ชาวมุกดาหารหวั่นรัฐบาลยึดคืนที่ดินทำเขตศก.พิเศษ-ทำแผนเสนอขอร่วมตัดสินใจ

ภูมิภาค
21 พ.ค. 58
06:06
289
Logo Thai PBS
ชาวมุกดาหารหวั่นรัฐบาลยึดคืนที่ดินทำเขตศก.พิเศษ-ทำแผนเสนอขอร่วมตัดสินใจ

ชาวมุกดาหารแนะรัฐบาลทบทวนการจัดที่ดิน สปก.และป่าไม้ถาวร รองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ หวั่นต้องเช่าที่ดินของตัวเองทำกิน ระดมความคิด-สร้างความเข้าใจและจัดทำชุดข้อเสนอ พร้อมขอมีส่วนร่วมก่อนรัฐบาลเดินหน้า

นางสุจิตา สุทธิพงศ์ ประธานคณะทำงานเสริมสร้างและพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง กล่าวว่า หลังจาก คสช.ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่ง ที่ 17/2558 เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยให้เพิกถอนเขตป่าไม้ถาวรตามมติ ครม. และเขตปฏิรูปที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินใน 3 อำเภอของ จ.มุกดาหาร ได้แก่ อ.เมือง อ.นิคมคำสร้อย อ.คำชะอี ให้ถอนสภาพที่ดิน ให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน ที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันให้ตกเป็นที่ราชพัสดุและตามคำสั่ง คสช.ข้อ 6 ให้กรมธนารักษ์ จัดหน่วยงานรัฐใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือจัดให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือเอกชน เช่าพื้นที่พัฒนา โดยไม่ต้องขออนุญาตจากอธิบดีกรมที่ดิน ชาวบ้านในพื้นที่มีการตื่นตัวมากขึ้น เนื่องจากหลายหมู่บ้านใน อ.คำชะอี เป็นพื้นที่ที่ประกาศเป็นที่ดิน สปก.และเป็นพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมด ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่กังวลว่า ประกาศของ คสช.จะทำให้ชาวบ้านต้องเช่าที่ดินของตัวเองหรือไม่ และการพัฒนาที่จะเกิดจะส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างไร

ประธานคณะทำงานเสริมสร้างและพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง กล่าวว่า ที่ผ่านมามีหน่วยงานของรัฐลงพื้นที่ให้ข้อมูลกับชาวบ้านถึงผลดีและประโยชน์ของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากตามประกาศของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เรื่อง นโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.มุกดาหาร มีการกำหนดกิจการนิคมและเขตอุตสาหกรรมไว้ด้วย

การจัดเวทีสร้างความเข้าใจและจัดทำชุดข้อเสนอ กรณีการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ทั้ง 5 เวที ใน 5 อำเภอที่ได้รับผลกระทบครั้งนี้ จะสรุปและรวบรวมความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ เสนอไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร โดยขอให้ภาคประชาชนมีส่วนตัดสินใจในเชิงนโยบาย เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่ของตัวเอง

ด้านนายวิรัตน์ พรหมดี ประธานสภาพัฒนาการเมือง จ.มุกดาหาร กล่าวว่าการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ มุกดาหาร ภาคประชาชน ได้มีความเห็นร่วมกันในการกำหนดให้พื้นที่มุกดาหารเป็นเมืองสามธรรม คือธรรมะ ธรรมชาติ และวัฒนธรรม การพัฒนาพื้นที่ภาครัฐต้องมองจุดเด่นของพื้นที่ก่อนที่จะกำหนดนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง