นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์-สวล. ระบุ คำสั่ง คสช.ไม่ต้องรออีไอเอเอื้อประโยชน์เอกชน-กลุ่มทุนอุตสาหกรรม

สิ่งแวดล้อม
9 มี.ค. 59
21:16
203
Logo Thai PBS
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์-สวล. ระบุ คำสั่ง คสช.ไม่ต้องรออีไอเอเอื้อประโยชน์เอกชน-กลุ่มทุนอุตสาหกรรม
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์-สิ่งแวดล้อมชี้ คำสั่ง คสช.ให้เดินหน้าโครงการโดยไม่ต้องรออีไอเอหรืออีเอชไอเอ มีนัยยะแฝงเอื้อประโยชน์ให้เอกชน-กลุ่มทุนอุตสาหกรรม ถามท้ายที่สุดถ้าไม่ผ่านถูกฟ้องร้องใครรับผิดชอบ ด้านเครือข่ายประชาชน 46 องค์กร ออกแถลงการณ์คัดค้าน

จากกรณี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งที่ 9/2559 ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และเอกชน สามารถดำเนินโครงการของรัฐบาลโดยไม่ต้องรอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และกำลังถูกคัดค้านจากประชาชน และหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง

วันนี้ (9 มี.ค. 2559) นายเดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล ที่ยังอยู่ในขั้นการศึกษารายงานอีไอเอ เป็นตัวอย่างโครงการขนาดใหญ่ที่เชื่อว่าจะได้รับประโยชน์จากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2559 เพราะการที่โครงการนี้ยังถูกคัดค้านต่อเนื่อง เพราะเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ซึ่งคำสั่งของ คสช. อาจช่วยปลดล็อคให้ดำเนินการได้ง่ายขึ้น

นายเดชรัต กล่าวอีกว่า เช่นเดียวกับโครงการรถไฟความเร็วปานกลางไทย-จีน ที่แม้จะยังไม่เริ่มขั้นตอนศึกษาผลกระทบต่างๆ แต่คาดว่ารัฐบาลสามารถผลักดันให้ดำเนินการได้ทัน นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตว่ารัฐบาลมีนัยยะแอบแฝงเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน

ด้าน นายสุรชัย ตรงงาม เลขาธิการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า คำสั่งของ คสช.ที่ออกมานั้น ทำให้เกิดช่องว่างในขั้นตอนการประกวดราคา และหากเริ่มต้นโครงการโดยไม่รอผลอีไอเอ และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (อีเอชไอเอ) แต่สุดท้ายผลการศึกษากลับไม่ผ่าน หน่วยงานใดจะรับผิดชอบหากบริษัทผู้รับเหมาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย

ด้าน นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า คำสั่ง คสช.ฉบับนี้ ผิดหลักการ ที่อนุญาตให้เปิดประมูลโครงการต่างๆ ทั้งที่ยังไม่ผ่าน EIA และเชื่อว่า จะทำให้กลุ่มเอกชน ผู้รับเหมา โครงการเมกะโปรเจ็คของรัฐบาลได้รับผลประโยชน์

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ แกนนำเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาถ่านหิน กล่าวว่า การออกคำสั่งดังกล่าวสะท้อนว่า คสช.ตกอยู่ในอำนาจของทุนอุตสาหกรรม เพราะไม่ว่าอีไอเอจะผ่านหรือไม่ก็พร้อมอนุมัติโครงการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายภาคประชาชน 46 องค์กร ออกแถลงการณ์คัดค้านคำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 9/2559 โดยให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวเพื่อป้องกันและระงับไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งเพิ่มขึ้นในสังคมไทย และแนะนำให้รัฐบาลเร่งปฏิรูปโครงสร้างและระบบการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเพิ่มเติมเนื้อหาดังกล่าวลงในร่างรัฐธรรมนูญ ในหมวดสิทธิ เสรีภาพ และหมวดการปฏิรูป รวมถึงปรับปรุงกฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ปี 2535 ทั้งฉบับ

ทั้งนี้ คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ซึ่งรับผิดชอบโครงการหรือกิจการที่อยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาอีไอเอ สามารถเสนอให้ ครม. พิจารณาอนุมัติให้ดำเนินโครงการไปพลางก่อนได้ แต่จะลงนามผูกพันในสัญญาหรือให้สิทธิกับเอกชนผู้รับดําเนินการตามโครงการหรือกิจการไม่ได้

 
นักวิชาการกังวลอนุมัติโครงการใหญ่โดยไม่ต้องศึกษา EIA

9 มี.ค. l ข่าว 19.00 น.จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำอธิบายเรื่องคำสั่ง คสช.ฉบับล่าสุด ที่ให้ ครม.หาเอกชนดำเนินโครงการไปพลางก่อน ระหว่างรอผลการพิจารณารายงาน EIA ขณะที่มีเสียงคัดค้านคำสั่งฉบับนี้อยู่ไม่น้อย #ThaiPBSnews #EIA #ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

โพสต์โดย Thai PBS News บน 9 มีนาคม 2016

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง