขัดต่อมติ วิปวุฒิสภา ที่กำหนดวันพิจารณาในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้

แต่หากสมาชิกครบองค์ประชุม มีข้อบัญญัติกำหนดแนวทางไว้หลายแนวทางด้วยกัน กรณีที่เสียงข้างมากมีมติยับยั้ง หรือคว่ำ ร่างกฎหมาย รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ต้องรอครบกำหนด 180 วัน ก่อนแสดงเจตจำนงถอนร่างออกจากระบบ หรือ ปล่อยให้ตกใป ซึ่งรัฐบาลก็ยืนยันแล้วว่าจะไม่ยกร่างกฎหมายขึ้นมาพิจารณาอีก โดยทั้ง ส.ว.เลือกตั้ง และ ส.ว.สรรหาบางส่วนประกาศที่จะยึดแนวทางนี้ หรือหากสมาชิกรับหลักการร่างกฎหมายที่ประชุมก็จะตั้งกรรมาธิการเข้าสู่กรอบวันพิจารณาแปรญัตติ หรืออาจตั้งกรรมาธิการเป็นสภาปรับแก้สาระ หรือยืนตามร่างดั้งเดิมที่มีผู้เสนอ

ก่อนหน้านี้รัฐบาลพยายามลดอุณหภูมิทางการเมืองด้วยการถอน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และ พ.ร.บ.ปรองดองรวม 6 ฉบับที่ค้างในระบบ โดยนายกรัฐมนตรี แถลงชี้แจงเพื่อให้ประชาชนเกิดความสบายใจ แต่ว่าทางกลุ่มผู้ชุมนุมก็ยังย้ำในข้อเรียกร้องให้ยับยั้งร่างกฎหมายที่วุฒิสภากำลังพิจารณา และให้ร่างกฎหมายนั้นตกไปก่อนวันที่ 11 พฤศจิกายน

ซึ่งถ้ายึดตามจุดยืนของประธานวุฒิสภาที่จะไม่รับหลักการร่างกฎหมาย เท่ากับว่าขัดกับข้อเรียกร้องของทางกลุ่มผู้ชุมนุม เพราะว่าอย่างน้อยนั้นจะต้องทอดเวลาออกไปอีก 180 วันตามข้อบัญญัติของกฎหมาย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง