เกาะติด "อภิปรายไม่ไว้วางใจ" หลังการชุมนุมอาจเป็นจุดพลิกการเมืองไทย

การเมือง
25 พ.ย. 56
07:53
56
Logo Thai PBS
เกาะติด "อภิปรายไม่ไว้วางใจ" หลังการชุมนุมอาจเป็นจุดพลิกการเมืองไทย

หากดูจากสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ ทุกการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะฝ่ายค้านหรือรัฐบาล หรือแม้แต่มวลชนกลุ่มต่าง ๆ นั้น ผูกติด และเกี่ยวข้องกับญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลทั้งสิ้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 ระบุว่า หากมีญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดขึ้น นายกรัฐมนตรีจะประกาศยุบสภาไม่ได้ เว้นแต่จะถอนญัตตินั้น หรือลงมตินั้นด้วยเสียงที่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง

ดังนั้นไม่ว่า มวลชนจะกดดันรัฐบาลอย่างไร นายกรัฐมนตรีก็ไม่อาจจะฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญได้ เท่ากับว่า 4 วันนับจากนี้ รัฐบาลต้องยืนหยัดเดินหน้ารับการตรวจสอบ และฝ่ายค้านก็ต้องอภิปรายไม่ไว้วางใจให้แล้วเสร็จ

 
ญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี  และญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย วางกรอบเวลาการเริ่มต้นมาชัดเจนแล้วในวันที่ 26 พฤศจิกายน แต่วันสิ้่นสุดปิดการอภิปราย ยังต้องประเมินจากบรรยากาศการประชุมของส.ส. และยังต้องประเมินสถานการณ์การชุมนุมควบคู่ไปด้วย ว่าจะปิดอภิปรายในวันที่ 27 และเปิดลงมติในวันที่ 28 หรือ จะปิดอภิปรายในวันที่ 28 และเปิดลงมติในวันที่ 29 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของพระราชกฤษฏีกาปิดสมัยประชุมสามัญทั่วไปอีกด้วย

    

 
ทั้งนี้ การคาดการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้น อาจสอดคล้องพ้องกับบรรยากาศการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะการลงมติญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยเฉพาะญัตติที่ไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน เป็นผู้เหมาะสมดำรงตำแหน่งแทนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ นั่นอาจเป็นจุดพลิกผันทางการเมืองได้ แต่ถ้าการลงมติของเสียงข้างมาก  ซึ่งเป็นส.ส.พรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ได้แตกแถวปันใจไปไหน 
 
เมื่อถึงตอนนั้น สถานการณ์การชุมนุมภายใต้เงื่อนไข "ขับไล่รัฐบาลและขจัดระบอบทักษิณ" ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะแกนนำผู้ชุมนุมกลุ่มต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม จะขยับขับเคลื่อนการชุมนุมกดดันรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมากยิ่งขึ้น และเหตุการณ์ทางการเมืองนอกสภา และในสภาทั้ง 2 เงื่อนไขนี้ยังเกี่ยวข้องโดยตรง กับการตั้งองค์คณะไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีสมาชิกรัฐสภาลงชื่อสนับสนุนร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาส.ว. ซึ่งคณะทำงานสอบสวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. นัดหมายประชุมนัดแรกในวันพรุ่งนี้ 26 พฤศจิกายน ซึ่งอาจเป็นอีกเงื่อนไขที่จะเป็นคำตอบให้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ 

    

 
เนื่องจาก หาก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดต่อสมาชิกรัฐสภา มีความผิดตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว อย่างน้อย 308 คน หรือมากที่สุด  358 คน และตามขั้นตอนก็ต้องส่งให้ วุฒิสภาชี้ขาดการถอดถอนออกจากตำแหน่ง และน่าจะส่งให้ศาลฏีกาแผนกคดีอาญาทางการเมือง พิจารณาดำเนินคดีอาญา รวมถึง นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานและรองประธานรัฐสภา ที่อยู่ในคำร้องด้วย  จึงทำให้เป็นข้อสังเกตว่า อาจจะเกิดสุญญากาศทางการเมืองได้ 
 
นอกจากนี้ ยังต้องผนวกกับคำร้องที่ฝ่านค้านยื่นไว้ต่อป.ป.ช. กรณีโครงการรับจำนำข้าว ที่ส่อเค้าการทุจริตเป็นเหตุให้ประเทศสูญเสีย โดยมีรายงานว่า ป.ป.ช. กำลังเร่งเก็บรวบรวมข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลในจังหวัดต่าง ๆ ที่เกิดความเสียหายขึ้น และอาจจะนำกลับมาสรุปในวันที่ 26 พฤศจิกายน หรือ อาจเป็นวันที่ 28 พฤศจิกายน ซึ่งการสรุปของป.ป.ช. ก็น่าจะหมายถึงการชี้มูลความผิดด้วย และกรณีนี้ มีการยื่นคำร้องขอไต่สวน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง นี่อาจเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะเกิดเหตุการเมืองติดล็อค หากการชี้มูลนั้นทำให้ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง