อดีตปธ.กลุ่มเบอร์ซาตู แนะรื้อระบบพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้

24 ธ.ค. 56
13:43
69
Logo Thai PBS
อดีตปธ.กลุ่มเบอร์ซาตู แนะรื้อระบบพูดคุยสันติภาพชายแดนใต้

อดีตประธานกลุ่มเบอร์ซาตู ระบุว่า กระบวนการพูดคุยสันติภาพเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจประสบความล้มเหลว เพราะ ทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ และกลุ่มขบวนการยังไม่มีความจริงใจ และเป็นการพูดคุยสันติภาพผิดกลุ่ม เนื่องจากผู้ที่คุมกองกำลังส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ พร้อมแนะให้ภาครัฐรื้อระบบการพูดคุยสันติภาพใหม่ทั้งหมด เพื่อป้องกันความผิดพลาดเหมือนเช่นในอดีต

“รัฐบาลไม่มีความจริงใจที่จะพูดคุยสันติภาพ และยังมอง 3 จังหวัดเป็นแค่อาณานิคม ขณะที่กลุ่มขบวนการต้องการหลอกลวงมากกว่าจะหาทางออกร่วมกันเพื่อยุติความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้” คือความคิดเห็นของนายวันการ์เดร์ เจ๊ะมาน อดีตประธานกลุ่มเบอร์ซาตู ที่ได้หยิบยกขึ้นมาพูดคุยบนเวทีเสวนาสันติภาพปาตานี ทางออกปัญหาชายแดนใต้ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี

นายวัน ยังระบุว่า ความล้มเหลวในการแสวงหาตัวบุคคลที่มาพูดคุยโดยเฉพาะกลุ่มขบวนการ ซึ่งไม่มีอำนาจแท้จริง ในการควบคุมกลุ่มกองกำลังที่ทำงานแบบใต้ดิน ทำให้การพูดคุยเมื่อต้นที่ผ่านมา อาจล้มเหลวเหมือนหลายปีก่อน ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เคยพยายามพูดคุยสันติภาพ ซึ่งมีกลุ่มขบวนการเดินทางมาหารือ 16 กลุ่ม แต่กลับถูกตัดให้เหลือแค่ครึ่งหนึ่ง ทำให้เกิดความไม่พอใจ จนเป็นชนวนเหตุทำให้เกิดความรุนแรงขึ้น จึงเห็นว่า การพูดคุยสันติภาพขณะนี้ ต้องรื้อระบบแนวคิดใหม่ และขอให้ทั้งฝ่ายรัฐและกลุ่มขบวนการหยุดหลอกกันและกัน

<"">
<"">

อย่างไรก็ตาม ประธานกลุ่มเบอร์ซาตูเห็นว่า การพูดคุยสันติภาพก็เป็นทางออกเดียวของปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งสุดท้าย ทั้ง 2 ฝ่ายจะกลายเป็นผู้ชนะ แต่กว่าจะถึงวันนั้นตัวแทนของรัฐที่เข้าร่วมการพูดคุยจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับปัญหา มีอำนาจ มีงบประมาณ และมีเวลา ขณะที่ฝ่ายขบวนการก็ต้องเป็นตัวจริง และคำนึงถึงผลที่จะได้รับ ทั้งทางด้านการศึกษา การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของคนมาลายู ตรงกับความเห็นของนักวิชาการที่เห็นว่า การพูดคุยจะสำเร็จลงได้ต้องมีความยุติธรรมรวมด้วย

การพูดคุยสันติภาพเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 28 มี.ค.56 โดยมีกลุ่มบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนตเป็นกลุ่มหลัก แต่ผ่านมาหลายเดือนแล้ว การพูดคุยสันติภาพในลักษณะเปิดเผยก็เหมือนจะชะลอตัว ซึ่งนักวิชาการมองว่าส่วนหนึ่งเกิดจากความวุ่นวายทางการเมือง ทำให้การพูดคุยสันติภาพกลายเป็นประเด็นรองในการสานต่อของรัฐ
  


ข่าวที่เกี่ยวข้อง