นายกฯย้ำผลงานคสช.แก้ปัญหาหลายด้าน-เดินหน้ารถไฟทางคู่-รถไฟฟ้า

การเมือง
12 ก.พ. 59
22:00
335
Logo Thai PBS
นายกฯย้ำผลงานคสช.แก้ปัญหาหลายด้าน-เดินหน้ารถไฟทางคู่-รถไฟฟ้า
นายกฯย้ำผลงานคสช.แก้ปัญหาหลายด้าน ระบุยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีจำเป็นต่อการปฎิรูปประเทศ แม่น้ำ 5 สายทำงานดีทุกอย่างเดินตาใโรดแมป พร้อมชี้แจงความคืบหน้ารถไฟฟ้า 10 สาย ระบุโครงการรถไฟหลายเส้นทางยังติดขัด

วันนี้ (12 ก.พ.2559) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย วันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 20.15 น. ดังนี้

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน

วันนี้ผมมีเรื่องสำคัญที่อยากจะเรียนให้ทราบนะครับ สัปดาห์นี้


เรื่องที่ 1. นะครับ ประชาชนทุกท่านอยากให้ทุกท่านลองพิจารณาดูนะครับว่าท่านทราบหรือยัง ว่าสิ่งที่รัฐบาลนี้ คสช. ได้ดำเนินการไว้มีอะไรบ้างนะครับ ช่วยกรุณาพิจารณาคิดย้อนกลับไปดูนะครับว่า อะไรที่เราทำเสร็จแล้ว อะไรที่เริ่มทำ แล้วมีการแก้ไขอะไรเปลี่ยนแปลงไปแล้วบ้างนะครับ อะไรที่ต้องเริ่มต้นใหม่ แล้วทำต่อเนื่องนะครับ


หลังจากเข้ามา 22 พ.ค.57 คสช. ได้นำความสงบสุขกลับคืนมานะครับ ได้ดำเนินการสร้างเสถียรภาพด้านความมั่นคงให้กับประเทศ ปลดล๊อคในทุกเรื่องที่ติดขัดทั้งๆ ที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง ความขัดแย้งในเรื่องอื่นๆ ด้วยก็ตาม ตลอดจนกระบวนการประชาธิปไตยที่มีข้อจำกัด เพื่อจะขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้นั้น เราได้นำทุกเรื่องเข้าสู่การพิจารณาดำเนินการนะครับ โดยเฉพาะเรื่องคดีต่างๆ ก็นำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ฯลฯ


ในส่วนของการบริหารราชการแผ่นดินในห้วงต่อมานั้น ผมได้พบปัญหาต่างๆ ที่สะสมมากมายนะครับ ของประเทศเรานี้ มีหลายอย่างด้วยกัน อาทิ ปัญหางาช้าง ,ปัญหาการค้ามนุษย์, ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย, ปัญหาการบินพลเรือน ตลอดจนความไม่เป็นสากลต่างๆ กฎหมายที่ไม่ทันสมัยเหล่านี้เป็นปัญหาทั้งสิ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสถานะของประเทศในเวทีโลก ในการค้า การลงทุน ทั้งสิ้น สำหรับปัญหาภายในประเทศที่ต้องเร่งแก้ไข ได้แก่ปัญหาความมั่นคงหลายอย่างด้วยกันนะครับ ทั้งในส่วนของการบูรณาการ การสร้างความเชื่อมั่น ในการลงทุนจากต่างประเทศ ปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ, ปัญหาความเดือนร้อนของพี่น้องเกษตรกร, ปัญหาในการจัดระเบียบสังคม ถนนหนทาง การขายของ ปัญหาการทำงานที่ไม่บูรณาการ นะครับ ผมเคยกราบเรียนแล้วว่าจะต้องบูรณาการทั้งคน เจ้าหน้าที่แผนงานโครงการ และงบประมาณนะครับ เพื่อจะไม่ซ้ำซ้อนกัน ทำในเวลาเดียวกัน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ เป็นพื้นที่ หรือเป็นกิจกรรมซึ่งเรากำลังเดินหน้าอยู่นะครับ ปัญหาทีแก้ต่อไปคือปัญหารัฐวิสาหกิจที่ต้องมีการฟื้นฟู นะครับ จากภาวะการขาดทุนแล้วอาจจะมีความไม่โปร่งใสในบางประเด็น รัฐบาลก็พยายามจะแก้ไขนะครับ ซึ่งทุกอย่างต้องใช้เวลาด้วย ถ้าเร็วเกินไปก็อาจจะมีปัญหาต่อไปในอนาคตนะครับ ทุกอย่างเดินหน้าไปได้ด้วยดี ในระดับที่เป็นที่น่าพอใจนะครับ อย่างไรก็ตามรัฐบาลและ คสช. นั้นปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้อยู่แล้ว ในการบริหารราชการแผ่นดินในวันนี้ นะครับ ก็เป็นโอกาสที่พวกเราเข้ามาพอดีเศรษฐกิจโลกตกต่ำลงทั้งหมดนะครับ ด้วยสาเหตุหลายๆ อย่างด้วยกัน ทุกเรื่องถ้าเรายังไม่มีความพร้อมต้องรีบแก้ไขนะครับ ต้องปรับปรุง ต้องสร้างความเข้มแข็ง เร่งช่วยเหลือผู้เดือดร้อน เพื่อเป็นการบรรเทาไประยะหนึ่งก่อนนะครับ แล้วก็เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจเพราะงั้นรัฐบาล และคสช. รวมทั้ง สนช., สปท., กรธ. ก็ได้ดำเนินการในทุกเรื่อง หลายเรื่องเสร็จแล้ว, หลายเรื่องกำลังทำ หลายเรื่องต้องทำต่อเนื่องอีกมากมาย นั่นแหละครับคือเหตุผลที่ผมต้องพูดมากทุกวันนี้ เพราะบางทีก็ลืมไปแล้ว ลืมไป ปีกว่าๆ 2 ปีลืมหมดนะ


ในเรื่องการปฏิรูปนะครับ สิ่งสำคัญคือ ทุกเรื่องต้องมีการประสานสอดคล้องกันทั้งหมด ตั้งแต่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทุก 5 ปี นโยบายความมั่นคง ของ สปช. แล้วก็แผนงานของทุกส่วนราชการ รวมความถึงแผนการปฏิรูปที่เราได้วางไว้ แผนการปฏิรูปในช่วง 1-5ปี แล้วสอดคล้องกับแผนสภาพัฒน์ฯ 5 ปี แล้วไป 4 แผน 4 x5 =20 นะครับ เพราะงั้นเราได้เตรียมแผนปฏิรูปไว้เป็นระยะนะครับ ระยะที่ 1 คือ ถึงปี 60 รัฐบาลนี้ยังอยู่นะครับ อันนี้คือใช้แผนที่ 12 เริ่มต้นเราจะเอา แผน 12 นี่ บางอย่างที่เราร่างไว้แล้วนี่มาขับเคลื่อนให้ได้ก่อนปี 59 ในปี 59 นี้นะครับ เพราะงั้นวันนี้เรากำลังสร้างความเข้มแข็งของประเทศ วางพื้นฐานทั้งหมดเหลือเวลาของผมอีกประมาณ ปีกว่า ๆ นะครับถึงปี 60 หลังปี 60 ไปแล้วนั้น เป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 12 เต็ม ๆ เพราะงั้นเราก็ต้องวางว่า 60-64 จะเป็นยังไง 65-69 จะเป็นยังไง 70-74 เป็นยังไง 75-79 จะเป็นอย่างไรนะครับ นั้นคือยุทธศาสตร์ 20 ปี แล้วมองย้อนกลับมานะครับว่าเราจะทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ แผน 12 – 15 ได้อย่างไร เพื่อเป็นการประเมินผลความคืบหน้าในการบริหารราชการแผ่นดิน ของรัฐบาลทุกรัฐบาล ถอยหลังมาทุก 5 ปี นะครับ แล้วกำหนดเป้าหมายไว้ล่วงหน้า แล้วมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลต่อๆ ไป ในลักษณะที่ จะต้องมีความเหมาะสม สอดคล้อง
เพราะงั้นการปฏิรูปประเทศนั้น เราอาจจะต้องทำไปอย่างต่อเนื่องนะครับ บางเรื่องอาจจบภายในปีเดียว หรือภายใน 5 ปี หรือภายใน 1 ปี หรือภายในเวลา 20 ปี อาจจะนานกว่านั้นก็ได้นะครับ เพราะว่าโลกเปลี่ยนแปลงไปเยอะ 20 ปีข้างหน้า ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น วันนี้เราต้องเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้นะครับ สถานการณ์โลกมันเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ปัจจัยภายนอกเป็นสิ่งสำคัญ ทุกประเทศในโลกนี้มีผลกระทบทั้งสิ้น เพราะงั้น การบริหารประเทศของทุกรัฐบาลต่อไปนี้ ต้องทันต่อทุกสถานการณ์นะครับ มีการวางแผนล่วงหน้าตลอดเวลา มีมาตรการลดความเสี่ยงนะครับ แล้วมีกลยุทธ ยุทธศาสตร์ตามห้วงระยะเวลาที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนด้วยนะครับ

การปฏิรูปประเทศนั้น อย่าใจร้อนมากนะครับ เพราะว่ามหาอำนาจบางประเทศผมไม่อาจจะกล่าวนามได้นะ ยังไม่หยุดการปฏิรูปเลยวันนี้ เพราะว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังมีรายได้น้อยอยู่นะครับ มากกว่าเราอีก แต่ส่วนรวยคือรวย ส่วนตรงกลางก็ตรงกลาง แต่เขามากกว่าเรา เพราะงั้นอย่างไรก็ตามเขาต้องพัฒนาไปสู่ข้างล่างเพราะว่าเป็นสาเหตุของการที่มีความขัดแย้ง หรือ ความเหลื่อมล้ำในสังคมนะครับ ในเรื่องของอาชีพ รายได้ ทำให้มีช่องว่างในการพัฒนานะครับ


ประชาชนอาจจะไม่มีความสุขถ้าเขามีรายได้น้อย หนี้สิ้นมาก บ้านเราก็เป็นมากนะครับ เรื่องนี้ที่ผมกล่าวนี้ เราต้องแก้ปัญหานะครับ แล้วก็ไม่ใช่แก้ทั้งหมดที่เดียว มันแก้ไม่ได้หรอกครับ เพราะงบประมาณจำนวนมาก เราต้องทำทั้งระดับบน-กลาง-ล่าง คือรวยมาก รวยน้อย ตรงกลาง มาถึงรายได้น้อย จะต้องเกื้อกูลซึ่งกันและกันนะครับ เราเรียกว่า อยู่ในวงจรที่เรียกว่า “ห่วงโซ่คุณค่า”ต้องพึ่งพาอาศัยกัน เกื้อกูลต่อกัน พี่จูงน้อง อะไรเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้น ในสังคมไทย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปนะครับเราต้องเข้มแข็งจากทั้งภายในประเทศ ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ก็คือชุมชน จังหวัด กลุ่มจังหวัดนะครับ แล้วก็ไปต่างประเทศ เราต้องร่วมมือกันทำงานกันแบบ “ประชารัฐ” นะครับ ในทุกๆ อย่าง ทั้งในการบริหารราชการแผ่นดิน การปฏิบัติงานในพื้นที่ ความร่วมมือของทกภาคส่วนนะครับ ต้องร่วมมือกันให้ได้ เพราะงั้นผมก็อยากเรียน บรรดากลุ่ม NGO ทั้งหมดนะครับ ขอความกรุณาต้องเข้าใจนะครับ ว่าบางอย่างนั้นเราต้องเดินหน้าประเทศนะครับ เพราะงั้น ก็ขอให้ทุกคนได้พิจารณาดูให้ถ่องแท้นะครับ ว่าสิ่งที่ทำไปนั้นมีประโยชน์กับใคร หรือทำให้ใครเสียประโยชน์ และอะไรมาก อะไรน้อย แล้วจะแก้ปัญหาที่เสียประโยชน์อย่างไร ประโยชน์ส่วนใหญ่จะได้มาเพื่อส่วนรวมหรือเปล่า เห่านี้เป็นสิ่งที่ท่านต้องพิจารณาใหม่นะครับ ไม่งั้นมันเกิดปัญหาทั้งหมด แล้วท่านก็บอกว่ารัฐบาลนี้ทำอะไรไม่ได้เลย ทุกรัฐบาลนะครับ ทำไม่ได้หมดเพราะว่าขัดแย้งกัน ไปในตัวอยู่แล้ว โดยปัจจัยพื้นฐานบางอย่างต้องเปลี่ยนแปลง บางอย่างต้องมีการเปลี่ยนวิธีการถ้าท่านบอกว่าเอาพื้นฐานเดิมมาหมด ก็ไม่ได้ ก็ต่อต้าน ขัดแย้งกัน ทั้งหมด ทำอะไรก็ไม่สำเร็จหรอกครับ ประเทศก็ไปไม่ได้ เราก็มีผู้มีรายได้น้อยอยู่แบบนี้ ตลอดเวลานะครับ


ถ้าท่านได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่าง แม่น้ำทั้ง 5 สาย นะครับ ผมได้จัดทำแผนผังขึ้นมาเพื่อให้เกิดความเข้าใจง่ายๆ เดี๋ยวท่านคงได้เห็นกันทั่วไปนะครับ กรุณาดูสักนิดหนึ่งนะ ว่าวันนี้เราทำงานมากมายแค่ไหน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 22 ทุกอย่างเดินหน้าไปตาม Road Map ที่ผมกำหนดไว้ทั้งสิ้น แล้วมีกิจกรรมในนั้นทั้งที่เขียนลงไปแล้ว บางอย่างก็อาจจะลงไปยังไม่ครบ แต่ให้รู้ว่าเราต้องเดินหน้าประเทศแบบนี้นะ ทั้ง 6 กลุ่มนะครับ ที่เรามีรองนายกรัฐมนตรีกำกับอยู่ในขณะนี้นะ ทั้ง 19 กระทรวงนะครับ ที่กำลังเดินหน้าประเทศอยู่ เพราะงั้นเรา จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกพวก ทุกฝ่ายนะครับ แม้กระทั่งฝ่ายการเมืองที่จะอาสาเข้ามาทำงานให้กับประเทศในห้วงต่อไป เพราะงั้นประชาชนที่เลือกท่านเข้ามานั้น ขอให้ท่านเคารพในสิทธิของเขาบ้างนะครับ สิทธิของประชาชน ไม่ต้องรอให้เขาขอความช่วยเหลือทุกครั้งไป แล้วถึงจะช่วย หรือเลือกช่วย หรือเฉพาะ เพื่อเป็นฐานเสียง อะไรต่างๆ เหล่านี้ ผมว่าผิดหลักการประชาธิปไตยนะครับ หลายท่านได้กล่าวไว้แล้วนะครับ ในขณะนี้

เรื่องที่ 2 คือการดำเนินการดังกล่าวนั้นจำเป็นต้องมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือมีกฎหมายลูก เพื่อให้ดำเนินการต่อไปได้อย่างต่อเนื่องนะครับ ผมกล่าวไปแล้วเรื่องปฏิรูปเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ เรื่องความมั่นคง นโยบาย ทุกอย่างไม่ใช่เดินไปทีเดียวแล้วเลิกปีหน้าเปลี่ยนใหม่มันเป็นไปไม่ได้ เราก็จะไม่มีสะเปะสะปะ ไม่มีทิศทางหางเสือ เพราะงั้นอันนั้นแหละคือเข็มทิศนำทางทั้งหมดนะครับ เพราะงั้นใช้เข็มทิศให้เกิดประโยชน์ด้วย ไม่งั้นเราจะเกิดปัญหากับการบริหารราชการแผ่นดินไปอนาคต ผมเข้าใจดีนะครับว่ารัฐบาลต่อไปก็อาจจะเกิดยังไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ ว่าสิ่งที่ผมทำไว้แล้วนี่ จะทำให้ท่านลำบากหรือเปล่า ผมกราบเรียนว่าถ้าทุกคนจะต้องลำบากนะ ลำบากด้วยความบริสุทธิ์ใจ ลำบากเพราะเราทำทุ่มเทให้กับประชาชน ผมว่านั่นแหละคือความลำบากที่ต้องเจอ ไม่ใช่ลำบากในการที่จะใช้จ่ายงบประมาณ ลำบากในการที่จะทำนโยบายต่างๆ ที่เป็นปัญหา ไม่ใช่ๆ ผมไม่ต้องการอย่างนั้น เพราะงั้นท่านก็กรุณาบริหารราชการแผ่นดินในลักษณะที่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ เป็นไปตามแผนปฏิรูป เป็นไปตามนโยบายด้านความมันคง นะครับ แล้วก็เดินไปสู่การบริหารราชการแผ่นดินในสิ่งที่ท่าน เป็นรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง มีนโยบายพรรค มีอะไรต่างๆ ท่านก็ว่าของท่านไป เรากำหนดแนวทางไว้ให้ มีแผนสำเร็จรูปไว้ให้ แต่ท่านจะทำหรือไม่ทำก็ขึ้นอยู่กับท่านนะ ท่านก็ต้องตอบสภา ตอบในส่วนที่ต้องตรวจสอบทั้งหมด มีเหตุผลความจำเป็นอย่างไรถึงทำ ไม่ทำ อะไรก็แล้วแต่ ผมไม่บังอาจไปบังคับท่านได้อีกต่อไปแล้วนะครับในวันหน้า เพราะงั้นทุกคนจะต้องสร้างความเข้มแข็ง สร้างความมั่นคง สร้างความเชื่อมั่น ไว้เนื้อเชื่อใจในการที่จะ ทำอะไรก็ตามเพื่อจะเพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศนะครับ ทำเพื่อประชาชน เราต้องปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ การเกษตร อุตสาหกรรม การค้าการลงทุนนะครับ และทุกอย่างต้องเข้มแข็งจากภายในตามแนวทางพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระดับหมู่บ้านชุมชนจังหวัด กลุ่มจังหวัด ไปการค้าชายแดน ไป CLMV ไปอาเซี่ยนไปประชาคมโลกอื่นๆ นะครับ


เพราะงั้นรัฐบาลนี้จะทำแผนระยะยาวไว้ 20 ปี แผนที่ว่าไม่ใช่แผนที่จะต้องลงละเอียดเป๊ะๆ ไม่ใช่ บังคับท่านไม่ได้ แต่จะเป็นกรอบที่จะต้องเป็นเข็มทิศนำทางที่ผมเรียนท่านแล้วนะ เป็น Road Map ในทุกเรื่อง ในนั้นจะบรรจุในเรื่องของแผนปฏิรูปไว้ด้วยนะครับ ให้สอดคล้องกับแผนตรงนี้ สภาพัฒน์ฯ ก็ทำแผน 5 ปี สอดคล้องกับตรงนี้ ทุก 5 ปีก็เปลี่ยนได้ ยุทธศาสตร์ที่ว่านี่ ถ้ามีความจำเป็นนะครับ เช่นในเรื่อง การบริหารจัดการน้ำ, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วันนี้ต้องรู้แล้วว่าประเทศไทย 20 ปีข้างหน้าจะเดือดร้อนอะไร วันนี้เราเดินมาเท่าไรแล้ว ราต้องเดินอะไร ระยะที่เหลือ ทุก 5ปี ๆ หรือทุกปีที่เป็นเรื่องของท้องถิ่น นี่แหละครับถึงจะไปสู่การกระจายอำนาจ การใช้จ่ายงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ ถ้าหากท่านวันหน้ามีปัญหากันนะครับ ในเรื่องเหล่านี้ก็เป็นเรื่องของสภาทั้งสองสภา ก็ต้องไปหารือร่วมกันว่าจะทำยังไง จะแก้ปัญหาอย่างไรนะครับ ใครจะเป็นคนตัดสิน ไม่รู้ ท่านต้องไปสร้างความเข้าใจให้ได้ก่อน อย่ามองว่าทำอันนี้เพื่อจะอย่างโน้นอย่างนี้ แสดงว่าท่านก็คิดว่าจะมีเรื่อง จะมีความทุจริต จะมีความขัดแย้ง ใช่หรือไม่ ถ้าเราคิดว่าทุกคน พยายามไม่ไปสู่ความขัดแย้ง ไม่ไปสู่ประเด็นแห่งปัญหา ทั้งหมดผมว่าไม่ต้องไปกลัวใครทั้งสิ้น เพราะทำอะไรท่านไม่ได้อยู่แล้ว แม้กระทั่งทำแบบผมก็ทำไม่ได้ ถ้าไม่มีสาเหตุนะ แล้วก็ให้แก้ปัญหาอะไรก็แก้ไม่ได้ ก็ต้องดำเนินการตามที่ผมทำมานี่แหละนะ เพราะงั้นขอให้แยกแยะให้ออกว่าอะไรยุทธศาสตร์ อะไรคือนโยบายพรรค อะไรคือนโยบายรัฐบาล อะไรคือประชาชนนะ ขอให้ดูด้วยนะครับ ฝากไว้แล้วกัน ประชาชนช่วยกันดูด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศเป็นไปตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้คือความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ประชาชนเป็นศูนย์กลาง แก้ปัญหาเรื่อ’ความความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความเท่าเทียมความเป็นธรรม ประชาชนทุกคนได้เห็นอนาคต 20 ปีข้างหน้า คือเด็กรุ่นใหม่ที่เกิดมา ปี 60 นี่ นะ เกิดพร้อมแผน 12 นี่นะ เขาจะได้รู้ว่า 20 ปีข้างหน้า เขาเรียนหนังสือ จบปริญญาตรีแล้วเขาจะเห็นอะไรประเทศเขา เขาจะได้คิดว่าจะเรียนหนังสือยังไง เขาจะพัฒนาตัวเองอย่างไร เพื่อจะไปสู่จุดๆ นั้นเมื่อเขาจบปริญญาตรี อายุ 19 -20 อะไรทำนองนี้ ผมก็คิดห่านไว้แบบนี้นะครับ ถูกหรือผิดก็ไปคิดกันเอาเอง

เรื่องที่ 3. ทุกรัฐบาลนั้นจะต้องเอาปัญหาประเทศมาเป็นตัวกำหนดนะครับ แยกปัญหาออกให้ชัดเจน ปัญหาหลัก ปัญหารอง ปัญหาที่เป็นปัจจัยเสริมให้ปัญหานี้แรงขึ้น ความขัดแย้งแรงขึ้นท่านต้องเอาปัญหาทุกอันมาคลี่ดูให้หมด แล้วเอาประชาชนทุกคนในประเทศมาเป็นเป้าหมาย การจะแก้ปัญหาเหล่านี้เพื่อให้เกิดผลกับประชาชนมีความสุข ระหว่างทางนี้ เราก็มาสู่วิธีการบริหารราชการแผ่นดิน ที่เป็นธรรมาภิบาล ก็ต้องไปดูเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณด้วยนะครับ การจัดทำแผนงานโครงการ ทุกกระทรวงนั้น ถ้าหากว่าเราทำไปโดยไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาเหล่านี้ไปด้วยนี่ ไม่อาจจะนำประเทศไปสู่ความเข้มแข็งได้เลย เพราะงั้นเราจำเป็นต้องมีการปฏิรูปทั้งหน่วยงาน ทั้งโครงสร้าง ทั้งกระบวนการ ที่จะนำไปสู่ความมั่งคั่ง อย่างแท้จริง

เรื่องที่ 4. คือ การที่จะเพิ่มขีดความ สามารถของประเทศนั้น จะต้องมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนนะครับในทุกประเด็น กราบเรียนไว้แล้วว่าต้องมีมาตรการลดความเสี่ยง และรู้ว่าปัจจัย ภายนอก สถานการณ์โลกจะเป็นยังไง โดยการประเมิน ผมคิดว่ามีหน่วยงานเยอะแยะไป ของ UN ก็มี ประชาคมแต่ละประชาคมก็มีนะครับ ทุกคนก็เขียนแผน เขียนกลยุทธกันไว้หมด เอามาศึกษาซะบ้างนะ เราจะได้ทำแผนสำรองไว้ ให้สอดคล้องการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นโลกร้อน ภัยพิบัติ น้ำแล้ง หรือการสู้รบ อะไรก็แล้วแต่ เขาเรียกว่าภัยคุกคามรูปแบบใหม่ไงนะ เพราะงั้นให้ปัจจัย ภายใน ภายนอก สถานการณ์โลกมาเป็นตัวกำหนดด้วยว่าเราจะแก้ปัญหาแล้วเตรียมการประเทศเราให้พร้อมอย่างไร เข้มแข็งได้อย่างไรนะครับ

เรื่องเศรษฐกิจนั้น เป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสเหมือนกัน กับทุกคน ทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยก็หนักนะ เพราะเรามีประชาชนผู้มีรายได้น้อย ทำการเกษตร แล้วก็อาชีพอิสระอื่นๆ ประมาณสัก 30-40 ล้านคนนะ ในท้องถิ่นต่างๆ เพราะงั้น อาจจะไม่เข้าใจคำว่า “เศรษฐกิจ” มากนักนะครับ ต้องเห็นใจ พ่อแม่พี่น้อง เพราะวันๆ ก็ทำงานหาเงิน เลี้ยงลูก เลี้ยงครอบครัวมาโดยตลอด อาจจะไม่มีเวลาที่ศึกษาในรายละเอียดนะครับ เพระงั้นก็ให้ทุกคนช่วยกันถ่ายทอด สร้างความเข้าใจ สร้างการเรียนรู้นะครับ ให้ได้มากที่สุดนะ เพราะ “เศรษฐกิจ” ผูกพันหลายอย่างด้วยกัน ตั้งแต่ส่งออก – นำเข้า ตั้งแต่ภาษี รายได้ประเทศ เศรษฐกิจ ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ต้องเกื้อกูลกันอย่างไร ถ้าเรามองแต่เพียงว่าหาเงินให้ประชาชนมีใช้ไปเรื่อยๆ แล้วจะเอาเงินที่ไหนไปใช้ให้เขา แล้วเขาจะเข้มแข็งหรือเปล่า วันนี้รับบาลพยายามทำทุกอย่างนะครับ ก็ขอให้เข้าใจด้วย ก็เสียใจทุกครั้ง เวลาทีทำอะไรไปแล้ว ไม่เข้าใจนะ เพราะงั้นเราต้องสร้างความเข้มแข็งให้ได้นะครับ อย่าไปทำอะไรที่เป็นเหมือนภาพลวงตา ไม่สร้างความยั่งยืน กลายเป็นว่าประชาชนกลายเป็นคนไม่มีเหตุ มีผลมันมาอย่างนี้ได้ยังไง ใช้อย่างนี้ได้ยังไง ไม่สนใจ สนใจแต่เพียงว่าเราได้อะไร เราไม่ได้อะไร อย่างนี้ไม่ได้ อย่างนี้เรียกว่าเราไม่ได้สร้างวัฒนธรรมในองค์กร หรือในประเทศของเราให้เป็นองค์ที่มีส่วนร่วมซึ่งกันและกันนะ ลำบากก็ต้องลำบากด้วยกัน แล้วก็ช่วยกันแก้ปัญหา พยุงเพื่อน พยุงน้อง พยุงพี่ อะไรก็แล้วแต่ ต้องจูงมือไปด้วยกันนะครับ เพราะงั้นให้คำนึงถึงความสัมพันธ์ปัจจัยภายใน ภายนอก เป็นหลักด้วยนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่เป็นธรรม / เหลื่อมล้ำ ปัจจัยภายนอก โครงสร้างเศรษฐกิจไทย ความเข้มแข็งภาครัฐ – ภาคธุรกิจ – ภาคประชาชน เหล่านี้ทั้งหมดต้องแก้ไข

5. เรื่องสำคัญที่มองเห็นอีกอย่างคือ การบูรณาการแผนงาน โครงการของทุกกระทรวง ในกิจกรรมเดียวกันนะครับ เช่น โครงการบริหารจัดการน้ำ โครงการปฏิรูปการเกษตรทั้งระบบ โครงการปฏิรูปเศรษฐกิจทั้งระบบนะครับ การปรับปรุงเรื่องการค้า การอำนวยความสะดวก กฎหมาย เรื่องการลงทุน สิทธิประโยชน์ อุตสาหกรรม ขยายศักยภาพในการทำอุตสาหกรรมให้ทันสมัยขึ้น รองรับการที่จะปรับเปลี่ยนการปฏิรูปเศรษฐกิจ ระยะที่ 4 ของโลกใบนี้นะครับ งานทุกงานนี่ หลายงานไม่ใช่กระทรวงเดียวทำสำเร็จนะ เช่นเรื่องน้ำ มีทั้งกระทรวงเกษตร, มหาดไทย,ทรัพยากรฯ มีหลายกรมอยู่ในนั้น เพราะงั้นถ้าทุกคนต่างคนต่างทำก็จะกระจายเป็นเบี้ยหัวแตกไปทั่ว เหมือนไปขุดตรงโน้น ตรงนี้ แต่ระบบส่งน้ำไม่มี ก็ไปสู่ผู้ใช้น้ำไม่ได้ยังไง แล้วก็บริหารจัดการไม่ได้ นี่คือปัญหาของเรา เพราะงั้นเราจะต้องมาทำงานในเรื่องของงบประมาณกันใหม่ ทำแผนโครงการกันใหม่ต้องมีการบูรณาการ ผมจะใช้ตั้งแต่ปี 59 ไปเลยนะครับ ถึงงบประมาณออกมาแล้ว แผนงานออกมาแล้ว แต่ผมจะจัดเข้ากรอบใหม่นะ และจะต้องจัดทำตาม Road Map ที่ผมมีอยู่ ปีกว่าๆ นี่ ให้ได้ อย่างน้อยก็ให้เกิดประโยชน์ให้จบเป็นพื้นที่ ตามความต้องการของประเทศ ตามความเร่งด่วนให้ได้ก่อนนะครับ ทำยังไงจะเกิดขึ้นได้พร้อมๆ กัน อันนี้เสร็จ อันนี้อาจจะยังไม่เสร็จ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ตรงกับความต้องการของประชาชนนะ แต่ถ้าทุกคนต้องการเท่ากันทั้งหมดมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะว่ามีความแตกต่างนะครับ
สิ่งที่ผมพูดมาทั้งหมด จะเข้ามาข้อ 6. นี่คือเราต้องมี การจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณใหม่ซึ่งผมกำลังให้ร่างอยู่ ถึงจะทำให้เกิดการบูรณาการอย่างนั้นได้ เพราะไม่งั้นต่างคนต่างทำแผน ต่างคนต่างใช้ ต่างคนต่างเบิกนะ ทำสัญญา ก็ทำคนละที่หมด วันนี้ต้องมาทำร่วมกัน แล้ววาง Road map ว่าทุกอย่างต้องทำพร้อมกัน เรืองน้ำ ทุกกระทรวงต้องเสนอกันมา พร้อมกัน เข้าครม. พร้อมกัน แล้วไปเปิดทำสัญญาพร้อมกัน ผมว่าน่าจะทำได้นะ กำลังทำอยู่ ถ้าใครไม่เห็นด้วยก็เสนอมาแล้วกัน ผมว่าเป็นสิ่งที่จะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจด้วยนะ ตรวจสอบก็ง่ายขึ้น แล้วก็จับต้องได้
ปรามกลุ่มต่อต้านรัฐบาล


เรื่องที่ 7. เรื่องการสร้างการรับรู้นะครับ รัฐบาลพยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจ ถึงแม้ว่าจะมีการต่อต้าน บิดเบือนอยู่มากพอสมควรนะครับ ผมก็ไม่ทราบว่าด้วยเหตุอะไรนะ วันนี้เราไม่ได้ห้ามใครแสดงความคิดเห็นอันบริสุทธิเลยนะครับ เว้นแต่อย่าทำผิดกฎหมาย เข้าช่องทางที่ไม่ถูกต้อง หรือไปวิพากษ์วิจารณ์โดยเจตนาไม่สุจริต เหล่านี้ ผมคิดว่าถ้าท่านยังทำอย่างนี้ต่อไป ก็สร้างความไม่เข้าใจไปมากขึ้น แล้วประโยชน์เกิดกับใครล่ะ หรือผลเสียเกิดกับใคร เกิดกับประเทศชาติใช่ไหม แล้วท่านไม่รับผิดชอบกันเลยหรือไง การที่ไปพูดจาต่างประเทศ ไปออกอากาศ ออกสื่อ สื่อก็รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ก็ขยายความออกไป สื่อดีๆ ก็เยอะอยู่แล้วล่ะนะ ที่พยายามไม่เข้าใจก็มีอยู่ไม่กี่สื่อนะ เพราะงั้นท่านต้องรับผิดชอบนะครับ เพราะงั้นถ้าทุกคนนี่เห็นต่าง แต่ต้องหาประเด็นเห็นร่วมกันได้ แล้วก็อย่าไปบิดเบือนว่าตัวเองนี่ทำความผิดแล้วจะต้องพ้นผิด เพราะใช้สิทธิมนุษยชน ใช้เสรีภาพ ใช้เป็นประชาธิปไตย มันไม่ใช่เวลาวันนี้ เพราะงั้นวันนี้ทุกคนก็อย่าไปเชื่อมากนักนะ ก็ไปพิสูจน์กันเอาเองวันหน้าก็แล้วกัน สิ่งใดที่เป็นภาพลวงตาที่เกิดขึ้น ทำให้ทุกคนลืมไปหมด นึกถึงแต่ตัวเองอย่างเดียว ว่าตัวเองทำไงจะดีกว่าคนอื่น มีหน้ามีตากว่าคนอื่น มีเงินมีทองใช้มากกว่า อยากมีอำนาจกันทั้งหมดด้วยเงิน ด้วยอิทธิพล ด้วยอะไร ผมว่าเลิกได้แล้ว ประเทศไทย หลายประเทศเขาเลิกไปหมดแล้ว เพราะงั้นถ้าเรายังทำแบบเดิม รอรับการช่วยเหลือ ประกอบอาชีพแบบเดิมๆไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีการเพิ่มเสริมเติมต่ออะไรก็แล้วแต่ ไม่พัฒนาทั้งความรู้ เทคโนโลยี ไม่ใช้น้ำอย่างประหยัด ทุกอาชีพไม่สุจริต รัฐบาลก็ต้องควักเนื้อไปให้เรื่อยๆ ดูแลแล้วเมื่อไรจะพอ แล้วเมื่อไรจะแข็งแรงซะที ต้องช่วยตัวเองบ้างนะครับ ฟังบ้างที่พูดออกไป ศูนย์แนะนำต่างๆ ก็มีทุกจังหวัด ท่านไม่ฟัง แต่ท่านต้องการเมื่อให้ไปไม่ได้เพราะไม่ตรงกับสิ่งที่เราวางเจตนารมณ์ไว้ ก็ให้ไม่ได้ท่านก็กลับมาโจมตีรัฐบาล เพราะงั้นท่านอยากให้รัฐบาลตามใจเหรอ มันง่ายนิดเดียว ผมก็ไม่ต้องทำอะไร ก็ไม่ต้องมาปวดหัว ไม่ต้องมาทะเลาะ ขัดแย้งกับใคร ม่ต้องหงุดหงิดด้วย ก็ขอร้องพี่น้องแล้วกันนะครับ ช่วยกันนิดหนึ่งนะ แต่ถ้าผิด ต่อไปก็มาว่าผมแล้วกัน ว่ามันผิด ผมจะได้ไม่พูด

เพราะงั้นอยากให้ประชาชนเข้าใจนะครับ ว่าเราหวังสร้างอนาคตให้กับประเทศ มันยากเหมือนกันในการปฏิรูป วันนี้ต้องปฏิรูปเกือบทุกอย่างนะ 37 วาระมั้ง เดี๋ยวท่านคงเห็นในผังที่ผมเขียนสรุปให้ไปนะ แต่วันนี้เราเริ่มต้นให้แล้วนะครับ ผมคิดว่าถ้าทุกคนร่วมมือตรงนี้นะ จะมีอนาคตแล้ว แต่ถ้าขัดแย้งกันตั้งแต่วันนี้ ตั้งแต่ประชามติ ตั้งแต่เลือกตั้ง ไปไม่ได้ทั้งหมด ล้มทั้งหมดน่ะ


ก็ขอร้องสื่อมวลชนนะครับกรุณาอย่าเสนอข่าวที่มีแต่ความรุนแรงมากนักเลย ภาพอาชญากรรม ความเสียหาย ความเดือดร้อน ความรุนแรง ไม่ทำให้เกิดประโยชน์กับใครทั้งสิ้นเลย นะโอเค คนสนใจ ขายหนังสือได้ แต่ประเทศชาติเสียหาย ท่านจะทำยังไง ให้ลดรูปเล็กลงหน่อย บางเรื่องเสียหายประเทศนะ รุนแรงเกินไป ก็หยุดซะบ้าง ตำรวจเขาจับแล้วก็คอยให้กระบวนการ ถึงเวลาพิจารณาคดีอะไรท่านก็ไปเสนอข่าวอีกทีได้ไหมล่ะ


ถ้าท่านมุ่งเน้นจะขายหนังสืออย่างเดียว ก็เป็นแบบนี้ แล้วต่างชาติเขาจะกลับมาเราไหมล่ะ มาเที่ยวเราไหม ความรุนแรงก็เกิดขึ้น คดีโน้น คดีนี้ เยอะไปหมด แต่เรื่อดีๆ อยู่หน้า3 หน้า 4 โน่น เรื่องหน้า 1 ตัวใหญ่เป้งทุกวันนี่นะ ทวนแล้วทวนอีกๆ จนกระทั่งแหมมันแทบจะเข้าไปอยู่ร่วมในเหตุการณ์ด้วยเลยนะ คนอ่านข่าวนี่อะไรเหล่านี้นะ คนเขียนข่าวนี่ หรือไปอยู่ในกระบวนการเขาไม่รู้นะ อย่าไปซักมากนัก คนเป็นเหยื่อ เป็นอะไรเขาก็อับอายบ้าง เสียความเป็นส่วนตัวละเมิดสิทธิมนุษยชนเขานะนั่นน่ะ ขอให้พยายามแก้ไขหน่อยนะครับ


เรื่องที่ 8. ก็คือตัวอย่างที่จะมีการนำพาประเทศชาติไปสู่อนาคตได้ ของรัฐบาลและ คสช. ในวันนี้ก็คือ อาทิเช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการคมนาคมทางราง เพื่อการเชื่อมโยงรถไฟ –รถไฟฟ้า – รถโดยสารพลังงานไฟฟ้า – รถรางไฟฟ้าล้อยางนะครับ กำลังคิดต่อว่าจะทำยังไงในพื้นที่ปริมณฑลที่การจราจรไม่ติดขัดมากนักนะครับไม่ต้องทำราง นะ ใช้สายไฟข้างบน ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าข้างบน เหมือนที่ต่างประเทศเขาใช้นะครับ ทำไงจะเชื่อมต่อกัน ตรงไหนควรใช้อย่างไร แม้กระทั่งการขนส่งในเมืองนะ ในเมืองใหญ่ หรือในเมืองท่องเที่ยวก็กำลังคิดอยู่ทั้งหมด แต่ถ้าเราไปทำอะไรมากๆเข้าในพื้นทีทีแออัดอยู่แล้วก็ลำบากนะ เพราะงั้นผมถึงบอกว่าต้องมีการจัดระเบียบใหม่ การวางผังเมือง การขยายเมือง วงรอบออกไป ไม่ใช่แออัดอยู่ข้างในมันไม่ได้แล้วนะ ต้องสร้างสังคมเมืองใหม่ขึ้นมานะครับ อันนี้คือปฏิรูประยะยาวด้วย เพราะงั้นเราจะต้องเพิ่มศักยภาพระบบขนส่งมวลชนเดิมนะครับ ให้ทันสมัย ลดปัญหาการจราจร และลดมลพิษ การใช้รถเก่ามากๆ ก็ไม่ดีนะ เพราะปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก็ขึ้นไปในอากาศมากมายนะครับ เราก็ต้องรักษาโลกให้ไม่ร้อนไปมากว่า 2% นะ เราก็ลงนามสัญญากับเขาไปแล้วด้วยนะครับ ทุกประเทศในโลกนี้ เพราะงั้นเราต้องเชื่อมกรุงเทพ – หัวเมือง, ตัวเมือง – ชานเมือง, ที่จอดรถ ที่พักคอยอะไรก็แล้วแต่ ให้ตรงกับความต้องการ ไม่งั้นก็ใช้ไปท่อนๆ ท่อนๆ ทุกคนก็ไม่สะดวกไง ทุกคนก็ขับรถกันหมด คนเดียวก็ขับ สองคนก็ขับ สามคนก็ขับ คือสรุปว่าใช้รถหมดทุกคนก็มีรถทุกบ้าน แล้วก็สร้างมลภาวะขึ้นไป แต่ถามบอกว่าไปขึ้นรถไฟฟ้าบอกขึ้นไม่ได้ เพราะมันไม่ต่อกันนะ ไปถึงก็จอดรถ ไม่มีที่จอดรถ ก็ห่วงรถ สู้ขับรถไปเลยดีกว่า มันก็ติดกันอยู่แบบนี้ไง เพราะงั้นกี่รัฐบาลแก้ไม่ได้หมด ต้องแก้ปัญหาเรื่องที่จอดรถอีกด้วยนะครับ วันนี้ผมให้นโยบายไปทำที่จอดรถใต้ดิน ในพื้นที่ที่แออัดมากๆ จะได้ลดการใช้รถในพื้นที่ที่แออัด คับคั่ง เช่นใกล้ๆ สถานที่ท่องเที่ยว ใกล้สถานที่ที่ เกี่ยวกับการค้า ซึ่งเหล่านี้มันทั้งรถ ทั้งคนน่ะ มันลำบากนะ อันตรายด้วย ถ้าเราทำที่จอดรถใต้ดินได้ ก็จะดีนะ หรือเป็นที่จอดรถที่มีหลายๆ ชั้น แล้วยกเลื่อนขึ้นลง ต่างประเทศลองดูแล้วกัน ทำได้ไม่ได้ แล้วก็อยากให้เป็นการร่วมทุนของภาคเอกชนบ้างนะครับ ก็ดีนะ จะได้ลดภาระของรัฐบาลลงบ้าง ผมขอเชิญชวนนะครับ บริษัทห้างร้านหรือธุรกิจขนาดใหญ่ช่วยกันลงทุนได้ไหม เรื่องที่จอดรถใต้ดิน ก็หารือกับกระทรวงการคลังนะครับ เป็นเรื่องของที่ดินต่างๆ ที่มันจะใช้ได้ หรือเป็นที่ด้านธุรกิจอยู่แล้วนะครับ ก็เพียงแต่ทำข้างใต้ลงไป ตัวเลขคร่าวๆ ผมจำได้ พื้นที่ใต้ดินเมื่อหลายปีมาแล้วผมทราบว่า 1 คันประมาณ 2-3 ล้าน ถ้าพูดถึง 200 คันก็ประมาณ 6-7 ร้อยล้าน คุ้มค่าหรือเปล่าไม่รู้ วันนี้เท่าไรไม่ทราบเหมือนกัน ไปถามพวกก่อสร้าง

เพราะงั้นโครงการรถไฟฟ้า 10 เส้นทางใน กทม. นั้น สายสีม่วง นะครับ บางใหญ่ – เตาปูน สร้างเสร็จแล้วนะ จะทดลองเดินรถเต็มรูปแบบ พฤษภา 59 ผมเคยนั่งมาแล้วล่ะวันทดลอง ก็ดีเหมือนกันนะสบายดี แล้วก็จะเปิดบริการ สิงหา 59 นะครับ เฉลิมฉลองวันเฉลิมพระชนม์ของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถด้วยนะครับ สายที่2 สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางแค และบางซื่อ– ท่าพระ ก่อสร้างไปแล้ว 70 % มีทั้งแบบใต้ดินและยกระดับนะครับ มีอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกของไทยนะครับ จะเปิดให้บริการ เมษา 62 ผมไปดูแล้วการเจาะอุโมงค์นี่ มีความทันสมัยมากนะครับ เส้นที่ 3 สายสีเขียว (ตอนใต้) ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ ก่อสร้างแล้ว 70 % นะครับ จะเปิดให้บริการ ก.พ. 61 และ ก็(4) ส่วนต่อขยาย สายสีเขียว (ตอนเหนือ) ช่วงหมอชิต –คูคต ก็จะเปิดให้บริการ ก.พ. 63 ต่อไป สายสีแดง ช่วงบางซื่อ – รังสิตนะครับ ก่อสร้างคืบหน้ากว่า 50 % จะเปิดให้บริการ กันยา 63 ต่อไป สายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ – พญาไท – มักกะสัน –หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ – หัวลำโพง ยังอยู่ระหว่างการศึกษาและการพิจารณาของ สศช. นะครับ สภาพัฒน์ฯ ที่ 7 สายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย –มีนบุรี ครม. มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อปลายปี 58 อยู่ระหว่างการจัดทำราคากลาง จะเริ่มประกวดราคา มกรา 59 เริ่มก่อสร้าง มีนา 60 ก็เริ่มไปแล้วนะครับในการประกวดราคานะครับ ดำเนินการอยู่ มีแผนจะเปิดให้บริการปลายปี 63 สำหรับสายสีส้มนี้จะเป็นโครงข่ายเส้นแรก เชื่อมแนวขวางของกรุงเทพฯ เรียกว่า East-West อะไรนี่นะ จะต้องมีแนวขวางด้วยนะครับ เมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้วเราสามารถจะใช้เส้นนี้เชื่อมโยงเข้ากับโครงการรถไฟฟ้าสายอื่น อีก 4 สาย ได้แด่สายสีแดง สีน้ำเงิน แอร์พอร์ตเรลลิงค์ นะครับ และสายสีชมพู จะสามารถรองรับผู้โดยสาร ราว 5 แสนคน/วันได้ ต่อไป สายที่ 8 สายสีชมพู มีนบุรี – แครายนะครับ และสายที่ 9 สายสีเหลือง ลาดพร้าว – สำโรง ทั้ง 8 และ 9 นี้เป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยวนะครับ ซึ่งพยายามผลักดันให้เปิดบริการในปี 63 เป็นโครงการที่เอกชนร่วมทุนกับรัฐนะครับ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ PPP เป็นการร่วมทุนนะครับ แล้วก็ สายที่ 10 ส่วนต่อขยายสายสีม่วงลงทางใต้ เตาปูน – ราษฎร์บูรณะ ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร นะครับ ผ่านเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน สถานที่ท่องเที่ยว และสถานที่สำคัญ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ EIA และเกาะรัตนโกสินทร์นะครับ

ส่วนการพัฒนาระบบรถไฟรางคู่ ขนาด 1 เมตร เดี๋ยวจะสับสนนะ ผมว่าทางคู่มากกว่านะ ไม่ใช่รางคู่เดี๋ยวจะเรียกกันผิด ทางคู่คือสวนกันได้ ถ้าเป็นรถไฟวันนี้เมืองไทยนะ วันนี้ก็มีคู่กันอยู่แล้วล่ะ ต้องมีซ้ายขวาไง ทางคู่นี่สวนกันได้ ไม่ต้องวิ่งทับเส้นทางเดียวกัน นี่เขาเรียกว่าทางคู่ วันนี้ก็ต้องใช้คำว่าทางคู่ แต่รางก็เป็นรางคู่อยู่แล้ว ก็เท่ากับ พูดง่ายๆ ก็มีราง 4 เส้น ไม่งั้นสับสนไปหมดนะครับ โดยทางเดี่ยวที่มีอยู่เดิม 4,000 กว่ากิโลเมตรนะครับ ที่วิ่งสวนกันไม่ได้นี่ ต้องทำเสริมเป็นทางคู่นะครับ วิ่งสวนคนละเส้นทาง ในระยะแรก ระยะทาง 905 กิโลเมตร เฉพาะในเส้นทางที่สำคัญในเชิงเศรษฐกิจนะครับ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ รองรับการขนส่งสินค้า ขนาดหนัก และเชิงสังคมนะครับ บริการประชาชน ไม่ว่าจะเป็นชั้นประหยัด เพื่อสะดวกในการขนส่งคนระหว่างเมือง จอดทุกสถานี และมีความปลอดภัยขึ้นนะครับ โดยเฉพาะจุดตัดต่างๆ ที่สำคัญสามารถย่นเวลาการเดินทาง โดยไม่ต้องรอสับหลีกราง เพราะสวนกันได้ คนละเส้นนะ ทั้งนี้มี 2 เส้นทาง ที่เริ่มก่อสร้างในเดือน ธันวา 58 ถึงต้นปี 59 ทำไปแล้วนะ ได้แก่ ช่วงฉะเชิงเทรา – คลอง 19 – แก่งคอย น่าจะเสร็จได้ในปี 61 นะครับ แล้วก็ช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น แล้วเสร็จปี 62 กับอีก 4 เส้นทาง ที่อยู่ระหว่างรอผลการพิจารณารายงาน EIA นะครับ ช่วง ช่วงประจวบคิรีขันธ์ – ชุมพร, มาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ, ช่วงนครปฐม – หัวหิน ลพบุรี – ปากน้ำโพ จากนั้นก็จะนำเสนอ ครม. นะครับ เมื่อผ่านการทำประชาพิจารณ์แล้ว ให้ ครม.พิจารณาอนุมัติโครงการต่อไปนะครับ

สำหรับเดิมนี่เรามีเส้นทาง Standard Gage อยู่ก็คือ 1 เมตรทุกวันนี้ใช้ 1 เมตรอยู่ รถไฟขนาด 1.435 เมตรนี่ เป็นรถไฟอนาคตนะครับ เพื่อจะเตรียมการสู่ การใช้รถไฟความเร็วสูง อย่างที่กราบเรียนไปแล้วว่าวันนี้เรายังไปไม่ถึงตรงนั้นหรอก การใช้บริการ ขีดความสามารถของผู้ใช้บริการ โดยสารอะไรต่างๆ ยังไม่พร้อม เราก็เตรียมทำไว้ก่อน ทำรางให้สามารถเป็นรถไฟความเร็วสูงได้ในวันหน้า แต่วันนี้เอารถไฟความเร็วปานกลางมาใช้ก่อน นี่คือความแตกต่าง ทุกคนไม่เข้าใจหรอก หลายอย่างมีการปรับเปลี่ยนนะครับ เช่นเรื่องของราคา ในเรื่องของสถานี ในเรื่องของความยาวของรถไฟนี่ ทางรถไฟ เหล่านี้ต่างกันหมด ไม่ใช่เอามาเปรียบเทียบ ของเก่าเท่านี้ ของใหม่ทำไมแพงกว่า อะไรทำนองนี้ ไปดูรายละเอียดเขาพูดหลายทีแล้ว ผมขี้เกียจชี้แจงแล้ว มองกันแต่ว่าทุจริต เอื้อประโยชน์ ทำไม่ไม่มองว่าเอ้อเราเข้ามาทำอะไร เจตนาคืออะไร จะดีไม่ดีก็แนะนำมา ผมก็พร้อมจะตรวจสอบ ผมก็จะไล่กระทรวงคมนาคมทั้งหมดนั่นแหละ เพียงแต่ขอให้มีหลักการ อย่าไปพูดตามสื่อ เสียหาย เสียความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วย ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะไทย ไม่ว่าจะประเทศไหนก็ตาม คือ 1 ประเทศ ใหญ่เล็ก เหมือนกัน ต้องเท่าเทียม ผมไม่ยอมใครอยู่แล้วล่ะนะ


เพราะงั้นในความร่วมมือไทย-จีนนั้นนะครับ ในช่วงกรุงเทพฯ – แก่งคอย ใช้ขนผู้โดยสารอย่างเดียว เพราะว่าอันนี้มีความจำเป็น ส่วนช่วงหนองคาย – นครราชสีมา, นครราชสีมา – แก่งคอย และแก่งคอย –มาบตาพุด บริเวณท่าเรือ/นิคมอุตสาหกรรม นี่จะใช้ทั้งขนคนและส่งทั้งสินค้า เดิมมีการพัฒนาทั้งหมดตลอดเส้น วันนี้ไม่ได้แล้ว ดูแล้วความพร้อมบางเส้นทางยังไม่สมบูรณ์เลย เพราะว่าคนบุกรุกเยอะ ต้องขยายเส้นทาง ต้องเวนคืน ต้องอะไรอีกเยอะแยะ ไปหมด ท่านไม่เข้าใจหรอกว่า เอะเราทำอะไรไปบ้าง ทำไมช้า ที่ผ่านมานี่ ก่อนๆหน้านี้นะ ก็จะทำโครงการเสร็จแล้วยกไปเลย ใครทำ ก็ทำไป ทุกอย่างไปทำเองหมด มันทำได้ไหมเล่า วันนี้ขนาดทำเองทุกอย่าง คิดอย่างนี้ยังไปไม่ค่อยจะได้เลย ความขัดแย้งก็สูง เข้าใจหน่อย เจตนาของเรานะครับ วันนี้ 1.435 เพื่ออนาคต วันหน้าต้องไป 1.435 แน่นอน เพราะกว้าง บรรทุกน้ำหนักได้มากกว่า แล้วก็เชื่อมโยงโน่น ไปไกลๆ โน่น ไม่ใช่วิ่งแค่นี้ 1.435 วิ่งแค่รอบบ้าน ไม่ใช่เลย เขามีเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก ตะวันออกโน่น ไปถึงยุโรปโน่น เราไม่เริ่มวันนี้จะไปตรงไหนล่ะ ถ้าเริ่มวันนี้เราไม่มีสตางค์ ก็เริ่มทำเฉพาะรางไปก่อน แล้วเอารถความเร็วปานกลางมาขึ้น อย่างน้อยก็เร็วกว่าความเร็วเดิม รถเก่าเราวิ่งเช้าถึง เย็นถึงนะ ต้องมีการลงทุนตรงนี้ไง ไม่ใช่เราจะไปเอื้อประโยชน์ให้กับใครๆ จะขาย รถไฟไม่ได้วิ่งทางเดียว วิ่ง 2 ทาง วิ่งไปแล้ววิ่งกลับ สินค้าก็ส่งได้ทั้ง 2 ทางแหละ สำคัญเรามีสินค้าส่งสู่เขาได้หรือเปล่า มีการพัฒนาระบบเศรษฐกิจการค้า การลงทุนหรอเปล่า พัฒนานวัตกรรมหรือเปล่า ถ้าไม่ทำยังไงก็เสียเปรียบทั้งชาติอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีรถไฟ หรือไม่มีรถไฟ นะ


เรื่องที่ 2 โครงการความร่วมมือรถไฟ ไทย – ญี่ปุ่น เรียกว่าแบบ “ชินคันเซ็น”, ระยะทางรวม 672 กิโลเมตรนะครับ อันนี้ กรุงเทพฯ – เชียงใหม่ เฉพาะการขนส่งผู้โดยสาร ยังทำอะไรไม่ได้เลยศึกษาความเป็นไปได้ก่อนนะครับ ก็มีความร่วมมือระหว่างกัน เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไทยกับญี่ปุ่นนะครับ แล้วมีความปลอดภัย ในขณะนี้ปลอดภัยที่สุดนะในโลก ของญี่ปุ่นนี่ ประเทศหนึ่งในหลายๆ ประเทศนะครับ คาดว่าจะศึกษาเสร็จในเดือนมิถุนา 59 แล้วก็จะดำเนินการต่อไป มีสตางค์หรือเปล่า ไม่มียังไง ประชาชนจะผ่าน EIA HEIA หรือเปล่า เพราะขึ้นทางเหนือนะ ถ้าอยากได้ก็ต้องลงทุนนะครับ แล้วทำให้เหมาะสมจะยังไง ขั้นที่ 1 จะเอายังไง แค่ไหน เส้นไหนก่อน เพื่อเป็นการทดลอง แล้วเป็นการให้ประชาชนเข้าใจก่อน บางทีลงทุนมากๆ ก็มีปัญหาอีก
เล็งสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หัวหิน


ในส่วนของที่3 ก็คือโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง อันนี่เราก็ไปคิดถึงเรื่องการลงทุนร่วม กับภาคเอกชนนะครับ ร่วมกับรัฐหรือ PPP Fast Track นะครับ จำนวน 2 โครงการ 2 เส้นทาง ก็คือ ช่วงกรุงเทพฯ – หัวหิน 211 กิโลเมตร และ กรุงเทพฯ – พัทยา – ระยอง 193 กิโลเมตร อันนี้จะเน้นการการขนส่งผู้โดยสารเช่นกัน ก็ต้องไปดูว่าได้หรือไม่ได้ยังไง แต่เป็นการวงแผนไว้อย่างนี้นะครับ ก็เดินหน้าไปก่อน มันไม่ได้ก็ว่าไง ก็ว่ากันมา เราสามารถจะรับนักท่องเที่ยว สามารถไป – กลับในวันเดียวได้ ไม่เสียเวลาเดินทาง เราต้องคิดถึงว่าวันนี้ วันหน้านี่ ถ้าเราสามารถขจัดความแออัดในเมืองออกไปได้ ในกรุงเทพฯ ออกไปได้ โดยคนในกรุงเทพฯ สามารถไปทำงานที่หัวหินได้ ไปเร็วกลับเร็ว ไปเช้า กลับเย็นได้ หรือไปเชียงใหม่ ไปเช้ากลับเย็น ก็จะทำให้การเจริญเติบโตไปข้างนอกได้มากขึ้น สร้างงานสร้างอาชีพ สร้างอะไรต่างๆ จะได้ไม่ต้องมาแย่งกันอยู่ในเมืองใหญ่อย่างนี้ไง นั่นแหละคือเหตุผลของการสร้างความเชื่อมโยง ในเรื่องของการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน ก็ต้องมีทั้งคน ทั้งสินค้า ทังเร็ว ทั้งช้า บางคนก็ไปเร็ว บางคนก็ไปช้า สินค้าก็ช้าหน่อย นี่ ต้องวางแผนเหล่านี้ วางไว้ 20 ปีข้างหน้า ต้องวางแบบนี้นะ


เรื่องต่อไปคือเรื่องโครงการพัฒนารถไฟฟ้านะครับ รถไฟฟ้านี่คือรถที่ใช้แบตเตอรี่ ต้องเติมไฟอะไรต่างๆ ระยะแรกเท่านั้นเอง อย่าไปเขียนกันเรื่อยเปื่อยนะ ว่ารัฐบาลจะยกเลิกการสนับสนุน อีโค คาร์ ยกเลิกได้ยังไง เราเป็นศูนย์กลางอยู่นะครับ อีโค คาร์ 1-2-3-4-5 วันนี้ จะไปเลิกได้ยังไง วันนี้โลกยังใช้อยู่ วันนี้ส่งออกเราก็ดีขึ้นนะ นี่รถไฟฟ้าเพื่ออนาคต เรายังทำไม่ได้หมด อนาคตคืออนาคตไง แต่วันนี้เราจะคิดได้ไหมล่ะ ถ้าวันนี้เราซื้อมาทดลองใช้ก่อน แล้วมาดูซิว่า สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญก็คือ คืออะไร สามารถสร้างมูลค่าของชิ้นส่วน ประกอบได้ ให้กับสถานประกอบการของเราในประเทศ SMEs ทั้งหมด ก็เป็นชิ้นส่วนอะไหล่ของรถไฟฟ้าเหล่านี้ ในอนาคตนะครับ วันนี้ยังทำไม่ได้หรอก อย่างมากก็ได้ตัวถัง แต่สิ่งสำคัญที่สุด ผมต้องเตรียมการวันนี้คือการพัฒนาเรื่องแบตเตอรี ลิเทียม ยังไง ซึ่งต้องใช้ในรถไฟฟ้า วันนี้เรายังไม่พร้อม เราผลิตเองไม่ได้ เพราะงั้นถ้าเราใช้วันนี้ก็แพง วันนี้รถไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้า รถเมล์ แพงกว่ารถแก๊ส รถน้ำมัน เยอะแยะหลายเท่า แพงเพราะอะไร แพงเพราะแบตเตอรี ตัวรถไม่แพงหรอกนะ มอเตอร์ ก็เรายังทำไม่ได้ทั้งมอเตอร์ ทั้งไฟฟ้า แล้วจะไปวันนี้ได้ยังไง ก็ต้องขอรับการสนับสนุน หรือลงทุนร่วม หรือจากมิตรประเทศนะ พัฒนาต่อไปในอนาคตนะครับ อย่าไปตกใจเดียวหาว่าผมไม่ส่งเสริมการทำรถยนต์ในประเทศอีก นี่ชอบไปบิดเบือนผมนะ


เรื่องรถยานยนต์ไฟฟ้า ก็อาจจะต้องเขาเรียกอะไรล่ะ ให้คนใช้ได้มากขึ้น ในระยะทางใกล้ๆ จดทะเบียนให้ได้ ก็กำลังทำอยู่นะ บางคนบอกว่าจดทะเบียนไม่ได้แล้วจะใช้ได้ยังไง นี่แหละเราแก้ปัญหาไม่ครบไง ให้ใช้นี่ ใช้โน่น ใช้แก๊สโซฮอล แก๊ส มันไม่ครบน่ะ ก็เกิดปัญหาหมด ผลิตออกมาก็ขายไม่ออก คนไม่ใช้ ใช้แก๊ส ก็ไม่มีปั้มแก๊ส มันคิดไม่จบ ดูหนังไม่จบเรื่องซะที เพราะงั้นเราจะต้องส่งเสริมให้ประทศไทยมีศักยภาพนะครับให้มีความเชื่อมั่น นโยบายภาครัฐ ภาคธุรกิจ ร่วมมือกับต่างประเทศ ไม่ใช่เขามาเอาประโยชน์จากเราไปฝ่ายเดียวนะครับ หลายเรื่องนะครับ กำลังผลักดันอยู่ การวิจัยพัฒนา เพื่อจะนำสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ในอนาคต รู้จักคำว่าอนาคตไหม ไม่ใช่วันนี้ ไม่ใช่ปีนี้ ไม่ใช่ปีหน้า ปีโน้นอะไร ยังไม่ใช่ อนาคตยาวหน่อยนะ อย่าไปตกใจ เราต้องใช้แนวทาง “ประชารัฐ” ขับเคลื่อนนะครับ ตั้งเป้าหมาย ยกระดับประเทศไทย ให้เป็นประเทศผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตให้ได้นะครับ จะโดยเร็วยังไงก็ว่ากันไป เพราะวันหน้ามันเปลี่ยนแปลงหรือเปล่าไม่รู้ แหล่งพลังงานมันเปลี่ยนไหม แก๊ส น้ำมันจะเป็นยังไง ไฮบริด จะใช้ได้หรือเปล่า ในวันหน้า วันนี้ไฮบริด อยู่แล้วไง วันหน้าถ้าพลังงานเปลี่ยน ถ้าเราไม่เตรียมการเอาไว้ วันโน้นก็เดือดร้อนอีก แต่ไม่ใช่วันนี้ วันนี้ยังไม่เดือดร้อนก็ทดลอง ศึกษา ค้นคว้าวิจัยไปก่อน ให้ราคาถูกลงนะ จะได้ไม่ต้องไปซื้อจากต่างประเทศมากนัก ใช้กับรถยนต์ไฮบริด อะไรทำนองนี้ ก็ใช้อยู่แล้วนะ รถไฟฟ้าเต็มระบบค่อยว่ากันอีกที พร้อมหรือยังล่ะ ไม่งั้นจะแก้ปัญหาเรื่อง ก๊าซเรือนกระจก ไม่ได้นะ วันนี้ต้องลดโลกร้อนลงให้ได้ แล้วก็ประหยัดเชื้อเพลิง ประชาชนก็มีความสุขนะ


อันนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศ เป็นก้าวหนึ่งของการปฏิรูปเหมือนกันนะครับ เรื่องของคำว่า ศูนย์กลาง วันนี้ยังไปไม่ถึงตรงนั้น แต่หลายประเทศนะ เสนอมาแล้วว่าอยากจะมาลงทุนเรื่องรถไฟฟ้านี่ในประเทศไทย ให้เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่จะเป็นฮับของการผลิตรถไฟฟ้าในอนาคต แล้วก็วันนี้เป็นฮับเรื่องการผลิตยานยนต์อยู่แล้วนะครับ เราได้มีการทบทวนเรื่องการใช้รถเมล์ของ ขสมก. อยู่นะครับ เดิมจะมีการจัดซื้อรถทั้งหมด จากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ 3,183 คัน ซื้อไม่ได้ซักที วันนี้เปลี่ยนมาเป็นการจัดหารถโดยสารไฟฟ้า 500 คัน อาจจะต้องเช่ามาก่อน 200 คัน คาดว่าจะได้รับรถในปี 60 นี้ เพื่อจะทดลองใช้ว่าเป็นยังไง ถ้าดี เราจะได้ไปผลิต ซื้อ หรือซื้มาแล้วให้เราประกอบเอง ใช้ชิ้นส่วนในประเทศต้องไปอย่างนั้นนะ ไม่งันมันก็มี ไม่มีทางเลือกไง ใช้น้ำมัน ใช้แก๊ส มาตลอด แล้วก็แก้อะไรไม่ได้ทั้งระบบ ตอนนี้กำลังแก้นะครับ

เรื่องการจราจรแออัด ลดมลพิษที่จอดรถ ต้องทำเหมือนกับประเทศอื่นๆ ในโลกนี้ เขามีรถรางไฟฟ้าเข้ามาอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสริมระบบขนส่งมวลชนเขตเมือง ในเมืองคงลำบากแล้วล่ะ มันแน่น สมัยก่อนเราเคยมีรถรางยังไง วันนี้มีแต่รางไม่มีรถ วันนี้ก็ไปอยู่ข้างนอกแล้วกัน ไปเชื่อมโยงข้างนอก ไม่ต้องมีรางใช้ล้อยางแล้วกัน ไปคิดเอา คิดอยู่ เรียกว่า “Light Rail” นะครับเหมือน นิวยอร์ก โตเกียว ลอนดอน ปารีส, นะครับ เรียกว่า “City Tram” เหมือน เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ เท็กซัส หรือ “Mono Rail” เหมือน ซิดนีย์ ลาสเวกัส หลายคนเคยไปมาแล้วนะ ผมก็ไปบางประเทศเท่านั้นแหละ แต่ผมก็เห็นมา ผมถึงมาสั่งได้นี่ ก็ไปคิดเอา ว่าจะทำได้ไหม คิดต่อไปแล้วกันนะครับ สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ก็คือการบริการประชาชน คือการใช้บัตรใบเดียว ระบบตั๋วร่วมนะครับกับทุกบริการขนส่งมวลชน กำลังดำเนินการอยู่นะครับ และอะไรต่างๆ ก็ตามทีเป็นเรื่องของสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย จะดูซิว่าจะทำได้ยังไง ลงทะเบียน ไม่ลงทะเบียน จะทำยังไง กำลังคิดกันอยู่ คณะกรรมการนะครับ ไม่ใช่สั่งแล้วเลิกแล้วอะไรทำนองนี้ เป็นเกิดขึ้นแล้ว บางอย่างเกิดไม่ได้ ต้องพิจารณากันถ่องแท้นะ โวยวายกันทุกอย่างไป เพราะมีคนไม่เข้าใจแล้วก็เริ่มก่อนทุกที โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียนี่ก็ไม่รู้ก็พูด จินตนาการเอาเองตลอด

เรื่องการออกแบบสถานีนะครับ สิ่งที่อำนวยความสะดวกนั้น น่าจะต้องเป็น “อารยสถาปัตย์” นะครับ ที่รองรับการเดินทางของผู้พิการ ผู้ใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือในการดำเนินชีวิต ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยพักฟื้น ตำรวจ-ทหารผ่านศึก สตรีมีครรภ์ และเด็กเล็กด้วยนะครับ

สำหรับโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เพื่อจะช่วยในการถ่ายเทการจราจรนะครับ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ และเปิดช่องทางสัญจรกรุงเทพฯ – หัวเมืองใหญ่ จำนวน 3เส้นทาง ได้แก่ สายพัทยา – มาบตาพุด สร้างแล้วเสร็จปี 62, สายบางปะอิน – นครราชสีมา จะลงนาม เม.ย. 59 เสร็จปี 63 และ สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี จะลงนามสัญญาก่อสร้าง ก.ค. 59 และกำหนดเสร็จปี 63 เช่นกันนะครับ


เรื่องสุดท้าย เรื่องร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประเด็นการเมือง ตลอดระยะเวลาเป็นเดือนมาแล้ว โดยเฉพาะ 2-3 อาทิตย์ที่แล้ว ที่ผ่านมาจนวุ่นวายไปหมดแล้ว ก็ให้เขาทำงานไป ท่านก็ไปศึกษา แล้วท่านก็ไปดูซิว่าจะลงมติกันยังไง แต่ต้องนึกถึงปัญหาประเทศนะครับ ฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง อีกฝ่ายหนึ่งอยากปฏิรูป ฝ่ายหนึ่งไม่สนใจ ประชาธิปไตยอย่างเดียว ไปไม่ได้หมดนะ ที่พูดกันทั้งหมดตั้งแต่ต้น ถึงเวลานี้ที่ผมเหนื่อยจะพูดนี่ ไปไม่ได้สักอัน ถ้าเรามองอย่างที่เรามองกันทุกวันนี้ ขัดแย้งกันทุกเรื่อง เพราะงั้นไปดูซิว่าอะไรสากล อะไรที่ต้องเปลี่ยนผ่าน มีกลไกอะไรไหม ผมพูดหลายครั้งแล้วนะ ไปคิดกันให้ได้แล้วกันนะครับ 


ตรวจสอบได้ยังไง ป้องกันปราบปรามยังไง ขัดแย้งกันจะทำยังไง ติดล็อคแล้วจะทำยังไง ทำงบประมาณไม่ได้จะทำยังไง รัฐบาลไม่มี... จะทำยังไง นี่เขากำลังคิดอยู่ทั้งสิ้น กมธ. เขาถึงออกรัฐธรรมนูญมาแบบนั้น แล้วไปตีเทียบกับโน่นนี่ มันเหมือนกันไหมล่ะ สถานการณ์เหมือนกันไหมล่ะ แต่เราไม่ได้ไปทาบทับอำนาจกับทางการบริหาร เพียงแต่ทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ ไม่เกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีกเท่านั้นเองวันนี้ก็ยังจะกลับไปที่เก่าอยู่นั้นแหละ เพราะงั้นไม่อยากให้เกิดขึ้นมาอีกนะครับ การใช้ความรุนแรง อาวุธสงคราม เจ้าหน้าที่ทำงานไม่ได้ จะทำยังไง

มันเกิดมาแล้วทั้งหมด อย่าบอกว่ามันไม่เคยเกิด แล้วจะไม่เกิดอีกนะ ถ้าประชาชนคิดเองยังไม่ได้ ไม่ทำความเข้าใจ แล้วก็ให้บรรดานักเคลื่อนไหวทั้งหมด หรือนักการเมืองที่ไม่ดีมาชี้นำประเทศ มันไปไม่ได้ ไม่หลุดพ้นล่ะครับกับดักประชาธิปไตย กับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง กับดักความล้มเหลว ไม่มีพ้น ไม่มีใครแก้ไขได้นะครับ รัฐบาล คสช. แม่น้ำ 5 สายก็แก้ไม่ได้ ถ้าไม่ทำกันวันนี้ช่วยกันล่ะก็ ประชาชน 70 ล้าน ต้องช่วยกัน อะไรร่วม อะไรต่าง ว่าไป ประเทศมาก่อน

- ปัญหาต่างๆ ในประเทศ นั้น สำคัญที่สุดคือการขาดแคลนน้ำ ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ เกษตรที่ไม่ใช้เทคโนโลยี ไม่มีเงินทุน ค่าใช้จ่ายในการต้นทุนสูง เราต้องมีมาตรการมารองรับนะครับ ทำยังไง ส่วนนี้ประทังความเดือดร้อน ส่วนนี้สร้างความเข้มแข็ง ส่วนนี้สร้างวงจรการผลิต ส่วนนี้ไปสร้างห่วงโซ่ มันต้องมีเงินไปทุกส่วน ไปทุกกิจกรรม ผมถามว่าใช้เงินเยอะไหมล่ะ เราหาเงินเพิ่มได้หรือยัง ก็ต้องไปดูระบบเศรษฐกิจ ว่าเราต้องปรับปรุงเศรษฐกิจ นำเข้าส่งออกยังไง ให้ได้ภาษียังไง เหล่านี้ อย่าไปคิดว่าไม่ใช่เรื่องของใคร หรือของรัฐบาลอย่างเดียวนะครับ ต้องช่วยเหลือแบ่งปันกัน อย่าคิดว่าต่างคนต่างอยู่ ต่างกลุ่มต่างทำ แล้วก็ไม่เกื้อกูลกัน ไอ้นี่กำไรมาก กำไรน้อยก็ให้ล้มละลายไป ไม่ใช่ ต้องทำยังไง ใหญ่ กลาง เล็กถึงจะเชื่อมโยงสร้าง สร้างขึ้นมา เล็กมากลาง กลางก็มาใหญ่ ใหญ่ก็ไปใหญ่มากโน่น ถึงจะไปอย่างนี้ ถึงจะลงมาสู่ประชาชนไง ทุกนต้องเผื่อแผ่นนะครับ “จิตสาธารณะ” ใช้หลักเกณฑ์ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ได้นะครับดำรงชีวิตให้ได้และมีภูมิคุ้มกันตนเอง และกลไกบ้าน-วัด-โรงเรียน ตามแนวทางพระราชดำริ ทำให้สังคม ปลอดภัยนะครับ มั่นคง ปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สิน สิ่งสำคัญ คือ การเคารพกฎหมาย จิตสำนึก อุดมการณ์ ประเทศชาติมาก่อน เคารพกระบวนการยุติธรรม รู้สิทธิ รู้หน้าที่ รู้เสรีภาพตามกฎหมาย อย่าไปรบกวนคนอื่นนะ เป็นพื้นฐานของ “ประชาธิปไตย” ที่ถูกต้อง อย่ามองเลือกตั้งอย่างเดียว ถือเสียงส่วนใหญ่ ไม่สนใจส่วนน้อย เรียกร้องสิทธิอย่างเดียว ไม่ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกัน ไม่ช่วยตัวเอง ไม่เข้มแข็ง หรือเป็นการทำอะไรก็ตามที่ผิดกฎหมาย หรือแสดงความเห็นต่าง ความไม่ร่วมมือ ตามสื่อ ตามโซเชียล-มีเดีย โดยที่ไม่มีข้อมูล ข้อเท็จจริงนะครับ ผมคิดว่าหลายๆ อันผิดกฎหมายนะ ผมเข้าใจว่ามันผิดกฎหมายนะ กำลังดูอยู่นะ การพูดจาที่ไม่มีสาระ ไม่มีหลักฐานนี่ พูดเรื่อยเปื่อยนะ อาจจะผิดกฎหมายด้วย ไม่ได้ขู่ เดี๋ยวหาว่าผมขู่อีก ผมไม่ชอบ คำ 2 คำนี่ ขู่ หรืออะไร จ้อ โม้ อะไรทำนองนี้ ผมเป็นนายกรัฐมนตรี ผมเป็นทหาร ผู้บัญชาการทหารบกเก่า ผมเป็นหัวหน้าคณะปฏิรูป ไม่ใช่หมู หมา กา ไก่ เพราะงั้นจำไว้ด้วย

วันที่ 14 – 18 ก.พ. ผมมีภารกิจเดินทางไปร่วมการประชุมสุดยอด อาเซียน – สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ณ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา นะครับ สำหรับรายละเอียดต่างๆ นั้น ผลการปฏิบัติงาน ผลการประชุม ผมจะนำมาเล่าให้ฟังต่อไปนะครับ ไม่อยากให้มีการขัดแย้งนะครับ ในต่างประเทศด้วย ขอบคุณบรรดาพ่อแม่พี่น้อง ที่จะไปรับผมที่โน่น ให้กำลังใจผม ขอบคุณนะครับ ขอให้อยู่ในความสงบ นะครับ ผมทำเพื่อทุกคน เพื่อประเทศชาติ ใครไม่ทำเขาก็ต้องมีผลกรรมของเขาเองนะ ทำไม่ดีล่ะก็ ประเทศไทยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เยอะแยะไป ขอให้ทุกคนมีความสุขนะครับ ที่ผ่านมาก็วันตรุษจีน วันนี้ก็เป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยเฉพาะ “วันแห่งความรัก” นะครับ ผมเป็นห่วงนะ บรรดาวัยรุ่น คู่รักต่างๆ ระมัดระวังตัวเองนะครับ ไปเที่ยวอะไรต่างๆ ผู้หญิงต้องระวังตัว มีคุณค่า ผู้ชายก็ให้เกียรติผู้หญิงบ้าง อย่าเอารัดเอาเปรียบนะครับ แล้วทำให้ประเพณีไทยเสียหาย เราไม่ใช่ต่างประเทศที่เขาเลยไปแล้วนะ วัฒนธรรมเราดีงาม สวยงาม ต่างชาติเขาก็เป็นแบบของเขามา ไม่ใช่เขาดีหรือไม่ดี ผมไม่ว่าเขา แต่ของเราเคยดีอยู่แล้ว อย่าทำ อย่าให้เดือดร้อนก็แล้วกันนะ ขอขอบคุณนะครับ ขอให้ “รู้ รัก สามัคคี” สำเร็จ ปลอดภัย มีความสุข

ข่าวที่เกี่ยวข้อง