นายกฯขอทุกฝ่ายหยุดเคลื่อนไหวตั้งสมเด็จพระสังฆราช

การเมือง
11 มี.ค. 59
22:08
156
Logo Thai PBS
นายกฯขอทุกฝ่ายหยุดเคลื่อนไหวตั้งสมเด็จพระสังฆราช
นายกรัฐมนตรี ขอให้ทุกฝ่ายหยุดการเคลื่อนไหวกรณีตั้งสมเด็จพระสังฆราช เผยพูดคุยกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กรณีปัญหาซื้อขายตำแหน่งตำรวจแล้ว วอนประชาชนร่วมกันประหยัดน้ำ ให้ภาคอุตสาหกรรมนำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานมาใช้ในภาคเกษตรกรรม

วันนี้ (11 มี.ค.2559) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" โดยมีเนื้อหาดังนี้ วันที่ 13 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันช้างไทย” โดยช้างเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยและช้างเผือกเป็นสัตว์คู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์ไทย สำหรับช้างมีคุณูปการกับชาติไทยมาแต่อดีต เช่น การสู้รบนั้นที่ลูกหลานไทยควรรู้ ได้แก่ “เจ้าพระยาไชยานุภาพ” ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในการทำยุทธหัตถีเพื่อกอบกู้เอกราชของชาติได้สำเร็จ เป็นที่มาของ “พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์” จ.สุพรรณบุรี นอกจากนี้ คนไทยก็มีวิถีชีวิตที่ผูกพันธ์กับช้างมายาวนาน ปัจจุบันทีมฟุตบอลชาติไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในนาม “ทีมช้างศึกไทย” ซึ่งสื่อถึงความรักและความหวงแหนช้างของคนไทย ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ตั้งแต่ คสช. และรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และกำหนดมาตรการควบคุมการค้างาช้างบ้าน ปราบปรามการลักลอบการค้างาช้างแอฟริกา รวมถึงควบคุมการลักลอบนำเข้าและส่งออกงาช้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนเป็นที่ยอมรับจากคณะกรรมการ CITES ทำให้ไม่ถูกคว่ำบาตรทางการค้า รวมทั้งไม่สูญเสียตลาดส่งออกพืชและสัตว์ที่มีมูลค่านับพันล้านบาทต่อปี โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชเสาวนีย์โปรดให้มีการดูแลและอนุรักษ์ช้างไทย ซึ่งรัฐบาลโดยองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ตั้ง “คชอาณาจักร” เข้ามาดูแลปัญหา เพื่อให้ควาญช้างนำช้างเร่ร่อนกลับมาอยู่บ้านเกิด จัดสรรที่ดินป่าสงวนแห่งชาติดงภูดิน จ.สุรินทร์ ให้ช้างและควาญช้างอยู่อย่างมีความสุข ควบคู่ไปกับความพยายามพัฒนาให้เป็นหมู่บ้านช้าง ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สร้างงาน กระจายรายได้ไปสู่ชุมชน ในอนาคตอาจใช้กลไก “ประชารัฐ” สร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น ทำเป็นโลกของช้าง ลักษณะคล้าย Jurassic World ดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพจากยุโรปและญี่ปุ่นที่นิยมเรื่องช้างไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาช้างเร่ร่อนได้อย่างยั่งยืนกว่าการบังคับใช้กฎหมาย

ในส่วนของความก้าวหน้าการทำงานของ คสช. และรัฐบาล เช่น “พลิกฟื้นผืนป่า สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ให้เป็นที่อยู่ของสัตว์ป่า ช้างไทย ระบบนิเวศน์ แหล่งต้นน้ำลำธาร และที่ทำกินของพี่น้องประชาชน จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่สมดุล ข้อมูลล่าสุดพบว่าเหลือผืนป่าเพียง 102 ล้านไร่ หรือร้อยละ 31 ของประเทศ ลดลงอย่างรวดเร็ว 5 ล้านไร่ จากเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งต้องเร่งแก้ไขโดยเร็ว สำหรับนโยบายแก้ไขเร่งด่วนของ คสช. และรัฐบาล คือ มาตรการ “ทวงคืนผืนป่า” ที่มีการบังคับใช้กฎหมายเข้มงวด มุ่งดำเนินการโดยเฉพาะกลุ่มนายทุน หรือผู้มีอิทธิพล โดยปี 2558 สามารถทวงคืนผืนป่าได้กว่า 300,000 ไร่ และดำเนินคดีผู้บุกรุก 13,000 คดี ส่วนมาตรการสร้างความยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะต้องมีการพิจารณาในเรื่องสิทธิทำกิน การจัดการพื้นที่ป่า และการจัดการพื้นที่เพาะปลูกให้เหมาะสม โดยใช้แนวทาง “ประชารัฐ” มาขับเคลื่อนด้วย เช่น การแก้ไขปัญหาแนวเขตพื้นที่ทับซ้อน โดยให้ทุกภาคส่วนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมหารือจัดทำแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ โดยเริ่มต้นจาก One map การกำหนดมาตรการให้ชุมชนและประชาชนผู้ยากไร้ด้วยการจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ชุมชนในพื้นที่ป่าที่บุกรุกแล้ว รวม 340,413 ไร่ แบ่งเป็น 82 พื้นที่ ใน 47 จังหวัด ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อทวงคืนผืนป่าจากผู้มีอิทธิพล หรือนายทุน การเพิ่มพื้นที่ป่า–พื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ โดยใช้กลไกสถาบันประชารัฐพิทักษ์ป่า ประกอบด้วยฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ และประชาชน รวมทั้งปราชญ์ชาวบ้าน องค์กรพัฒนาเอกชน ร่วมมือกันฝึกสอนถ่ายทอดประสบการณ์การดับไฟป่า การทำแนวกันไฟ เพื่อปกป้องและอนุรักษ์ป่าในรูปแบบต่างๆ และนำพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เรื่อง “คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน” และ “การปลูกป่า 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่าง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาสู่การปฏิบัติ สร้างป่าเศรษฐกิจ ป่าชุมชน และป่ากินได้เป็นแหล่งอาหารของชุมชน ในส่วนของการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม จะต้องแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในเรื่องของที่ดินทำกินอย่างเป็นขั้นตอน พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ดูแลประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายดังกล่าว โดยจัดสรรที่ดินทำกินให้ชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย ปีงบประมาณ 2559 กว่า 300,000 ไร่ทั่วประเทศ ในลักษณะ “แปลงรวม” โดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ แต่ให้ประชาชนเข้าใช้ประโยชน์จากที่ดินของรัฐได้

"ต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้ เป็นธรรมแก่ทุกคน สงสารคนจน สงสารผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร นึกถึงเขาบ้าง เราต้องดูแลตั้งแต่ “ต้นทาง” ให้ได้ สำหรับ “กลางทาง” นั้น ก็คือในเรื่องของการแปรรูป รัฐบาลจัดให้มีการส่งเสริมพัฒนาอาชีพอย่างเป็นระบบ เพราะทั้ง 76 จังหวัดมีลักษณะพื้นที่แตกต่างกัน รวมทั้งสร้างกลไกการสนับสนุนเงินทุนให้กับชุมชน และติดตามดูแล “ปลายทาง” หาตลาดให้ ในระยะต่อไป อย่างครบวรจร เราสร้างทั้งในส่วนของภาคเอกชน ธุรกิจ กับภาคประชาชนให้แข็งแรงไปด้วยกัน"

การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมในสังคมด้านการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่คนไทยสามารถต่อสู้เพื่อเรียกร้องหรือปกป้องสิทธิ์ของตนเองได้อย่างเป็นธรรม รัฐบาลต้องการลบวาทกรรมที่ว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” และคำว่า 2 มาตรฐาน เช่น ต้องให้ความรู้ทางกฎหมา จัดตั้งกองทุนยุติธรรมสำหรับช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดี หรือการขอประกันตัวเพื่อสู้คดี เยียวยาผู้ถูกละเมิด หรือได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ขอความช่วยเหลือจากกองทุนเกือบ 6,000 คน รัฐได้ใช้เงินช่วยเหลือไปแล้ว 2,552 คน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเร่งพัฒนากลไกกองทุนทั้ง 76 จังหวัด โดยกระจายอำนาจของกองทุนให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกันทุกจังหวัด มีความเท่าเทียมกัน รวมทั้งพัฒนาบุคลากรให้เป็นมืออาชีพ ทบทวนปรับปรุงหลักเกณฑ์การพิจารณา เช่น ผู้ขอรับเงินต้องเป็นบุคคลธรรมดา มีฐานะยากจน มีความประพฤติดี ไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนี และการให้ความช่วยเหลือจากกองทุนฯ ต้องไม่ซ้ำซ้อนกับการช่วยเหลือตามกฎหมายอื่น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ประหยัดงบประมาณ และสอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบมากขึ้น

ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง รัฐบาลเน้นการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ นอกจากการพัฒนาความรู้ เปลี่ยนมุมมองให้รู้จักการทำอาชีพทางการเกษตรที่หลากหลายเป็น Smart farmer ไม่ให้เกษตรกรประสบความเดือดร้อนซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นหนี้เป็นสินอยู่ทุกปี ต้องนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “หลักการของเกษตรทฤษฎีใหม่” ซึ่งมีแนวทางการจัดสรรที่ดินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่แล้ว แต่อาจจะต้องนำมาประยุกต์ใช้ เพราะน้ำน้อยลงและพื้นที่แย่ลง เนื่องจากไม่มีการบริหารจัดการที่เหมาะสม

"เอาพื้นที่มาเป็นตัวกำหนด ให้เป็น 3:3:3:1 นะครับ อาจจะเป็นตำบล อำเภอ จังหวัด กลุ่มจังหวัดก็ได้ ถ้าเราบริหารจัดการกันให้ถูกต้องนะครับ ก็จะมีทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำในทุกพื้นที่ เริ่มจากในบ้านมาก่อน 3:3:3:1 ในบ้าน แล้วก็ 3:3:3:1 ในพื้นที่ ตามความแตกต่างของดิน ของน้ำ ของอากาศอะไรแล้วแต่ ความสูงที่ผมกล่าวไปแล้วนะครับเพราะว่าน้ำมากน้อยต่างกัน ความอุดมสมบูรณ์ต่างกัน ระดับความสูงต่างกัน ถ้าเราสามารถจัดทำเรียกว่าโซนนิ่งพื้นที่ได้นะครับ ให้สอดคล้องกับแหล่งน้ำ ปริมาณน้ำ โดยการประยุกต์ให้เหมาะสม ทฤษฎีใหม่ที่เราทำมาในอดีต 40 ปีที่ผ่านมา การเกษตรแบบแปลงใหญ่ ทำได้ทั้งนาข้าวแปลงใหญ่ ไร่นาสวนผสมแปลงใหญ่ มาประยุกต์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน"

การส่งเสริมการลงทุน การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การพักชำระหนี้ และการชดเชยการสูญเสียรายได้ โดยการยกระดับสินค้าเกษตรให้เป็นสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม คือเพิ่มมูลค่า เพิ่มราคาให้สูงขึ้น พยายามจะลดต้นทุนให้ต่ำลงเรื่องสินค้า OTOP ที่มี “1 ตำบล 1 SME เกษตร” อยู่แล้ว ต้องนำของที่มีศักยภาพมาทำอย่างจริงจัง ในลักษณะโครงการ “ศิลปาชีพพิเศษ” ของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ โดยใช้ “ประชารัฐ” ที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่อง และครบวงจร ดูแลตั้งแต่ต้นทาง–กลางทาง–ปลายทาง

การลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 22 จังหวัดภาคกลางในปีนี้ ดำเนินการได้แล้วประมาณ 1 ล้านไร่ จากเดิม 2.91 ล้านไร่ เหลือ 1.92 ล้านไร่ ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2559 มีปัญหาเรื่องน้ำ จึงได้ขอร้องให้ลดการทำนาปรัง และขอชื่นชมเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ ที่เข้าใจสถานการณ์น้ำของประเทศและเข้าร่วมโครงการรัฐ เช่น คณะกรรมการ BOI อนุมัติส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง มูลค่ากว่า 17,000 ล้านบาท เพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มเติมกับเกษตรกรในการปลูกพืชอื่นแทนข้าว การผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง จ.กำแพงเพชร และการผลิตเยื่อกระดาษฟอกขาว จ.บุรีรัมย์ ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้นำนโยบายรัฐไปปฏิบัติ

โดยผ่อนปรนเงื่อนไข “การห้ามระบายน้ำทิ้งออกนอกบริเวณโรงงาน” เป็นการชั่วคราว แต่ไม่เกินวันที่ 30 มิ.ย.2559 เพื่อจะรับฤดูฝนหน้า โดยมีการสนับสนุนให้นำน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดได้มาตรฐานจากโรงงานไปช่วยเหลือภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะโรงงานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งไม่มีสารโลหะหนักหรือสารเคมีที่เป็นอันตราย กว่า 2,000 โรงงาน คาดว่าจะมีน้ำเข้าสู่ระบบถึง 500,000 ลบ.ม. ต่อวัน ครอบคลุมพื้นที่ทางการเกษตรราว 50,000 ไร่ ทั่วประเทศ

ในภาคเกษตรกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งส่งเสริมการสร้าง “ฝายชาวบ้าน ฝายประชารัฐ” เพื่อเตรียมรองรับน้ำฝนในช่วงฤดูฝนที่จะมาถึง ต้องมีการทำฝายเพื่อลด หรือชะลอความแรงของน้ำ และเก็บกักน้ำไว้แล้วทยอยปล่อยออกมาตามลักษณะของฝาย ที่สำคัญอย่าตัดป่าเพิ่มเติม เพราะน้ำมาจากป่าและเขา

"พื้นที่แห้งแล้งอยู่แล้วจะทำยังไงชาวไร่ชาวนาก็เดือดร้อน วันหน้าทำนาไม่ได้จะทำยังไงอีก ไม่มีข้าวกินอีก ต้องไปซื้อข้าวเขากิน วันนี้เราส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1 นะ เพราะงั้นต้องระมัดระวัง ต้องรักษาสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมของเรามายาวนาน วันหน้ามีปัญหาเรื่องอากาศเปลี่ยนแปลง ปัญหาต่อไปก็คือเรื่องขาดแคลนแหล่งอาหารของโลก เราก็น่าจะสำรองเหล่านี้ไว้ เตรียมการเอาไว้ เพื่อเราจะเป็นประเทศหนึ่งที่เป็นแหล่งเก็บอาหารของโลก"

ในส่วนของแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ มีการปรับแก้ตลอดเวลา ส่วนเรื่องของการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น โดยขอให้ทุกคนช่วยกันประหยัดน้ำ หลังเกษตรกรแสดงน้ำใจไปแล้วในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการเพาะปลูก "ไม่ว่าจะวาระใดก็ตามนี่ สนุกสนานได้ รื่นเริงได้แต่ต้องพอเพียง ใช้เท่าที่จำเป็นได้ไหม คุ้มค่าหรือเปล่า ผมไม่ได้ไปห้ามเล่นน้ำสงกรานต์ หลายคนพูดมาว่ารัฐบาลนี้ห้ามเล่นสงกรานต์ ผมห้ามได้ที่ไหน เป็นประเพณีไทย ต่างชาติก็มาเที่ยว มารู้จักประเทศไทยเพราะสงกรานต์ แต่เราจะทำยังไง ปีนี้น้ำเราน้อย เราจะเล่นสงกรานต์กันอย่างไง ไม่ใช่เล่นกันจนเขาเรียกอะไรล่ะ เติมน้ำ เติมไม่รู้กี่ครั้ง หมดแล้ว หมดอีกๆ มันไม่ต้องเติมนะ ถ้าจะเล่นกันขนาดนั้นละก็เหมือนทุกปี สนุกสนานรื่นเริง แต่หลังจากสนุกสนานแล้วเราจะต้องมาเสียใจ ว่าเราไม่มีน้ำกิน จะทำยังไง ไปคิดเอาเอง โบราณกาลก็ไม่ใช่แบบนี้ด้วยซ้ำไป ในเรื่องการรดน้ำดำหัว ผู้ใหญ่ ประพรมน้ำให้พรกัน แล้วก็ครึกครื้นพอสมควร จัดกิจกรรม จัดความรื่นเริงต่างๆ ได้ไม่ใช่ต้องเอาน้ำสาดกันอย่างเดียวโครมๆ โครมๆ ไม่ใช่นะ แล้วก็สนุกสนานรื่นเริงได้ รักษาประเพณี วัฒนธรรมของไทยไว้ได้ด้วย เพื่อให้เป็นแบบอย่างให้ต่างชาติเขาชื่นชมในประเพณีไทย แล้วก็สนุกสนานไปด้วย"

ในส่วนการตั้งสมเด็จพระสังฆราช ต้องการให้ทุกฝ่ายยุติการเคลื่อนไหว "จริงๆแล้วผมไม่อยากพูดเรื่องนี้นะ แต่ผมเห็นว่ามีการเคลื่อนไหวหลายด้านด้วยกันในระยะหลัง หยุดเสียทีไม่ว่าจะเป็นพระ เป็นฆราวาส อย่าลืมว่าคนไทยกว่า 90% นับถือศาสนาพุทธ เราต้องทำให้คนไทยทั้ง 90% มีความเชื่อมั่น มีความศรัทธาอย่างแท้จริงในคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่จะต้องนำมาสู่การปฏิบัติ ทำให้เกิดความสงบสุขในสังคม พระพุทธเจ้าคงไม่ต้องการสอนให้เอาพระธรรมมาทำให้เกิดความขัดแย้ง วินัยสงฆ์เป็นระเบียบปฏิบัติเพื่อจะให้สงฆ์นั้นอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข กฎหมายของฆราวาส กฎหมายของประชาชนทั่วๆไป ทั้งพระทั้งฆราวาสทั้งประชาชนทุกกลุ่มก็คือประชาชนทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นต้องเคารพกฎหมายโดยรวมของชาติด้วย แยกกันให้ออกอะไรทางโลกอะไรทางธรรม โยงกันไปโยงกันมาขัดแย้งกันไปตลอด แล้วจะอยู่กันยังไง ประเทศไทยนับถือพุทธเยอะ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ ทำไมเราไม่รักษาตรงนี้ให้ได้ 90 จะต้องแบ่ง 90 เป็น 60 – 40 อะไรกันหรือไง ในภายใต้ของศาสนาพุทธอย่างเดียว ผมว่าไม่ใช่นะ ทุกศาสนาก็ต้องอยู่ร่วมกันได้ในประเทศไทย ท่านเป็นอัครศาสนูปถัมภก อย่าไปเกี่ยวกับเรื่องการเมือง น่าจะมีเบื้องหลังอยู่บ้าง ก็เป็นเรื่องของกลไกทางขบวนการยุติธรรม ปล่อยให้มีการตรวจสอบ ทำไมจะต้องใจร้อนอะไรกันขนาดนั้น บ้านเมืองกำลังจะปฏิรูป กำลังจะเลือกตั้ง ตีกันเรื่องพระ เรื่องอะไรอีก วุ่นวายไปหมด"

ในเรื่องการซื้อขายตำแหน่งตำรวจที่มีการพูดทำให้เสื่อมเสียและเสียหาย โดยผู้พูดมีเจตนาดี ซึ่งได้มีการพูดคุยกับรองนายกรัฐมนตรีว่าจะดำเนินการอย่างไร เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งต่อไป หากมีการปฏิรูปตำรวจก็ต้องฟังความเห็นจากเขาด้วย ส่วนเรื่องรับผลประโยชน์จะต้องมีการสอบสวนและลงโทษทั้งผู้รับและผู้ให้ นอกจากนี้ต้องทำให้องค์กรตำรวจมีความเข้มแข็งและเป็นเอกภาพ ยืนยันรัฐบาลไม่ได้มุ่งหวังจะสลายอำนาจทางการเมืองของใคร

"การซื้อขายตำแหน่งตำรวจก็พูดกันไปพูดกันมา แต่การพูดทำให้เสื่อมเสีย เสียหาย ทั้งที่คนพูดก็เจตนาดีนะ ไม่อยากให้เกิดขึ้น เราต้องเอามาเจอกัน ผมก็ได้คุยกับท่านรองนายกฯ แล้วว่าต้องคุยกันแล้ว คุยกันให้รู้เรื่องซะทีว่ายังไงกันแน่ ไม่อยากให้มีความขัดแย้งกันต่อไป จะมีซื้อหรือไม่ จะขายตำแหน่งกันหรือไม่ก็ไปว่ามานะครับ ขอให้มีการแจ้งหรือการร้องเรียนมา จะปฏิรูปอะไรก็แล้วแต่ตำรวจหารือกัน ถ้าทุกคนจะเอาอย่างนี้ เอาอย่างโน้น แล้วเอาของตัวเองทั้งหมดเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว คนไทยชอบอย่างนี้ซะด้วย ถูกคนเดียว คนอื่นผิดหมด ต้องเอาส่วนที่ถูกของทุกคนนี่มาหารือแล้วทำก่อน ถ้าจะปฏิรูปตำรวจก็อะไรที่ตำรวจเขาเห็นด้วย ให้เกียรติเขาด้วย เพราะเขาต้องปกครองบังคับบัญชาคนของเขา เราทำยังไงให้คนของเขาทำหน้าที่ตามกฎหมาย ถ้าไม่ทำก็ลงโทษ เพราะงั้นเราต้องร่วมมือนะครับ เดี๋ยวผมจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้ได้โดยเร็ว แล้วถ้าหากว่ามีปัญหาอะไรเรื่องนี้ ก็ร้องทุกข์มา แจ้งความ กล่าวโทษ อะไรก็แล้วแต่ สอบสวนให้ทุกอัน อย่าพูดกันลอยไป ลอยมา มีปัญหาหมด เดี๋ยวก็ฟ้องศาล ฟ้องอะไรกันเยอะแยะไปหมด รกศาลนะ เรื่องการรับผลประโยชน์นะครับ ก็ยังค'มีอยู่นะ ไม่ว่าจะเรียกผลประโยชน์ เก็บส่วยอะไร ก็มีข่าวอยู่ ท่าน ผอ. ตำรวจท่านก็บอกแล้วเดี๋ยวท่านจะสอบสวนให้ได้ ลงโทษทั้งหมด ในส่วนของผมที่เป็นรัฐบาลนี่ เป็นนายกฯ นี่ ผมก็สั่งการไปแล้วนะ เรื่องของผลประโยชน์นี่จะเก็บส่วยบ้าง เรียกสินบน อะไรต่างๆ เหล่านี้บ้าง ต้องมีการพิจารณาทั้งผู้รับและผู้ให้ ถ้าผู้ให้ไม่ทำความผิด ก็ไม่ต้องไปให้เขา ถ้าเขาเรียกร้องมาก็ฟ้องขึ้นมา ร้องทุกข์ กล่าวโทษขึ้นมา แต่ถ้าเราทำความผิดแล้วไปยอมให้เขา ต่อไปถูกทำโทษทั้งคู่ คนรับก็โดน คนให้ก็โดน ไม่งั้นก็เคยตัวกันอยู่แบบนี้ ถ้าไม่ทำผิดกฎหมายเขาดำเนินการไม่สุจริต ฟ้องมาเลย แต่ถ้าเขาทำตามกฎหมายแล้วเราทำผิดกฎหมาย อันนี้ท่านต้องพิจารณาตัวเองนะ ว่าท่านจะทำยังไง อย่าละเมิดกฎหมาย อย่าขับรถคร่อมเลน อย่าขับรถเร็วเกินกำหนด อะไรก็แล้วแต่ ประมาทก็ต้องรับผิดชอบ ประชาชนคนอื่นเขาใช้ด้วยนี่นาไม่ใช่วิ่งอยู่คนเดียว ใช้อยู่คนเดียวเมื่อไร ตำรวจวันนี้สำคัญ เพราะเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม ขบวนการสอบสวนก็เช่นกัน อัยการ ศาล มีความเชื่อมโยงกันทั้งสิ้น ทุกคนอยู่ใต้กฎหมายเดียวกันต้องมีการจัดการบริหารให้ชัดเจน ไม่ว่าจะการปฏิบัติงาน การเพิ่มประสิทธิภาพ การทำโครงสร้าง การปฏิรูประยะยาว ทุกเรื่องต้องมี 1-2-3 แล้วต้องทำยังไงว่าประชาชนจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย วันนี้พันกันไปหมด การแต่งตั้ง การให้ความดีความชอบ ทุกอย่างกลายเป็นว่าเหมือนการเมืองเข้าไปหมดเลย ทุกที่ อันนี้ต้องระมัดระวัง ทำยังไงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เขาจะทำงานด้วยความมีเอกภาพ เข้มแข็งจากภายในของเขา ไม่มีการแทรกแซงจากภายนอก เราต้องทำให้ตำรวจเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ พอตำรวจมาแล้วคนรัก คนยิ้ม คนเรียกหาพี่ตำรวจ เพื่อมาปรบทุกข์ ผูกมิตร ซึ่งกันและกัน ไม่ใช่เดินมาแล้วกลัว เอ๊ะเราทำอะไรผิดหรือเปล่า"

ในส่วนนโยบายรัฐบาลในการดำเนินการด้านต่างประเทศและเวทีโลกในปัจจุบัน จะต้องรักษาพันธะสัญญาต่างๆ หากต้องดำเนินการใหม่จะต้องดูรายละเอียดไม่ให้เสียเปรียบ "ผมก็ลำบากใจเหมือนกันเวลาไปต่างประเทศ บางทีสัญญาเยอะแยะที่เราเคยสัญญากับเขาไว้ แล้วเขาถามกลับมา ผมก็ไม่รู้จะทำยังไง เพราะผิด ไม่ถูก เริ่มต้นไม่ถูกแล้วทำได้ยังไง แต่เราก็จะเสียมิตรหรือเปล่าไม่รู้ ค่อยๆ ทำไป เราทำยังไงจะร่วมมือกับประเทศที่กำลังพัฒนา ด้วยกันได้ โดยเรียกว่า ไตรภาคี คำว่าไตรภาคีก็คือว่า ประเทศพัฒนาต้องมาส่งเสริมประเทศที่กำลังพัฒนา อีกส่วนประเทศกำลังพัฒนากับประเทศที่กำลังพัฒนาต้องช่วยส่งเสริมกัน"

นอกจากนี้ ขอให้คนไทยพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของตัวเอง เพื่อเปิดโอกาสสู่ความก้าวหน้าในอาชีพการงาน พัฒนาตัวเอง วันนี้รัฐบาลได้เปิดตัวแอปพลิเคชั่นเพื่อการเรียนรู้ภาษาอังกฤษสำหรับคนไทย ด้วยความร่วมมือในรูปแบบประชารัฐ ของกระทรวงศึกษาธิการ มูลนิธียุวสถิรคุณ และ Enconcept ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่คนไทยสามารถเรียนภาษาอังกฤษกับเจ้าของภาษาได้ฟรีทุกที่ทุกเวลาทางโทรศัพท์ โดยใช้ชื่อว่า echoenglish ดาวน์โหลดผ่านระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ (Android) ได้แล้ววันนี้ ส่วนระบบปฏิบัติการ iOS คาดว่าจะพร้อมให้บริหารในสิ้นเดือนมีนาคมนี้่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง