ปัญหาการเมืองทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค พ.ย.ต่ำสุดในรอบ 2 ปี

เศรษฐกิจ
4 ธ.ค. 56
01:59
76
Logo Thai PBS
ปัญหาการเมืองทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค พ.ย.ต่ำสุดในรอบ 2 ปี

ปัญหาการเมืองในที่ช่วงที่ผ่านมา เป็นส่วนหนึ่งที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพฤศจิกายนให้ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 หรืออยู่ที่ระดับ 75 และถือว่าต่ำสุดในรอบ 22 เดือนนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2555 โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการ

ค่าดัชนีที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงว่าผู้บริโภครู้สึกว่าบรรยากาศเกี่ยวกับเศรษฐกิจมีแนวโน้มแย่ลงหรืออยู่ในระดับที่ไม่ดี, และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน พบว่า ปรับตัวลงเหลือ 59.2 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 14 เดือน, ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในระยะ 6 เดือนข้างหน้า ก็ลดลงเช่นกัน โดยอยู่ที่ 79.9 ต่ำสุดในรอบ 24 เดือน

สำหรับผลสำรวจดัชนีแต่ละประเภท พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค "เกี่ยวกับเศรษฐกิจ" ปรับลดลงต่อเนื่องเป็น เดือนที่ 8 โดยอยู่ที่ 65 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 22 เดือน ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ หรือ ร้อยละ 56.1 เห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค "เกี่ยวกับโอกาสหางานทำ" ก็ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 หรืออยู่ที่ 68.2 ต่ำสุดในรอบ 18 เดือน โดยกลุ่มตัวอย่างเกือบร้อยละ 60 มองว่า โอกาสในการหางานทำอยู่ในระดับปานกลาง

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค "เกี่ยวกับรายได้ในอนาคต" ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 เช่นกัน โดยลดระดับมาอยู่ที่ 91.8 ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 72 เชื่อว่ารายได้ ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า จะไม่เปลี่ยนแปลง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งการสำรวจในเรื่องนี้ บอกว่า ในเดือนธันวาคมนี้ มีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในเชิงลบมากกว่าเชิงบวก เช่น การชุมนุมทางการเมือง การปรับลดจีดีพีของหน่วยงานรัฐ เงินบาทที่อ่อนค่าลง รวมถึงความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วนปัจจัยบวก มีเพียงการปรับลดของดอกเบี้ย ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.มีมติลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือร้อยละ 2.25

การสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นที่บอกไปเมื่อสักครู่ ยังไม่ได้รวมผลจากปัจจัยการเมืองที่ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปตามจุดต่างๆ และกรณีมีผู้เสียชีวิตที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง สถานการณ์การเมืองตอนนี้..ดูนิ่งขึ้นเล็กน้อย แต่นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คาดปัญหาการเมืองจะยังคงยืดเยื้อต่อไป

นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า ไม่ว่าจะมีการยุบสภาฯ หรือนายกรัฐมนตรีลาออก ปัญหาก็ยังไม่จบ เพราะยังต้องมีการเจรจาหาทางออก ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจึงยาวนานไปจนถึงปี 2557 โดยประเมินว่าเศรษฐกิจปี 2557 จะขยายตัวไม่ถึง ร้อยละ 4 จากเดิมที่คาดว่า หากเศรษฐกิจโลกดีขึ้น และรัฐบาลสามารถเริ่มใช้จ่ายเงินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทได้ เศรษฐกิจก็จะเติบโตประมาณร้อยละ 4

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง บอกว่า ความรุนแรงจากการชุมนุม อาจทำให้สถาบันจัดอันดับเครดิตนำไปใช้เป็นปัจจัยปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้เงินลงทุน 2 ล้านล้านบาทสูงขึ้น และถ้าหากเงินลงทุนภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญที่สุดในปีหน้า..มีปัญหา ก็จะทำให้เศรษฐกิจในปี 2557 ขยายตัวได้ไม่ถึงร้อยละ 5 ตามที่คาดไว้

ขณะที่การตรวจสอบกรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐยังคงดำเนินการต่อเนื่อง โดยคณะอนุกรรมการไต่สวน ออกมาระบุแล้วว่า การเจรจาที่อ้างว่าเป็นการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ ระหว่างรัฐบาลไทยกับผู้แทนหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีน จำนวน 2 หน่วยงาน ไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้เห็นว่าเป็นการซื้อขายลักษณะดังกล่าว จึงมีมติให้ขยายการไต่สวนเพิ่ม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง