เปิดโครงสร้าง "สภาปฏิรูป" ของรัฐบาล

25 ธ.ค. 56
15:55
86
Logo Thai PBS
เปิดโครงสร้าง "สภาปฏิรูป" ของรัฐบาล

แม้ว่าข้อเสนอจากรักษาการณ์นายกรัฐมนตรีจะมีส่วนคล้ายกับข้อเสนอตั้งสภาประชาชนของ กปปส. ทั้งเรื่องที่มาของสมาชิกสภาและเป้าหมายในการปฏิรูปประเทศ แต่ความแตกต่างก็คืออำนาจหน้าที่ยังเป็นแค่สภาคู่ขนานและยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง นั่นอาจจะไม่เหนือความคาดหมายที่ กปปส.ปฏิเสธข้อเสนอนี้ทันที

สภาปฏิรูปประเทศโดยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เริ่มต้นจากคณะกรรมการ 11 คน คือ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดหรือ ผบ.เหล่าทัพคนใดคนหนึ่ง ปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า 2 คน ที่ผ่านการคัดเลือก เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อธิการบดี 1 คนที่ผ่านการคัดเลือกจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หรือผู้แทน ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือผู้แทน ประธานสมาคมธนาคารไทย หรือผู้แทน และคณะกรรมการชุดนี้จะเสนอชื่อประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 คน

                         

<"">

จากนั้นกรรมการ 11 คนจะสรรหาตัวแทนจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ 2,000 คน และใน 2,000 คนจะคัดเลือกกันเองให้เหลือ 499 คน

                         

<"">

ทั้งนี้ ตัวแทนทั้ง 499 คนนี้มีภารกิจหลักคือศึกษาและจัดทำข้อเสนอการปฏิรูปประเทศ แยกย่อยเป็นการแก้รัฐธรรมนูญ แก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม แก้กฏเกณฑ์การเลือกตั้งให้โปร่งใส แก้กฏหมายควบคุมการทุจริต และส่งเสริมการกระจายอำนาจ ก่อนจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
                        

<"">

ในขณะที่ข้อเสนอของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ที่เปิดเผยโมเดลสภาประชาชน ปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง โดยบอกว่า จะให้เลือกตั้งจากสาขาอาชีพ 300 คน และอีก 100 คน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ กปปส.จะสรรหามา

ดูเหมือนว่าข้อเสนอ 2 ฝ่ายมีเป้าหมายเดียวกัน และมีระยะห่างจากนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ความแตกต่างก็คือ กปปส.ต้องการใช้ช่องทางรัฐธรรมนูญมาตรา 3 และมาตรา 7 เพื่อตั้งสภาประชาชนให้มีอำนาจนิติบัญญัติเต็มตัว ในขณะที่สภาปฏิรูปประเทศตามข้อเสนอของ รักษาการนายกรัฐมนตรียังเป็นเพียงสภาคู่ขนานที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีหรือรัฐสภาเช่นเดิม

นั่นคือเหตุผลว่า เหตุใด กปปส.ปฏิเสธข้อเสนอทันที เพราะยังคงเกี่ยวข้องกับรัฐบาลรักษาการที่ กปปส.เชื่อว่าอยู่ภายใต้ระบอบทักษิณ แต่ในทางการเมืองอาจจะมองได้ว่ารัฐบาลรักษาการถอยอีกก้าว เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ปี 57 และโยนแรงกดดันให้สังคมตั้งคำถามกลับไปที่ กปปส.


ข่าวที่เกี่ยวข้อง