"นายกฯ"แจงญัตติไม่ไว้วางใจ ยันไม่เอื้อ"ทุจริต"

การเมือง
28 พ.ย. 56
04:38
29
Logo Thai PBS
"นายกฯ"แจงญัตติไม่ไว้วางใจ ยันไม่เอื้อ"ทุจริต"

หลังเปิดอภิปรายกันมา 2 วัน 2 คืน เช้าวันนี้ (28 พ.ย.) สภาผู้แทนราษฎร จะลงมติในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้ว ขณะที่การอภิปรายกลางดึกที่ผ่านมา ไฮไลต์สำคัญอยู่ที่การชี้แจงสรุปของนายกรัฐมนตรี และการกล่าวสรุปญัตติของประธานวิปฝ่ายค้าน

ตลอดทั้งวันของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยวันที่ 2 เมื่อวานนี้ (27 พ.ย.) เต็มไปด้วยการประท้วง และการโต้เถียงของ ส.ส.รัฐบาล และส.ส.ฝ่ายค้าน ผู้อภิปราย และผู้ชี้แจงข้อกล่าวหา รวมถึงการท้วงติงการทำหน้าที่ของประธานสภา แต่ก็สามารถบริหารจัดการเวลาให้อยู่ในกรอบตามการตกลงร่วมกันของวิป 2 ฝ่ายได้ และหลังการกล่าวสรุปปิดการอภิปรายประธานในที่ประชุมก็สั่งพักการประชุมภายในเวลา 23.37 น. โดยสารถสำคัญในการชี้แจงสรุป นายกรัฐมนตรีกล่าวยืนยันว่า ไม่เคยหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบการบริหารประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่รับฟัง และแก้ไขปัญหาของประชาชนอย่างต่อเนื่องทุกพื้นที่ รวมถึงสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศ เพื่อขยายฐานการค้าการลงทุน ขณะเดียวกันก็ดำเนินในทุกนโยบายทุกโครงการ ทั้งโครงการรับจำนำข้าว, การบริหารจัดการน้ำ, และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เป็นไปโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน และปฏิบัติตามกฎหมาย

รวมไปถึงระเบียบราชการอย่างเคร่งครัด มีความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ และย้ำว่าไม่เคยเอื้อหรือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต คอรัปชั่น และหากพบว่ามีการกระทำผิดก็จะลงโทษตามขั้นตอน

ส่วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวสรุปญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ และชี้ว่าคำชี้แจงของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไม่ชัดเจน มีความคลุมเครือในหลายประเด็น โดยเฉพาะขาดรายละเอียดของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ รวมถึงโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ก็ไม่มีความพร้อมจึงไม่สามารถเบิกเงินออกมาดำเนินโครงการได้ ทั้งที่ครบกำหนดต้องเบิกเงินในวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมา ขณะที่การบริหารโครงการรับจำนำข้าวก็ล้มเหลว ขาดทุน เกษตรกรไม่ได้รับเงินอย่างแท้จริง จึงขอให้ยกเลิกโครงการและเปลี่ยนเป็นการประกันรายได้แทน ขณะเดียวกันผลของการบริหารราชการแผ่นดินก็ไม่สามารถขจัดปัญหาทุจริตคอรัปชั่นได้พร้อมกับขอให้นายกรัฐมนตรีแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองตามที่ได้เคยประกาศนโยบายไว้ว่าจะไม่ใช้อำนาจรัฐทำลายฝ่ายเห็นต่างทางการเมือง รวมถึงพยายามผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรม และกฎหมายปรองดองเพื่อเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้อง จนทำให้ประชาชนต้องออกมาคัดค้าน และด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของการยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องออกจากตำแหน่ง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง