วิเคราะห์"ประชาธิปัตย์"ลาออกทั้งพรรค

8 ธ.ค. 56
13:34
67
Logo Thai PBS
วิเคราะห์"ประชาธิปัตย์"ลาออกทั้งพรรค

พรรคเพื่อไทยและ 5 พรรคร่วมรัฐบาล เตรียมแถลงท่าทีทางการเมืองในช่วงค่ำวันนี้ (8 ธ.ค.) นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมาระบุถึงเจตนาทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ยึดกฎเกณฑ์กติกาตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุลงมติเอกฉันท์ให้ส.ส.ของพรรคลาออกทั้งหมด รวม 152 คน ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงชี้แจงเหตุผลว่า รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ ขาดความชอบธรรมในการทำหน้าที่แล้ว จึงต้องกำหนดท่าทีทางการเมืองเพื่อรักษามาตรฐานของระบบรัฐสภา และปกป้องรูปแบบการเมืองการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย

หลังการประชุมเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษนายเกือบ 6 ชั่วโมง ในการถกเถียงและหาเหตุผลที่จะอ้างอิงการตัดสินใจลาออกของส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ทั้ง 152 คน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 7 เปิดแถลงแจกแจงเหตุผลหลัก ว่าไม่สามารถร่วมงานและยอมรับสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ โดยเฉพาะกรณีการตรากฎหมายนิรโทษกรรม และการเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ รวมถึงการยื่นฟ้องตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต่อกรณีวินิจฉัย ชี้ขาดการแก้ที่มาส.ส.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการกระทำผิดแล้ว ยังมุ่งเน้นที่จะกระทำผิดซ้ำ โดยไร้ซึ่งความรับผิดชอบ

ในขณะเดียวกันหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ด้วยสถานการณ์ที่ประชาชนออกมาชุมนุมทวงคืนอำนาจอธิปไตย แต่จนถึงขณะนี้ รัฐบาลยังไม่ปรากฏแนวทางที่จะแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในทางกลับกันยังมีความพยายามทุกวิถีทางในการบิดเบือนสถานการณ์ความเป็นจริง และยังยื้อเวลาเพื่อการดำรงอยู่ในอำนาจ โดยไม่แสดงความรับผิดชอบ

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว่า พรรคประชาธิปัตย์รอคอยการแสดงความรับผิดชอบ จนวันนี้ที่ประชุมพรรคเห็นว่า หมดเวลาของการรอคอยแล้ว ส.ส.ของพรรคจึงตัดสินใจแสดงเจตนาลาออกจากสภาฯ และให้มีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพื่อรักษามาตรฐานของระบบรัฐบาล และปกป้องระบอบประชาธิปไตย

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 24 ผ่านการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 รวม 11 พรรคการเมือง จำนวน 500 คน ก่อนหน้านี้ มี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ รวม 161 คน แต่ด้วยเหตุของการลุกขึ้นมาต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม จึงลาออกไป 9 คน ขณะที่พรรคเพื่อไทย จนถึงขณะนี้มีส.ส. รวม 264 คน หากนับรวมเป็นเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล จะอยู่ที่ 299 เสียง แต่ถ้านับเสียงที่เป็นส.ส.พรรคการเมืองฝ่ายค้าน แต่ให้การสนับสนุนรัฐบาล ก็จะมากกว่า 320 เสียงขึ้นไป

นักวิชาการส่วนหนึ่งมองว่า การลาออกจากการเป็นส.ส.ของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เป็นเพียงเจตนาทางการเมืองที่มิได้สร้างให้สถานการณ์บ้านเมืองต้องเกิดสุญญากาศให้ต้องลำดับเหตุการณ์ตามมาด้วยการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจฝ่ายรัฐ พร้อมชี้ว่านับจากนี้ ก็จะเป็นบทบาทของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ที่จะรับหน้าที่จัดการเลือกตั้งซ่อม ไม่ต่างจากการเลือกตั้งซ่อมส.ส. 9 คนก่อนหน้านี้

แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองการปกครองวิเคราะห์ว่า หากรัฐบาลไม่เลือกแนวทางที่จะออกพระราชกฤษฏีกาเลือกตั้งซ่อมอีกครั้ง แต่นายกรัฐมนตรีเลือกที่จะตัดสินใจยุบสภา ก็จะต้องจัดการเลือกตั้งทั่วประเทศตามมาตรา 108 ไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน เว้นแต่ระหว่างนายกรัฐมนตรีและครม.ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามมาตรา 181 นั้น จะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองให้นายกรัฐมนตรียุติปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว นั่นละคือการเปิดช่องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนอกระบบได้ โดยเฉพาะการอ้างอิงถึงมาตรา 3 และมาตรา 7

แม้สถานการณ์ตอนนี้จะยังคงเกิดขึ้นได้ทั้ง 2 แนวทาง ทั้งนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ ต่างมีข้อสังเกตว่า ประชาธิปัตย์และกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ากปปส. กำลังเดินทางทางการเมือง เพื่อให้สบช่องที่จะจัดตั้งสภาประชาชน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์แสดงเจตนาล่วงหน้าแล้วว่า หากเกิดการเปลี่ยนแปลงนอกระบบ สมาชิกพรรคพร้อมจะเว้นวรรคทางการเมือง แต่ผู้นำรัฐบาลก็ยืนยันก่อนหน้านี้ว่า พร้อมจะยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ นับจากนี้จึงเป็นห้วงเวลาที่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในวันพรุ่งนี้ (9 ธ.ค.)


ข่าวที่เกี่ยวข้อง