คาดได้ข้อสรุปคดีจำนำข้าว "ยิ่งลักษณ์" ไม่เกินสิ้นปี

การเมือง
19 พ.ค. 58
15:25
84
Logo Thai PBS
คาดได้ข้อสรุปคดีจำนำข้าว "ยิ่งลักษณ์" ไม่เกินสิ้นปี

เงื่อนไขที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกำหนดไว้ว่าห้ามอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางออกนอกประเทศ ทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตเทียบเคียงกับคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่าคดีนี้น่าจะได้ข้อสรุปไม่เกินสิ้นปี

องค์คณะผู้พิพากษา 9 คน ผู้รับผิดชอบคดีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ออกนั่งบัลลังก์ และใช้เวลาเพียง 30 นาที ในการดำเนินกระบวนการสอบคำให้การหรือการพิจารณาคดีครั้งแรกในคดีที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ด้วยข้อกล่าวหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่ไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวอันเป็นเหตุให้เกิดการทุจริต สร้างความเสียหายแก่รัฐ

หลังรับฟังคำฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และขอยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรในวันที่ 3 กรกฎาคม 2558 โดยศาลนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีเพื่อให้คู่ความยื่นบัญชีระบุพยาน ทั้งพยานเอกสารและพยานบุคคลเป็นวันที่ 21 และ 28 กรกฎาคม ซึ่งเบื้องต้นฝ่ายโจทก์หรืออัยการเตรียมพยานบุคคล 13 ปาก ขณะที่ฝ่ายจำเลยหรือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จัดวางพยานบุคคลเบื้องต้นไว้กว่า 20 ปาก

ระหว่างการพิจารณานัดแรกวันนี้ (19 พ.ค.2558) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีลับหลัง แต่ศาลไม่อนุญาต โดยสั่งให้จำเลยต้องเดินทางปรากฎตัวต่อศาลตามการนัดหมายทุกครั้ง แต่ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวตามคำร้องขอ หลังจำเลยยื่นหลักทัพย์เป็นบัญชีเงินฝาก 30 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่จะได้รับอนุญาต

โดยตามขั้นตอนนั้นหลังคู่ความยื่นบัญชีระบุพยานแล้วศาลจะกำหนดนัดวันไต่สวนพยานหลักฐาน และเมื่อเสร็จสิ้นการพิจารณาคดีศาลจะนัดอ่านคำพิพากษาภายในกรอบเวลา 7 วันนับจากนั้น ซึ่งหากเทียบเคียงกับคดีอาญาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พี่ชาย กรณีทุจริตจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก ทำให้คาดการณ์ได้ว่าคดีอาญาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็น่าจะได้ข้อสรุปภายในปี 2558 นี้

และไม่เพียงกรอบเวลาการพิจารณาเท่านั้น แต่คดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังถูกเทียบเคียงในพฤติการณ์ต่อกรณีการหลบหนีคดีไปต่างประเทศ แม้จะมีคำยืนยันของทีมทนายความว่าตลอดกระบวนการพิจารณาของศาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเข้าร่วมในทุกครั้ง

องค์คณะผู้พิพากษากำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว คือ ห้ามจำเลยเดินทางออกนอกประเทศ และคำสั่งห้ามนี้ เป็นข้อสังเกตว่าการหลบหนีคดีไปต่างประเทศภายใต้คำสั่งศาล และภายใต้การกำกับดูแลสถานการณ์โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาจไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อเทียบกับอดีตกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลบหนีคดีไปต่างประเทศ แต่ก็อาจไม่ใช่เรื่องยาก หากต้องประเมินกับผลแห่งคดีที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นเหตุให้รัฐเสียหายกว่า 6 แสนล้านบาท ที่ไม่เพียงแค่คดีอาญา แต่ยังหมายถึงคดีแพ่งที่หน่วยงานภาครัฐอยู่ระหว่างการพิจารณายื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง