วิเคราะห์บทบาท "สมศักดิ์-นิคม" วางตนไม่เป็นกลาง ?

การเมือง
18 พ.ย. 56
13:53
138
Logo Thai PBS
 วิเคราะห์บทบาท "สมศักดิ์-นิคม" วางตนไม่เป็นกลาง ?

ส.ส.และส.ว.กลุ่มหนึ่ง เชื่อว่า นายนิคม ไวยรัชพานิช และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ไม่ได้วางตนอยู่บนความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ จึงเป็นที่มาให้ต้องยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่ง โดยเฉพาะข้อกล่าวหาที่มาจากการทำหน้าที่ประธานรัฐสภาในการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาส.ว.

ส.ว. 52 คน และส.ส.ฝ่ายค้าน 141 คน ได้ยื่นเรื่องถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช ในฐานะรองประธานรัฐสภา ออกจากตำแหน่งไปแล้ว โดยอ้างอิงเหตุของการมีพฤติกรรมที่ส่อไปทางทุจริตต่อหน้าที่, ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อข้อบังคับและขัดต่อบัญญัติของรัฐธรรมนูญ รวมถึงฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

 
โดยเฉพาะการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเชิงให้ร้ายต่อ ส.ว.สรรหา และลงชื่อสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มา ส.ว. ซึ่งอาจเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน และการทำหน้าที่รองประธานรัฐสภา ก็มีลักษณะลิดรอนสิทธิสมาชิกรัฐสภาในการอภิปรายแปรญัตติ ด้วยการเร่งรีบและรวบรัดการอภิปราย เพื่อลงมติ จึงเชื่อได้ว่า"ปฏิบัติหน้าที่ไม่มีความเป็นกลาง" และด้วยข้อกล่าวหาที่ไม่ต่างกัน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ รวม 138 คน ก็ยื่นเรื่องถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ก็ถูกยื่นเรื่องถอดถอนออกจากตำแหน่ง กรณีปฏิบัติหน้าที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งมาตรา 89,137,291 และผิดข้อบังคับที่ 99 ที่สืบเนื่องจากการรับญัตติปิดอภิปรายร่างแก้รัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว. ทั้งที่ยังมีสมาชิกรัฐสภาอีกหลายคน ต้องอภิปรายแปรญัตติ
 
และแน่นอนว่า บทบาทของผู้นำสภาสูงและสภาล่าง กำลังตกอยู่ในข้อครหาไม่เป็นกลางทางการเมือง และพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหา ต่างก็มีข้อสังเกตเดียวกัน นั่นคือ หวังผลทางการเมือง
 
วุฒิสภา โดยนายนิคม หยิบยกร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท มาพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 มุมหนึ่งนั้นก็ต้องยอมรับว่า ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย ที่กำหนดเวลาการพิจารณาร่างพ.ร.บ. หลังสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบแล้ว  วุฒิสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ตามมาตรา 146 ของรัฐธรรมนูญ และหากนับจากวันที่สภาฯลงมติเห็นชอบผ่านวาระที่ 3 เมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา วุฒิฯก็ต้องพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 พ.ย.นี้
 
แต่อีกมุมหนึ่ง นายนิคม ก็ตกอยู่ในข้อกล่าวหาไม่เป็นกลางทางการเมือง และหยิบร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ขึ้นมาพิจารณา ท่ามกลางกระแส "ยุบสภา" ก็เป็นคำถามว่า เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่ เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับนี้ ตกเป็นข่าวมาโดยตลอด ว่า เม็ดเงินที่จะนำมาดำเนินการ เอื้อประโยชน์ต่อการเลือกตั้ง ทั้งทางตรงและทางอ้อม กับรัฐบาลพรรคเพื่อไทย
 
สภาผู้แทนราษฎร โดยนายสมศักดิ์  ก็ตกอยู่ในข้อกล่าวหาไม่เป็นกลางทางการเมือง และหากต้องดูที่มาของตำแหน่ง คือ ส.ส.พรรคเพื่อไทย นั่นย่อมไม่ผิดความคาดหมาย หากจะบอกว่า การปฏิเสธรับญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรายบุคคล เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา คือการซื้อเวลา เพื่อพิจารณาข้อกล่าวหาให้ถี่ถ้วน ก่อนบรรจุวาระการอภิปรายให้ฝ่ายค้านได้เปิดซักฟอก 
 
และถ้าดูไปที่มาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญ วรรค 2 ก็ไม่ได้ระบุชัดว่า ญัตติอภิปรายที่ว่าด้วย การทุจริตและกระทำผิดกฎหมาย จะต้องแนบรายละเอียดของข้อกล่าวหามาด้วย และฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ก็พึงปฏิบัติเพียงแค่แนบเลขหนังสือยื่นเรื่องถอดถอน จนกลายเป็นประเพณีปฏิบัติไปแล้ว นี่จึงกลายเป็นคำถามเช่นกันว่า ประธานสภาล่าง กำลังใช้เทคนิคของข้อกฎหมาย พลิกเกมอภิปรายด้วยการบอกการบ้าน ให้กับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยหรือไม่
 
ดังนั้นใน 20 พ.ย.นี้ ศาลรัฐธรรมนูญ นัดวินิจฉัยคำร้องกรณีการแก้รัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาส.ว. ไม่เพียงแค่จะวินิฉัจการลงมติหรือพฤติการณ์อันเกี่ยวข้องกับสมาชิกรัฐสภา 310 เสียงเท่านั้น เพราะในคำร้องยังทาบเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งนายสมศักดิ์ และนายนิคม ในฐานะประธานและรองประธานรัฐสภาอีกด้วย


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง