ก.คมนาคมขู่เพิกถอนใบอนุญาต "นกแอร์" หากทำผิดซ้ำ

เศรษฐกิจ
17 ก.พ. 59
08:17
312
Logo Thai PBS
ก.คมนาคมขู่เพิกถอนใบอนุญาต "นกแอร์" หากทำผิดซ้ำ
กระทรวงคมนาคมยื่นคำขาดให้สายการบินนกแอร์เร่งปรับปรุงปัญหาภายใน หากทำผิดซ้ำซากจะเพิกถอนใบอนุญาตกิจการทันที โดยให้นกแอร์เร่งจัดทำแผนแก้ปัญหาระยะสั้นภายในวันที่ 18 ก.พ.2559

ภายหลังเกิดเหตุการณ์นักบินของสายการบินนกแอร์หยุดทำงานจนเป็นเหตุให้ยกเลิกเที่ยวบินกะทันหัน 9 เที่ยวบินในวันที่ 14 ก.พ.2559 จนส่งผลกระทบกับผู้โดยสารจำนวนมากที่ใช้บริการ ทำให้กระทรวงคมนาคมต้องเรียกผู้ประกอบการสายการบิน 14 แห่งมาประชุมหารือเมื่อวันที่ 15 ก.พ.2559

ขณะที่วานนี้ (16 ก.พ.2559) นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ชี้แจงแนวนโยบายเกี่ยวกับธุรกิจการบิน 4 ข้อคือ (1) ให้สายการบินทุกแห่งจัดทำแผนฉุกเฉิน มีผู้จัดการที่สามารถตัดสินใจได้ทันทีหน้างานหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินและนำแผนนี้ส่งต่อกระทรวงคมนาคมภายใน 1 เดือน (2) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) จะเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบคอมพิวเตอร์ของทุกสายการบิน เพื่อตรวจสอบได้ทันทีหากมีความผิดปกติเกิดขึ้น (3) กำชับให้ทุกสายการบินมีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่ชัดเจน ครอบคลุมถึงการยกเลิกเที่ยวบินและชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด และ (4) บทลงโทษสายการบินหากเกิดเหตุการณ์ยกเลิกเที่ยวบิน ซึ่งหากเป็นครั้งแรกจะตักเตือน ครั้งที่ 2 พิจารณาพักใบอนุญาตชั่วคราว และครั้งที่ 3 พิจารณาเพิกถอนใบอนุญาต

 

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.กระทรวงคมนาคม ยืนยันว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับการประเมินมาตรฐานความปลอดภัยของหน่วยงานด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป (เอียซ่า) ทั้งนี้ได้ให้สายการบินนกแอร์เร่งปรับปรุงปัญหาภายใน ซึ่งหากทำผิดซ้ำเป็นครั้งที่ 2 จะพักใบอนุญาตชั่วคราว และหากทำผิดครั้งที่ 3 จะเพิกถอนใบอนุญาตกิจการทันที พร้อมให้จัดทำแผนแก้ปัญหาระยะสั้น โดยให้รายงานมาที่กระทรวงฯในวันที่ 18 ก.พ.2559

"นกแอร์ต้องชี้แจงก่อนว่าจากมาตรการข้อกำหนดของ กทพ. นกแอร์ได้ดำเนินการไปแล้วอย่างไร ครบถ้วนหรือไม่ แล้วจึงจะพิจารณาได้ รวมถึงต้องชี้แจงเหตุผลที่นักบินไม่ทำการบินด้วย" รมช.คมนาคม กล่าว

สำหรับการประชุมในวันที่ 15 ก.พ.2559 มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย กรมท่าอากาศยาน บริษัทวิทยุการบิน จำกัด และมีตัวแทน 13 สายการบิน จาก 14 สายการบิน ที่กระทรวงคมนาคมส่งหนังสือเชิญ เช่น การบินไทย ไทยไลอ้อนแอร์ กานต์แอร์ ไทยแอร์เอเชีย ไทยแอร์เอเชียเอ๊กซ์ ไทยเวียดเจ๊ตแอร์ เป็นต้น เข้าร่วมการประชุม ขณะที่ผู้บริหารสายการบินนกแอร์ไม่เข้าร่วมและไม่มีการส่งตัวแทนเข้าประชุม โดยให้เหตุผลว่าติดการประชุมภายใน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง