คนกัมพูชาในไทยไม่ห่วงการตัดสินคดีเขาพระวิหาร

เศรษฐกิจ
11 พ.ย. 56
01:00
104
Logo Thai PBS
คนกัมพูชาในไทยไม่ห่วงการตัดสินคดีเขาพระวิหาร

คนกัมพูชาหลายคนที่ทำงานในบ้านเรายังรู้สึกดีกับคนไทยและอยากทำงานในประเทศไทยต่อไป แต่ถ้าเป็นกลุ่มคนที่ใช้แรงงาน ที่ส่วนใหญ่ทำงานก่อสร้าง ยอมรับว่า ความขัดแย้งกรณีปราสาทเขาพระวิหาร มีผลต่อทัศนคติของนายจ้างบางราย ทำให้ช่วงที่ผ่านมา การใช้ชีวิตทำงานในไทยก็ลำบากขึ้น

เมื่อวานนี้ (10 พ.ย.) ทีมข่าวไทยพีบีเอสสำรวจถนนแรงงานของชาวกัมพูชา ซึ่งทุกเช้าก็จะมีนายจ้างคนไทยไปจ้างงานและต่อรองราคา แรงงานชาวกัมพูชาหลายคน อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานเป็นสิบปี โดยส่วนใหญ่ทำงานก่อสร้างและจัดสวน รับค่าจ้างวันต่อวัน แต่บางวันก็ไม่มีใครจ้างและด้วยปัญหาปากท้องจึงทำให้เขาไม่ค่อยใส่ใจเรื่องคดีปราสาทพระวิหาร

ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้เขามีความคิดที่แย่ลงกับคนไทยแต่นายจ้างคนไทยบางราย กลับเป็นฝ่ายที่รู้สึกไม่ดีต่อเขา บางครั้งจึงอึดอัดบ้าง พวกเขา ยอมรับว่า ไม่ได้ติดตามคดีนี้อย่างละเอียด แต่ไม่ว่าคำตัดสินจะเป็นอย่างไร ก็จะทำงานต่อไป

 
และมีชาวกัมพูชาซึ่งทำงานเป็นล่ามในโรงพยาบาล ทั้งเรียนและทำงานในไทย โดยอาศัยอยู่ในไทยมาหลายปี โดย สินตอง ทาบ ล่ามกัมพูชา รพ.บำรุงราษฎร์กล่าวว่า ไม่เป็นห่วงกับคำตัดสินและไม่คิดว่าจะกระทบกับการทำงานในไทย
 
นายสินตอง ทิ้งท้ายว่า คนที่เสียหายจากความรุนแรงครั้งนี้ ไม่ใช่คนที่กรุงเทพหรือที่กรุงพนมเปญ แต่เป็นชาวบ้านตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา การเคารพคำตัดสินศาลจึงเป็นทางออกที่ดีสุด สำหรับคนกัมพูชาที่มาทำงานในไทย ตอนนี้ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขล่าสุด เกือบ 400,000 คนแล้ว
                  
<"">
แรงงานที่ถูกกฎหมาย มีราว 347,000 คน ส่วนแรงงานที่ได้รับการผ่อนผันและอยู่ระหว่างการพิสูจน์สัญชาติมีประมาณ 52,000 คน ซึ่งได้รับใบอนุญาตทำงานแล้วเกือบ 10,000 คน ขณะที่ แรงงานที่เข้ามาทำงานตามฤดูกาลบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา มีประมาณ 30,000 คน
 
นายสมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ระบุว่า ปัญหาที่แรงงานไร้ฝีมือส่วนใหญ่เจอ เช่น บริษัทไม่ทำตามที่ตกลงไว้ แรงงานบางคนยอมทิ้งหนังสือเดินทาง เพื่อกลับบ้าน ซึ่งมูลนิธิฯ ก็จะเข้าไปช่วยเหลือแรงงานในการประสานกับหน่วยงานรัฐ
 
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การค้าชายแดนไทย-กัมพูชาขณะนี้ ยังเป็นปกติ และในวันที่ 15 พ.ย.นี้ จะมีการลงพื้นที่ประเมินสถานการณ์ที่จุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ อีกครั้ง หลังการฟังคำพิพากษาของศาลโลก


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง