มาเลเซียพบหลุมศพใกล้ชายแดนไทยกว่า30หลุม คาดเป็นผู้อพยพ

ต่างประเทศ
24 พ.ค. 58
14:57
76
Logo Thai PBS
มาเลเซียพบหลุมศพใกล้ชายแดนไทยกว่า30หลุม คาดเป็นผู้อพยพ

ทางการมาเลเซียยอมรับว่าพบศพผู้อพยพจำนวนมากภายในหลุมฝังศพหลายแห่งใกล้ชายแดนไทย ขณะที่เมียนมาเริ่มลงทะเบียนผู้อพยพทางเรือที่ทหารพบระหว่างลาดตระเวนน่านน้ำ

นายซาฮิด ฮามีดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มาเลเซีย ระบุว่า เจ้าหน้าที่มาเลเซียพบโครงกระดูกมนุษย์จำนวนมากในหลุมฝังศพประมาณ 30 หลุม บริเวณใกล้ปาดังเบอร์ซาและวังเคอเลียน ทางตอนเหนือของรัฐเปอร์ลิสติดต่อกับประเทศไทย

ขณะที่สื่อของมาเลเซียรายงานว่า ศพทั้งหมดเป็นผู้เสียหายจากขบวนการค้ามนุษย์ โดยแหล่งข่าวในพื้นที่ระบุว่า อาจมีโครงกระดูกมนุษย์อีกหลายร้อยศพ ล่าสุดเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่กองกำลังพิเศษได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบและดำเนินการพิสูจน์ศพทั้งหมดแล้ว

นายฮามีดีกล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่ยังพบค่ายกักกันผู้อพยพของขบวนการค้ามนุษย์อีก 17 แห่ง ที่ถูกทิ้งร้างอยู่ในบริเวณดังกล่าว โดยแยกเป็นค่ายใหญ่ 14 แห่ง และค่ายเล็กอีก 3 แห่ง

ขณะที่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองหม่องดอว์ ในรัฐยะไข่ ของเมียนมา เริ่มลงทะเบียนผู้อพยพทางเรือทั้งหมด 208 คน ซึ่งกองทัพเรือเมียนมาค้นพบระหว่างลาดตะเวนน่านน้ำ เพื่อช่วยชีวิตผู้อพยพทางเรือเมื่อวันที่ 21 พ.ค.2558 โดยทางการเมียนมาระบุในแถลงการณ์ว่า เรือผู้อพยพที่พบมี 2 ลำและเดินทางมาจากประเทศไทย ทั้งนี้ ผู้อพยพทางเรือได้รับการดูแลและพักอยู่ในที่พักพิงชั่วคราว ภายในโรงเรียนศาสนาอิสลามในเมืองหม่องดอว์

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเมียนมาพบว่า มีผู้อพยพทางเรืออย่างน้อย 8 คน เป็นชาวโรฮิงญาจากเมียนมา ขณะที่ส่วนใหญ่เป็นชาวบังคลาเทศ ซึ่งขัดแย้งกับทางการเมียนมา ที่ระบุก่อนหน้านี้ว่า ผู้อพยพทั้งหมดเป็นชาวบังคลาเทศ

ส่วนสื่อของรัฐบาลเมียนมารายงานว่า ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ได้ลงนามในกฎหมายพลเรือน เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2558 โดยกฎหมายดังกล่าวมอบอำนาจให้กับรัฐบาลท้องถิ่นออกระเบียบการวางแผนครอบครัวเพื่อลดอัตราการเกิดของประชากร นอกจากนี้ยังอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นดำเนินการสำรวจว่า จำนวนผู้อพยพที่เพิ่มสูงขึ้น อัตราการเจริญเติบโตของประชากรและอัตราการเกิดที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรในพื้นที่หรือไม่ และสามารถร้องขอให้รัฐบาลกลางออกกฎหมายให้ผู้หญิงที่เพิ่งคลอดบุตรต้องรอเวลาอย่างน้อย 36 เดือนหากต้องการมีบุตรเพิ่ม

ขณะที่องค์การฮิวแมนไรท์ส วอทช์ ออกมาแสดงความกังวลว่า กฎหมายดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะจัดการกับชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ และทำให้สภาพความเป็นอยู่ของชาวโรฮิงญายิ่งแย่ลงไป รวมทั้งอาจทำให้เกิดความตึงเครียดทางด้านเชื้อชาติและศาสนาอีก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง