"ประพัฒน์" อดีต รมว.ทส.ยื่นคำร้องศาลขอพิจารณาคดีคลองด่านใหม่

สิ่งแวดล้อม
15 มี.ค. 59
16:40
307
Logo Thai PBS
"ประพัฒน์" อดีต รมว.ทส.ยื่นคำร้องศาลขอพิจารณาคดีคลองด่านใหม่
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองกลางพิจารณาคดีโครงการคลองด่านใหม่อีกครั้ง หลังศาลปกครองพิพากษาบังคับคดีให้กรมควบคุมมลพิษจ่ายเงินให้ฝ่ายกิจการร่วมค้า 10,000 ล้านบาท

วันนี้ (15 มี.ค.2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และคณะรวม 7 คน ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลปกครองกลาง ขอให้พิจารณาคดีใหม่เรื่องคดีที่ศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดเคยพิจารณาบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ เป็นสาเหตุให้ทางราชการเจรจาจ่ายเงินให้กับฝ่ายกิจการร่วมค้าในโครงการคลองด่าน 10,000 ล้านบาท ซึ่งได้จ่ายไปแล้ว 4,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 40 เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2558 และมีกำหนดจ่ายอีก 2 งวด งวดละ 3,000 ล้านบาท ภายในวันที่ 21 พ.ค.2559 และในวันที่ 21 พ.ย.2559

โดยผู้ที่ยื่นคำร้องที่เหลืออีก 6 คน ได้แก่ นายอภิชัย ชวเจริญพันธ์ อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และกรรมการชุดบริหารสัญญาซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยนายประพัฒน์อีก 5 คน ซึ่งมีนายสิรภพ ดวงสอดศรี เป็นประธาน

นายประพัฒน์ กล่าวว่า สาเหตุที่ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีต่อศาลปกครองกลางในวันนี้ เนื่องจากฝ่ายราชการแพ้คดีและต้องชดใช้ค่าโง่ 10,000 ล้านบาท โดยจากการตรวจสอบพบว่าคณะอนุญาโตตุลาการ ศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุดไม่ได้ยึดถือข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาในคดีอาญาของศาลแขวงดุสิตที่ได้พิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษเป็นฝ่ายชนะคดีทั้ง 2 สำนวน คือ สำนวนฉ้อโกงเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดิน 1,900 ไร่ และสำนวนฉ้อโกงสัญญาว่าจ้างเกี่ยวกับกรณีปกปิดข้อเท็จจริงเรื่องบริษัทผู้เชี่ยวชาญ คือ บริษัทนอร์ทเวส วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ถอนตัวและบอกเลิกหนังสือมอบอำนาจก่อนการลงนามระหว่างฝ่ายกรมควบคุมมลพิษกับฝ่ายกิจการร่วมค้าในปี 2540 ซึ่งตามกฎหมายจะต้องยึดถือข้อเท็จจริงตามที่รับฟังได้ในคดีอาญาเป็นหลัก จึงได้ขอให้ศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่ โดยฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาในคดีอาญาของศาลแขวงดุสิต

นายประพันธ์ ยังกล่าวว่า ตนเองและคณะทั้ง 7 คน เป็นบุคคลที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรืออาจถูกผลกระทบจากผลแห่งคดี ซึ่งมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ เนื่องจากหลังศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาแล้ว กรมควบคุมมลพิษและ ทส. ได้เสนอให้รัฐบาลจ่ายเงินให้กับฝ่ายกิจการร่วมค้า จากนั้นได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบความรับผิดทางละเมิดเพื่อเอาผิดตนเองและคณะ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง