ภาพสะท้อนสังคมผ่านหนังรักในความทรงจำ

Logo Thai PBS
ภาพสะท้อนสังคมผ่านหนังรักในความทรงจำ
ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ หนึ่งในแนวภาพยนตร์ที่มักนำมาฉายไม่พ้นหนังรัก ปัจจุบันมีสัดส่วนในตลาดหนังไทยสูงถึงเกือบร้อยละ 90 แทนที่ความนิยมหนังตลกและหนังสยองขวัญ

ความสำเร็จของภาพยนตร์รักเรื่องเยี่ยมอย่าง "กุมภาพันธ์" ปี 2546 ที่เดินทางไปถ่ายทำไกลถึงต่างประเทศ และเป็นภาพชวนฝันของคนยุคก่อนที่อยากไปใช้ชีวิตต่างแดน และ "The Letter จดหมายรัก" ปี 2547 หนังสะท้อนภาพความรักในอุดมคติของคนเมือง คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้หนังรักไทยในช่วงปีต่อๆ มามีจำนวนมากขึ้นถึงร้อยละ 87 โดยส่วนใหญ่สร้างความแปลกใหม่และเจาะกลุ่มผู้ชมโดยใช้ประเด็นใกล้ตัวเป็นหลักทั้งเพื่อนสนิท ที่พูดถึงความรักซึ่งเกิดจากความใกล้ชิดกับเพื่อนต่างเพศ

รักสามเส้า ที่พูดถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ลงตัวของเพื่อน 3 คน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับงานวิจัยของ ปรัชญา เปี่ยมการุณ ในหัวข้อการประกอบสร้างสุนทรียะแห่งรักและภาพสะท้อนสังคมในหนังรักไทย พ.ศ.2548 ถึง 2552 ที่พบว่าหนังรักไทยเพิ่มขึ้นถึง 1 เท่าตัว ตั้งแต่ช่วงปี 2548 เป็นต้นมา

ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับภาพยนตร์ เปิดเผยว่า หนังรักยังไงก็อยู่ได้ คนไทยติด เป็นที่นิยมในมุมคนทำหนัง เพราะมันราคาถูก ลงทุนน้อย เข้าถึงคนได้กว้างกว่า

มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์ กล่าวว่า จุดร่วมของหนังรักที่มันประสบความสำเร็จคือเรื่องเวลา การได้เห็นการเปลี่ยนผ่านของตัวละครในหนัง ทำให้คนดูเข้าถึงและรู้สึกอินได้ไม่ยาก สูตรสำเร็จมีอยู่ไม่กี่อย่าง

ไม่เพียงเนื้อหาเข้มข้น หลากหลาย ถูกใจคนทุกวัย หากเคล็ดลับความสำเร็จของหนังรักในไทยยังเกิดจากการจับประเด็นใกล้ตัวมาเล่าเป็นภาพเคลื่อนไหว เช่น Season Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ที่แทรกประเด็นเรื่องความคาดหวังของครอบครัวกับการศึกษา

รถไฟฟ้ามาหานะเธอ ที่สะท้อนประเด็นปัญหาการคมนาคม, คิดถึงวิทยา กับการเป็นจิตอาสา, เมย์ไหนไฟแรงเฟร่อ ที่สะท้อนความไม่มีตัวตนของคนบางกลุ่มในยุคสังคมออนไลน์ รวมถึงพี่มากพระโขนงที่ครองแชมป์หนังไทยทำเงินสูงสุด ก็สะท้อนแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่เปิดกว้างในการย้อนกลับไปตีความตำนานรักคลาสสิคของสังคมไทย

ชาญชนะ หอมทรัพย์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์ กล่าวว่า ความรักมันสะท้อนสภาพในตัวของมนุษย์ ถ้าสังเกตจะเห็นเลยว่าไม่มีหนังรักเรื่องไหนที่ตัดสภาพสังคมออกไปจากหนังได้เลย

ภาพยนตร์รักมาแรงและเป็นกระแสที่สุดในช่วง 10 ปีนี้ คือหนังเพศทางเลือกที่นำเสนอในรูปแบบ Realistic มากขึ้นทั้งรักแห่งสยาม, Yes or No อยากรักก็รักเลย, Home ความรัก ความสุข ความทรงจำ, พี่ชาย My bromance และล่าสุด Father ที่หยิบประเด็นการสร้างครอบครัวของกลุ่มเพศทางเลือกมาพูดถึงเพื่อให้เกิดการยอมรับ ภาพยนตร์รักจึงไม่ใช่แค่เรื่องราวโรแมนติกอย่างในฝัน หากยังเป็นเครื่องมือดีที่สุดที่จะช่วยการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและทัศนคติทางความคิดให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง