อันตรายสารจากปนเปื้อนในอาหาร

29 ก.ย. 53
20:00
278
Logo Thai PBS
อันตรายสารจากปนเปื้อนในอาหาร

เป็นเวลากว่า 20 ปีที่ บดินทร์ ฉัตรมาลีรัตน์ ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายลูกชิ้น โดยมีโรงงานผลิตลูกชิ้นที่ใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ เพราะต้องส่งจำหน่ายทั่วประเทศ บดินทร์ บอกว่า การลงทุนเครื่องจักรที่ทันสมัย ช่วยให้ถนอมอาหารไว้ได้นานโดยไม่ต้องใช้สารกันบูดปริมาณสูงซึ่งอาจทำให้รสชาติเปลี่ยนไป และ เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคก่อนที่จะขยายเป็นการผลิตแบบอุตสาหกรรม บดินทร์ เริ่มต้นจากทำลูกชิ้นแบบสูตรโบราณที่ไม่ได้ใส่สารกันบูดแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะกว่าลูกชิ้นจะไปถึงมือผู้บริโภค ก็เสียหมดแล้ว

ความจำเป็นในการถนอมอาหารเพื่อส่งไปขายยังพื้นที่ห่างไกลทำให้ผู้ประกอบการบางรายใส่สารกันบูดเกินมาตรฐาน ล่าสุดข้อมูลการสุ่มตรวจของ โครงการพัฒนากลไกเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพบว่า ในลูกชิ้น 46 ตัวอย่าง 32 ยี่ห้อ ใส่สารกันบูดเกินมาตรฐานที่กำหนดกว่า 2 เท่าเช่นเดียวกับไส้กรอก 61 ตัวอย่าง 28 ยี่ห้อที่พบ 1 ใน 3 ใส่สารกันบูดอันตรายเกินปริมาณที่กำหนด ซึ่งจะส่งผลต่อระบบการทำงานของตับและไตทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง ส่วนการสุ่มตรวจกุ้งแห้ง 12 ตัวอย่าง ชพบ 5 ตัวอย่างมีการใส่สีย้อมผ้า และอีก 8 ตัวอย่าง มียาฆ่าแมลงปนเปื้อน

มาตรการควบคุมความปลอดภัยทางอาหารของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เริ่มที่การขออนุญาตจัดตั้งโรงงาน ซึ่งต้องผ่านเกณฑ์ต่างๆ และ จะตรวจสอบความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารให้ตรงตามมาตรฐานรวมถึงฉลากต้องระบุส่วนประกอบให้ชัดเจนก่อนได้รับอนุญาต หลังจากสินค้าออกสู่ท้องตลาด อย.จะสุ่มตรวจความปลอดภัยเป็นระยะ

ทั่วประเทศมีผลิตภัณฑ์อาหารที่รับใบอนุญาตจาก อย.กว่า 10,000ชนิด จากการสุ่มตรวจในแต่ละปีพบสินค้าตกมาตรฐานราว 40-50 ตัวอย่าง และพบสารปนเปื้อนเป็นอันตรายต่อสุขภาพกว่า 10 ตัวอย่าง พระราชบัญญัติอาหารกำหนดโทษหลายระดับสำหรับเจ้าของสถานประกอบการที่กระทำผิด ทั้งการระงับการผลิตชั่วคราว การถอนใบอนุญาตรวมถึงโทษจำและปรับ

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ยอมรับว่า บทลงโทษตามกฎหมายฉบับนี้ค่อนข้างต่ำ เพราะเป็นกฎหมายที่ประกาศใช้มากว่า 30 ปี และขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงเพื่อให้มีบทลงโทษที่เหมาะสมยิ่งขึ้น

ขณะที่น.ส.สาลี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มองทางออกในเรื่องความปลอดภัยทางอาหารว่า จะต้องเพิ่มบทบาทของผู้บริโภค โดยการเร่งจัดทำกฎหมายองค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภค รวมถึงสร้างกลไกเพื่อเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้บริโภคให้ทำงานร่วมกันมากขึ้น


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง