วิเคราะห์จุดยืน " รัฐบาล - กปปส."

การเมือง
9 ธ.ค. 56
17:32
335
Logo Thai PBS
วิเคราะห์จุดยืน " รัฐบาล - กปปส."

วันนี้ (9 ธ.ค.56) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อเวลา 1.30 น.เพื่อเผยแพร่ให้เป็นที่ทราบโดยทั่วกัน ซึ่งสาระสำคัญเป็นไปตามที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงเมื่อช่วงเช้าของวันนี้

สาระสำคัญ คือ การคืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชน หลังการหารือและรับฟังความเห็นจากทุกคนทุกฝ่ายแล้ว เห็นตรงกันว่า สถานการณ์ความขัดแย้งอาจนำมาซึ่งความแตกแยกและนำไปสู่เหตุความรุนแรงสูญเสียได้ จึงตัดสินใจคืนอำนาจให้ประชาชน เพื่อตัดสิน ด้วยการเลือกตั้งใหม่

 
ในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ ได้วางกรอบวันเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่แล้ว คือ วันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ ขั้นตอนหลังจากนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ก็ต้องเสนอพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง เพื่อจัดการเลือกตั้งต่อไป
 
เงื่อนไขการชุมนุมของกลุ่มประชาชนที่เรียกตัวเองว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. วันนี้ (9 ธ.ค.56) เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและ ครม.ยุติการปฏิบัติหน้าที่ และเปิดทางให้มีการจัดตั้งสภาประชาชน ขณะที่รัฐบาล โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระบุให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินสถานการณ์ หลังคืนอำนาจให้กับประชาชนไปแล้ว
 
ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สิ้นสุดลงทันที ที่เปล่งวาจาประกาศ "ยุบสภา" เมื่อเวลา 08.40 น. ของวันที่ 9 ธันวาคม 2556 จากเส้นทางการก้าวเข้าสู่วงการการเมือง 45 วัน แล้วขึ้นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรี คนที่ 28 นับเป็นการสืบทอดอำนาจทางการเมืองของคนในตระกูล"ชินวัตร"คนที่ 2 ของประเทศ
 
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย วัย 44 ปี อยู่ในตำแหน่งได้ 830 วัน โดยมีการปรับคณะรัฐมนตรี ทั้งสิ้นรวม 5 ครั้ง ภายใต้เสียงสนับสนุนของพรรคร่วมรัฐบาล 6 พรรค 299 เสียงด้วยกัน
 
การตัดสินใจก้าวพ้นจากตำแหน่ง เพราะการเคลื่อนไหวยกระดับ 40 วัน ของกลุ่มผู้ชุมนุม ที่เรียกตัวเองว่า คณะกรรมาการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ซึ่งนำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ
 
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ปราศรัยทางการเมือง ครั้งแรกในชีวิต หลังลงรับสมัครเลือกตั้ง เป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หมายเลข 1 ของพรรคเพื่อไทย โดยไม่ควบตำแหน่งหัวหน้าพรรค ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2554 มีใจความสำคัญว่า "ตำแหน่งและภารกิจนี้มีคุณค่าและมีเกียรติ และจะใช้ความเป็นผู้หญิงก้าวเข้าสู่หาความปรองดอง ตั้งใจจะมาแก้ไข ไม่แก้แค้น"
 
<"">
 
<"">
ในคราวนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวต่างประเทศเรื่องนิรโทษกรรมให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งอีกสถานะคือพี่ชาย ว่า"ประเทศไทยอยู่ภายใต้หลักนิติธรรม ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามหลักของกฎหมาย"
 
ตลอดเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกฝ่ายค้านวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นเพียงหุ่นเชิดของอดีตนายกรัฐมนตรีผู้เป็นพี่ชาย แม้กระทั่งนาทีสุดท้าย ก่อนที่จะประกาศยุบสภา ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ต้องรอฟังสัญญาณจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
 
ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศลาออกจากการเป็นนักการเมือง พรรคประชาธิปัตย์ ทั้งที่สังกัดมานานกว่า 30 ปีแล้ว และในวัย 65 ของนายสุเทพวันนี้ ต้องตกเป็นผู้ต้องหาคดีการเมือง ไม่น้อยกว่า 2,000 คดีจากเหตุวิกฤตการเมือง ปี 2553 และถูกตั้งข้อหาเป็น"กบฏ" ด้วยการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น
 
ตลอดเวลากว่า 3 ทศวรรษ บนเส้นทางการเมืองของนายสุเทพ แม้ไม่เคยดำรงตำแหน่งหมายเลข 1 ทั้งในพรรค และในทำเนียบรัฐบาล แต่นานสุเทพ มักได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญเสมอไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการรัฐบาล "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" เพราะมีศักยภาพดึงกลุ่มการเมืองในสังกัดของกลุ่มเพื่อนเนวิน ในพรรคพลังประชาชน แล้วพลิกขั้วจากการสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ หันมาเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2551
 
นายสุเทพ ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้นำหมายเลข 1 ในศูนย์ปฏิบัติการ ศอฉ. ร่วมกับผู้นำ 3 เหล่าทัพในช่วงการชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม นปช. ที่ย่านราชประสงค์และถนนราชดำเนิน โดยเฉพาะกรณีบัญชาการในการกระชับพื้นที่ ในปี 2553
 
เป้าหมายทางการเมืองที่นายสุเทพ เคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยในนาม กปปส.วันนี้ ไม่ใช่การหวนคืนทำเนียบรัฐบาล หรือสภาผู้แทนราษฎร แต่ต้องการเป็น 1 ในการปฏิรูปเชิงโครงสร้างของประเทศครั้งสำคัญ และสร้างประวัติศาสตร์ ด้วยการจัดตั้ง"สภาประชาชน" ให้ได้
 
วัตถุประสงค์ถูกผลักดันเดินหน้า ภายใต้เครื่องมือที่ว่าด้วยมาตรา 3 และมาตรา 7 แห่งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการวิพากษ์วิจารณ์ของหลายฝ่าย แม้นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาแล้ว และสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง หรือ กกต. จะประกาศความพร้อมอย่างเต็มที่ในการจัดการเลือกตั้งแบบเร็วที่สุด 45 วัน แต่ดูเหมือนว่า ฝ่ายของ กปปส. ยังไม่ตอบรับสัญญาณที่ว่านี้ ขณะที่ฝ่ายเพื่อไทยและกลุ่ม นปช. เริ่มส่งสัญญาณ ว่าจากนี้ไป ถอยไม่ได้อีกแล้ว เกมการเมือง จากนี้ไป ไม่ได้อยู่ในมือของฝ่ายการเมือง เพื่อไทยและประชาธิปัตย์ หากว่ามวลชนของทั้ง 2 ข้าง พร้อมจะเผชิญหน้ากันทุกนาที


ข่าวที่เกี่ยวข้อง