"พล.อ.อุดมเดช" เผยไทยไม่ตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวโรฮิงญา

การเมือง
20 พ.ค. 58
15:29
153
Logo Thai PBS
"พล.อ.อุดมเดช" เผยไทยไม่ตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวโรฮิงญา

รมช.กลาโหมและ ผบ.ทบ.เผยไทยยังไม่พิจารณาจัดตั้งศูนย์พักพิงชาวโรฮิงญา พร้อมระบุว่าชาวโรฮิงญาในไทยไม่ใช่ผู้หนีภัยจากการสู้รบ แต่มีสถานะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหารือร่วมองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรด้านผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ มีข้อสรุปให้เสนอรัฐบาลจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวตามหลักการสิทธิมนุษยชน

พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เปิดเผยวันนี้ (20 พ.ค.2558) ถึงการประเมินปัญหาผู้อพยพว่าต้องมีการจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวเพื่อรองรับชาวโรฮิงญาหรือไม่ พล.อ.อุดมเดช ระบุว่ารัฐบาลยังไม่พิจารณาจัดตั้ง ซึ่งเป็นการออกมาเปิดเผยครั้งแรกของรัฐบาลหลังแบ่งรับแบ่งสู้มาเกือบ 2 สัปดาห์ พร้อมกับชี้แจงว่าชาวโรฮิงญาในไทยไม่ใช่ผู้หนีภัยจากการสู้รบ แต่เป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองที่ต้องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวว่าที่รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซียและอินโดนีเซียลงนามเห็นชอบร่วมกันที่จะจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวรองรับชาวโรฮิงญา แต่สำหรับไทยนั้นยังอยู่ระหว่างการหารือ ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนในการประชุมร่วม 15 ชาติว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดียวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ พร้อมกับย้ำว่าไม่ว่าจะกำหนดท่าทีอย่างไรจะต้องไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศขึ้น

ขณะที่วันนี้คณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มีการหารือในที่ประชุมร่วมของหน่วยงานภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน ทั้งของไทยและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และมีข้อสรุปในการเสนอจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวภายใต้นโยบายรัฐบาลและการคัดแยกบุคคลกรณีเป็นผู้อพยพชาวโรฮิงญา โดยได้เตรียมนำผลการหารือนี้เสนอให้กับรัฐบาลพิจารณาในที่ประชุมร่วม 15 ชาติ

ข้อมูลจากเวทีการหารือร่วมกันครั้งนี้ยังพบว่าพัฒนาการของชาวโรงฮิงญาที่เดินทางเข้ามาไทยตั้งแต่ปลายปี 2557 ก่อนหน้านี้มาในฐานะผู้ลักลอบเข้าประเทศ แต่ปัจจุบันมีการกักกันตัวแล้วถูกเรียกค่าไถ่จากนายทุนเพื่อเรียกค่าตอบแทนที่สูงขึ้นก่อนที่จะแลกกับการส่งตัวไปประเทศปลายทางอย่างประเทศมาเลเซีย และข้อมูลอีกด้านหนึ่งจากอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนลงพื้นที่ตรวจสอบจุดพักพิงและหลุมฝังศพชาวโรฮิงญาพบว่าการสอบข้อมูลคนในพื้นที่เป็นเรื่องยาก เนื่องจากเกรงกลุ่มอิทธิพลและจากสภาพความเป็นจริงนั้นปฎิเสธไม่ได้ว่ามีบุคคลคอยอำนวยความสะดวกการเดินทางให้กับชาวโรฮิงญา

ขณะเดียวกันตัวแทนสมาคมชาวมุสลิมแห่งประเทศไทยเสนอให้มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างตรงไปตรงมา พร้อมเสนอให้มีการประกอบพิธีทางศาสนาให้แก่ศพชาวโรฮิงญาเพื่อสร้างความประณีประนอมภายใต้หลักมนุษยธรรม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง