นานาชาติจับตาเกาหลีเหนือ หลังประหารชีวิตผู้นำอันดับ 2

ต่างประเทศ
13 ธ.ค. 56
14:16
95
Logo Thai PBS
นานาชาติจับตาเกาหลีเหนือ หลังประหารชีวิตผู้นำอันดับ 2

นักวิเคราะห์เห็นว่าการประหารชีวิตญาติของผู้นำเกาหลีเหนือ ซึ่งถือเป็นผู้นำอันดับ 2 ของประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าผู้นำเกาหลีเหนือต้องการกำจัดภัยคุกคามที่อาจจะลุกขึ้นมาช่วงชิงอำนาจในการบริหารประเทศ ขณะที่ประเทศในภูมิภาคแสดงความกังวล และจับตาดูสถานการณ์ในเกาหลีเหนืออย่างใกล้ชิด

สถานีโทรทัศน์ "เคอาร์ที" ของรัฐบาลเกาหลีเหนือรายงานข่าวการประหารชีวิตนายจาง ซอง แต็ก โดยระบุว่าศาลทหารพิเศษของกระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐ ได้ลงโทษประหารชีวิตนายจาง ตามกฎหมายอาญามาตรา 60 โทษฐานทรยศต่อชาติ และพยายามโค่นอำนาจรัฐ

ขณะที่หนังสือพิมพ์พรรคแรงงาน ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลเกาหลีเหนือได้ตีพิมพ์ภาพการพิจารณาคดี ก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวที่ไม่มีการยืนยันระบุว่าผู้ช่วยของนายจาง 1 หรือ 2 คนแปรพักตร์ไปอยู่ฝ่ายเดียวกับเกาหลีใต้ และมีรายงานว่าระหว่างการพิจารณาคดีนายจางได้อ่านคำสารภาพผิดว่าเขาพยายามจะก่อการปฏิวัติจริง

นายจางแต่งงานกับนางคิม คยอง-ฮุย น้องสาวของคิม จอง อิล อดีตผู้นำผู้ล่วงลับ นายจางถูกมองว่าเป็นฐานอำนาจให้กับนายคิม จอง อุน ผู้นำสูงสุดคนปัจจุบัน และมักถูกกล่าวอ้างว่าเขาเป็นผู้นำหมายเลข 2 ของเกาหลีเหนืออย่างไม่เป็นทางการ ถือเป็นผู้ที่มีอำนาจทางการเมืองอย่างแท้จริง นอกจากนี้ เชื่อกันว่านายจาง คือผู้นำคนสำคัญในการผลักดันให้นายคิม จอง อุน ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งผู้นำสูงสุดต่อจากบิดาอีกด้วย

การประหารชีวิตมีขึ้นเมื่อวานนี้ โดยก่อนหน้านั้น 1 วันตรงกับวันครบรอบ 2 ปีการเสียชีวิตของนายคิม จอง อิล บิดาของนายคิม จอง อุน ซึ่งนายจางถูกทหารควบคุมตัวขณะเข้าร่วมการประชุมคณะกรมการเมือง

โฆษกกระทรวงรวมชาติของเกาหลีใต้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ในเกาหลีเหนือ โดยระบุว่าจะจับตาเกาหลีเหนืออย่างใกล้ชิด โดยเตรียมความพร้อมรับมือกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในทุกรูปแบบ และจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตร และประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยทำเนียบประธานาธิบดีของ น.ส.ปาร์ค กึน เฮ ได้จัดการประชุมพิเศษคณะรัฐมนตรีเพื่อประเมินสถานการณ์ในเกาหลีเหนือ

รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ว่าการประหารชีวิตนายจางถือเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายของรัฐบาลเกาหลีเหนือ ขณะที่กระทรวงกลาโหมของญี่ปุ่นระบุว่าเหตุการณ์นี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเกาหลีเหนือเทียบได้กับตอนที่ประธานเหมา เจ๋อ ตุงของจีนเริ่มใช้นโยบายปฏิวัติวัฒนธรรม

ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าคำสั่งประหารชีวิตนายจางสะท้อนให้เห็นว่าผู้นำเกาหลีเหนือคิดว่าตัวเองสามารถปกครองประเทศได้ โดยไม่ต้องพึ่งพานายจางอีกต่อไป ส่วนการตัดสินใจประหารชีวิต เพื่อให้มั่นใจว่านายจางจะไม่ย้อนกลับมาเป็นภัยคุกคามในอนาคต เนื่องจากนายจางเป็นผู้ที่มีอำนาจทั้งทางการเมือง และการทหาร

เกาหลีเหนืออยู่ภายใต้การปกครองของตระกูลคิม ซึ่งเริ่มตั้งแต่นายคิม อิล ซุง, คิม จอง อิล มาจนถึงนายคิม จอง อุน ที่ผ่านมา คนที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้นำส่วนใหญ่จะถูกประหารชีวิต หรือไม่ก็ถูกส่งไปค่ายแรงงาน ซึ่งการประหารชีวิตผู้ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้นำครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง