การกลับมาของ "นกเค้าใหญ่สีคล้ำ" ในรอบเกือบ 1 ศตวรรษ

สิ่งแวดล้อม
19 พ.ค. 58
14:43
161
Logo Thai PBS
การกลับมาของ "นกเค้าใหญ่สีคล้ำ" ในรอบเกือบ 1 ศตวรรษ

เกือบ 1 ศตวรรษที่ไม่มีผู้พบนกเค้าใหญ่สีคล้ำ (Dusky Eagle-Owl) นกหายากและใกล้สูญพันธุ์ในประเทศไทย ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2558 มีผู้บันทึกภาพนกดังกล่าวได้เป็นครั้งแรกในพื้นที่ภาคใต้ ถือเป็นการยืนยันว่านกชนิดนี้ยังไม่สูญพันธุ์ไปจากเมืองไทย

นายอิงคยุทธ สะอา เจ้าหน้าที่สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย เล่าถึงการพบนกเค้าใหญ่สีคล้ำว่า เมื่อวันที่ 12 เม.ย.2558 มีผู้รายงานเข้ามาว่าได้พบนกเค้าใหญ่สีคล้ำในอุทยานแห่งชาติแห่งหนึ่งใน จ.สตูล และได้ถ่ายภาพไว้แต่ลักษณะของภาพไม่ชัดเจน หลังจากนั้นจึงได้แจ้งข้อมูลให้ทางสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย โดยต่อมานายวิชัย จันทวโร ทีมงานรายการ "Nature spy สายลับธรรมชาติ" ออกอากาศทางช่องไทยพีบีเอส และนายทัสสึยา โยชิกาวา ช่างภาพอิสระชาวญี่ปุ่น ลงพื้นที่ในวันที่ 28 เม.ย. พบนกเค้าใหญ่สีคล้ำ 2 ตัว และสามารถบันทึกภาพได้ชัดเจน 1 ตัว ยังไม่สามารถระบุเพศที่ชัดเจนได้ แต่เชื่อว่านกทั้ง 2 ตัวเป็นเพศผู้และเมีย จากนั้นนายวิชัยได้ติดต่อให้นักวิชาการเข้าตรวจสอบพื้นที่ในวันที่ 3 พ.ค. ซึ่งทีมสำรวจสามารถบันทึกภาพของนกไว้ได้ และยืนยันการพบนกเค้าใหญ่สีคล้ำในประเทศไทย

ก่อนหน้านี้มีรายงานการพบเพียง 2 ครั้งในไทย ครั้งแรกถูกเก็บตัวอย่างได้ที่คลองบางไหล จ.ชุมพร เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2458 และครั้งที่ 2 ถูกเก็บตัวอย่างได้ที่เกาะหลัก จ.ประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. 2459 ทำให้นกดังกล่าวมีสถานะเป็นนกชนิดหายากและใกล้สูญพันธุ์ในไทย

นายอิงคยุทธกล่าวเพิ่มเติมว่า นกเค้าใหญ่สีคล้ำพบได้มากในประเทศอินเดีย มีถิ่นอาศัยอยู่ในป่าดิบที่ราบต่ำที่ค่อนข้างโปร่งและมักพบใกล้แหล่งน้ำ ขณะที่ในประเทศเมียนมา มาเลเซีย และไทย เป็นพันธุ์ klossii ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรนกที่หายากและมีจำนวนน้อย นกเค้าใหญ่สีคล้ำเป็นนกล่าเหยื่อขนาดใหญ่ที่หากินเวลากลางคืน ในธรรมชาติมีหน้าที่ควบคุมประชากรสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น หนู กระรอก

เนื่องจากนกชนิดนี้เป็นนกเค้าที่มีขนาดใหญ่มากจึงจำเป็นต้องมีต้นไม้ขนาดใหญ่เพียงพอให้ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งปัจจุบันต้นไม้ขนาดใหญ่ในพื้นที่ราบถูกทำลายลงไปมาก เป็นสาเหตุหนึ่งให้นกชนิดนี้หายากและใกล้สูญพันธุ์ นอกจากนี้กลุ่มนกเค้าขนาดใหญ่หลายชนิดยังเป็นที่ต้องการของตลาดค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย จึงมักถูกล่ามาขายในตลาดมืด เจ้าหน้าที่สมาคมอนุรักษ์นกฯ กล่าว

การบันทึกภาพนกเค้าใหญ่สีคล้ำในครั้งนี้ ได้รับความสนใจทั้งจากนักถ่ายภาพและนักดูนก กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จึงร่วมกับสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย จัดทำระเบียบและข้อปฏิบัติในการเข้าชมนกเค้าใหญ่สีคล้ำ ป้องกันการรบกวนที่อาจทำให้นกละทิ้งถิ่นอาศัยและย้ายไปยังจุดอื่น เช่น ต้องติดต่อเจ้าของพื้นที่ล่วงหน้า 1 สัปดาห์ เพื่อขอเข้าชมหรือถ่ายภาพ, การเข้าพื้นที่ถิ่นอาศัยของนกจะต้องไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่, เข้าชมได้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง, หลีกเลี่ยงการเปิดเสียงล่อนก และห้ามใช้แฟลชในการถ่ายภาพ

วรรณพร แก้วแพรก ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง