ศิลปินถ่ายทอดความหมายของเงินผ่านนิทรรศการ Currency Crisis

Logo Thai PBS
ศิลปินถ่ายทอดความหมายของเงินผ่านนิทรรศการ Currency Crisis

วิกฤตการเงินอาจสร้างความกังวลให้กับผู้คนทั่วโลก แต่ในโลกของศิลปะ เงินก็ไม่ต่างอะไรจากแผ่นกระดาษ ศิลปิน 6 คนจึงรวมตัวกันถ่ายทอดความหมายของเงินผ่านงานศิลป์ ในนิทรรศการ Currency Crisis

ปลากัดในโหลแก้วที่แต่ละใบถูกคั่นด้วยธนบัตร 20 บาท และภาพที่บิดเบี้ยวคล้ายผีเสื้อที่วาดด้วยเลือด ของตัวเอง คือผลงานของ "พรประเสริฐ ยามาซากิ" ตั้งคำถามถึงบทบาทของเงินในสังคมปัจจุบันว่าแท้จริงแล้วให้ความสุขในชีวิต หรือนำมาซึ่งความทุกข์ยาก 
 
เช่นเดียวกับ "ลัทธพล ก่อเกียรติตระกูล" ศิลปินหน้าใหม่ ที่นำกระดาษทรายมาบรรจงขัดหมึกพิมพ์บนธนบัตร 11 สกุล จนมีสภาพไม่ต่างอะไรจากกระดาษเปล่า ส่วนหนึ่งของงานศิลปะสร้างสรรค์ของ 6 ศิลปินที่ตั้งคำถามถึงมูลค่า และคุณค่าที่แท้จริงของเงิน จัดแสดงในนิทรรศการ Currency Crisis 
 
ภายในนิทรรศการยังมีผลงานของศิลปินต่างชาติ ที่ใช้เงินตราเพื่อสื่อถึงจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์ เช่น "ไซ ฮัว กวน" ศิลปินสิงคโปร์ที่นำเหรียญ 100 เยนของญี่ปุ่นมาผ่าครึ่ง ถ่ายทอดการยกพลขึ้นบกของกองทัพญี่ปุ่นผ่านแหลมมลายูในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึง "โม แซ็ต" ศิลปินพม่าที่นำเงินจ๊าด มาเชื่อมโยงเข้ากับความเปลี่ยนแปลงของประเทศ ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร
 
โม แซ็ต ศิลปินชาวพม่า กล่าวว่า งานชิ้นนี้ทำให้เห็นว่าเกิดอะไรที่พม่าบ้างในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อย่างเมื่อก่อน เงิน 1 จ๊าดก็สามารถยืมนิยายกำลังภายในได้แล้ว หรือเงิน 5 จ๊าดก็ซื้อตะกร้อได้ แต่พอเวลาผ่านไป เงินก็เปลี่ยนรูปแบบ รวมถึงมูลค่าในตัวเองด้วย
 
6 งานศิลป์จากศิลปิน 3 เชื้อชาติ ไม่เพียงตั้งใช้ธนบัตร และเหรียญเงิน เป็นสื่อในการสะท้อนสังคม และประวัติศาสตร์ของแต่ละพื้นที่ หากยังตั้งใจให้ผู้ชมงานได้ย้อนคิดถึงปัญหาในชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นโดยมีเงินเป็นปัจจัยสำคัญ นิทรรศการ Currency Crisis "วิกฤตการเงิน" จัดแสดงถึงวันที่ 12 มกราคม ปีหน้า ที่ Whitespace Gallery ศาลาแดงซอย 1 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง