จับตาสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง

สังคม
26 ต.ค. 53
02:56
147
Logo Thai PBS
จับตาสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง

วันนี้และพรุ่งนี้ต้องจับตาสถานการณ์น้ำมากเป็นพิเศษ เพราะมีการคาดการณ์ว่าน้ำทะเลจะหนุนสูง อาจถึงระดับ 2.30-2.40 เมตร และจะกระทบโดยตรงต่อลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมถึงกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียงน้ำเหนือที่ไหลลงมาตามเส้นทางในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ เรื่อยลงมาทางจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี , ลพบุรี , อ่างทอง , อยุธยา , สระบุรี , ปทุมธานี , นนทบุรี , กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ ประกอบกับน้ำทะเลที่จะหนุนสูงสุดในวันนี้ (26ต.ค.)เวลา 09.09 น. ทำให้พื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงถูกจับตามองว่า สถานการณ์น้ำอาจเข้าสู่ภาวะวิกฤต
ขณะที่กรมชลประทานเชื่อว่าระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาวันนี้จะไม่สูงกว่าระดับ 2.30 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง แม้จะมีการคาดการณ์มาก่อนหน้านี้ว่าระดับน้ำอาจสูงถึง 2.40-2.50 เมตร เพราะได้มีการประสานงานในการแก้ไขปัญหา โดยการเพิ่มระดับการรับน้ำในเขื่อนเจ้าพระยา ลดระดับการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักข์ชลสิทธิ์ เพิ่มการรับน้ำเข้าคลองระพีพัฒน์เพื่อระบายไปยังอ่าวไทยทางจังหวัดสมุทรปราการ และการผันน้ำเข้าสู่คลองชลประทาน เพื่อระบายน้ำต่อไปยังจังหวัดลพบุรีและสุพรรณบุรี
สำหรับการเตรียมการรับมือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งเรื่องของการผันน้ำ และการรับมือสถานการณ์เฉพาะหน้าด้วยการเสริมกระสอบทรายในคันกั้นน้ำให้สูงขึ้นอีก 1 เมตร จากเดิมที่คันกั้นน้ำจะรองรับระดับน้ำได้สูง 2.50 เมตร ก็เป็นมาตรการที่ทำให้ชุมชนในกรุงเทพฯ น่าจะรอดพ้นวิกฤตน้ำท่วมในครั้งนี้ไปได้ ซึ่งต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กรมชลประทานต้องไม่ปล่อยน้ำเกินกว่า 4,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีด้วย แต่สำหรับจังหวัดที่จะได้รับผลกระทบอย่างปฏิเสธไม่ได้ จากมาตรการช่วยกรุงเทพมหานคร ก็คือจังหวัดที่อยู่ใต้เขื่อนเจ้าพระยา ที่จะมีการผันน้ำไปตามคลองย่อยสาขาอื่นๆ เช่น ในจังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา
ส่วนที่คาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบจากมาตรการลดระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเช่นเดียวกัน ก็คือ ในจังหวัดลพบุรี ที่มีแนวโน้มว่าระดับน้ำจะสูงขึ้นอีกหลังจากที่ทรงตัวและลดระดับลงบ้างแล้ว 8 - 10 เซนติเมตร ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ขณะที่จังหวัดสุพรรณบุรีจะได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกัน โดยเฉพาะหมู่บ้านตามลุ่มน้ำท่าจีน ซึ่งขณะนี้มี 6 อำเภอ ที่ยังมีน้ำท่วมขังจากการรับภาระการไหลมาของน้ำเหนือ จากจังหวัดชัยนาท และอุทัยธานี

ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก โดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่แต่ละหน่วยงานยังไม่มีการประสานข้อมูลที่ชัดเจน มีคำแนะนำจากหัวหน้าศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศเพื่อประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เสนอให้ทุกหน่วยงานที่มีข้อมูลต่างๆ พร้อมอยู่แล้ว ใช้ข้อมูลที่มีอยู่ร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
แม้จะมีความเป็นไปได้ว่า เขตพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานคร จะไม่ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตจากน้ำท่วม แต่พื้นที่ในย่านชานเมือง อย่างเขตลาดกระบัง ก็ยังคงมีน้ำท่วมต่อเนื่อง และยังเป็นปัญหาที่ยังรอการแก้ไขต่อไป


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

-
ข่าวที่เกี่ยวข้อง