บุคคลธรรมดาเสียภาษีอัตราใหม่ ปี 57

เศรษฐกิจ
17 ธ.ค. 56
00:53
967
Logo Thai PBS
บุคคลธรรมดาเสียภาษีอัตราใหม่ ปี 57

อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า พระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษีบุคคลธรรมดา ได้รับโปรดเกล้าฯ แล้ว อยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลทำให้บุคคลธรรมดาที่ต้องเสียภาษีรายได้ปี 2556 สามารถยื่นแบบชำระภาษีในปี 2557 ได้ทันที

ส่วนบริษัทเอกชนสามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายของลูกจ้างในแบบอัตราภาษีเก่าหรือใหม่ก็ได้ ซึ่งถ้าหากหักไว้ในอัตราเก่าหรือเสียภาษีเกินกว่าที่เสียจริง ผู้เสียภาษีสามารถมายื่นแบบขอคืนได้

อัตราภาษีบุคคลใหม่จะแบ่งเป็น 7 อัตรา จากเดิมที่มี 5 อัตรา โดยบุคคลธรรมดาที่มีรายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท ยังได้รับการยกเว้นภาษีเหมือนเดิม ทั้งนี้ อธิบดีกรมสรรพากร ระบุว่า การปรับอัตราภาษีใหม่ จะทำให้รายได้รัฐลดลง 26,000 ล้านบาท

อัตราภาษีบุคคลธรรมดาใหม่จะแบ่งเป็น 7 อัตรา เริ่มตั้งแต่ ร้อยละ 5, 10, 15, 20, 25, 30, และ 35 จากเดิมที่มี 5 อัตรา คือ ร้อยละ 10, 20, 30, 35, และ 37 จากตารางอัตราภาษีเก่าเทียบกับภาษีใหม่ ก็มีทั้งผู้ที่เสียภาษีลดลงและเท่าเดิม อย่างเช่น ผู้มีเงินได้สุทธิ ช่วง 150,001 - 300,000 จะเสียภาษีอัตราใหม่ ที่ร้อยละ 5 จากเดิมร้อยละ 10 แต่ผู้มีเงินได้ช่วง 300,001 - 500,000 จะเสียภาษีที่อัตราร้อยละ 10 ซึ่งก็เท่ากับภาษีอัตราเดิม

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงการคลัง ตั้งแต่ 1 มกราคมปี 57 ผู้มีเงินได้ไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี มีจำนวน 6,500,000 คน ผู้มีเงินได้ 300,001-500,000 บาทต่อปี มีจำนวน 1,400,000 คน ขณะที่ ผู้มีรายได้มากกว่า 4,000,000 บาทต่อปี มีจำนวน 20,000 คน

สำหรับตัวอย่างการคำนวณภาษี เปรียบเทียบอัตราแบบเก่าและใหม่ เช่น ฐานเงินเดือน 30,000 บาท หรือ รายได้ต่อปี 360,000 บาท เดิมเสียภาษี 12,000 บาท แต่อัตราภาษีใหม่จะลดลงครึ่งหนึ่ง โดยเหลือ 6,000 บาท ขณะที่ ฐานเงินเดือน 40,000 บาท หรือ รายได้ต่อปี 480,000 บาท เดิมเสียภาษี 24,000 บาท ก็จะเหลือ 16,500 บาท หรือ ลดลงร้อยละ 31.25

                

<"">

ขณะที่บริษัททุกแห่งสามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายของลูกจ้างทั้งในแบบอัตราภาษีเก่าหรือใหม่ก็ได้ ถ้าหากหักไว้ในอัตราเก่า ก็สามารถมายื่นแบบขอคืนภาษี ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 31 มี.ค. ปี 57 ในกรณีเสียภาษีไว้เกินจริง

การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรในรอบ 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 หรือเดือน ต.ค.-พ.ย. เกินเป้าหมายเล็กน้อย ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวตที่ต่ำกว่าเป้าค่อนข้างมาก ส่วนการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงต้นเดือนธันวาคม เบิกจ่ายเงินไปแล้วกว่า 527,000 ล้านบาท

<"">
 
<"">

โดย นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง ก็คาดว่า สิ้นเดือนธันวาคมปี 56 จะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 700,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 27.72 ของวงเงินงบประมาณ 2,525,000 ล้านบาท

                

<"">

แต่ถ้ามองภาพรวมรายได้ภาครัฐในปีงบประมาณนี้ นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. ก็ยอมรับว่าเป็นห่วง โดยเฉพาะรายได้นิติบุคคลที่แสดงผลกำไร เพื่อชำระภาษีในช่วงกลางปีที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ทำได้ในช่วงนี้ ก็คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ ส่วนการปรับเพิ่มภาษีใหม่ ๆ รวมถึงการลดภาษีและนโยบายเกี่ยวกับภาษีทั้งหมด ก็ต้องรอให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาตัดสินใจ

สำหรับ สถิติการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัททั่วประเทศเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า มีจำนวน 4,397 ราย ลดลงร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับ เดือน ตุลาคม ซึ่งมีจำนวน 5,262 ราย สำหรับสาเหตุที่ทำให้การจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลลดลง เนื่องจากสถานการณ์การเมือง ที่มีผลต่อความมั่นใจในการลงทุนทำธุรกิจของผู้ประกอบการ 


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง