ล่ามโซ่แม่น้ำเซซาน (1) : เลือกปลาหรือเขื่อน

สิ่งแวดล้อม
30 มี.ค. 59
10:00
678
Logo Thai PBS
ล่ามโซ่แม่น้ำเซซาน (1) : เลือกปลาหรือเขื่อน
"...ตอบไม่ได้ว่าปลากับไฟฟ้า แทนกันได้หรือไม่ ตอบไม่ได้…" สนา ชาวประมงหนุ่มวัย 25 แห่งแม่น้ำเซซาน ใน จ.สตึงเตรง ประเทศกัมพูชากล่าวระหว่างตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงโครงการ "เขื่อนเซซานตอนล่าง 2"

บนสายน้ำโขงที่ยาวกว่า 4,800 กิโลเมตร เขื่อนกั้นแม่น้ำโขงที่ตั้งอยู่ทั้งตอนบนของแม่น้ำในประเทศจีนและตอนล่างในประเทศลาวนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ภูมิภาค การปิด-เปิดเขื่อนในจีนทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านประเทศไทยขึ้นลงฉับพลันไม่เป็นไปตามฤดูกาล ขณะที่เขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนดอนสะโฮงที่กำลังก่อสร้างในลาวจะปิดกั้นเส้นทางอพยพของปลาและการวางไข่ในลุ่มแม่น้ำโขง

แต่ลำน้ำโขงไม่ใช่แม่น้ำสายเดียวในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ สถานการณ์เดียวกันนี้กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศกัมพูชาที่กำลังมีการสร้างเขื่อนบน "แม่น้ำเซซาน" ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง

แม่น้ำเซซานใน จ.สตึงเตรง ของกัมพูชา กำลังมีการสร้าง "เขื่อนเซซานตอนล่าง 2" (Lower Sesan 2 dam) ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเขื่อนดอนสะโฮงในแขวงจำปาสักของลาวไปทางใต้ประมาณ 80 กม.

เขื่อนเซซานตอนล่าง 2 เป็นหนึ่งในแผนการก่อสร้างเขื่อนใน "ลุ่มน้ำสามเซ" ซึ่งประกอบด้วยแม่น้ำเซกอง เซปรกและเซซานที่หล่อเลี้ยงประชากรกว่า 50,000 คนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา และเป็นเขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงที่อยู่ในกัมพูชา มีกำลังผลิตไฟฟ้า 400 เมกะวัตต์ สันเขื่อนสูงจากระดับน้ำ 43 เมตร อยู่ใต้จุดบรรจบระหว่างแม่น้ำเซซานและแม่น้ำเซปรก ห่างจากแม่น้ำโขงเพียง 25 กม. รัฐบาลกัมพูชาสร้างเขื่อนแห่งนี้ขึ้นเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในประเทศและรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขณะนี้การก่อสร้างดำเนินไปแล้วร้อยละ 50 จะเริ่มกักเก็บน้ำในปี 2560 

 

 

ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสเดินทางไปที่กัมพูชาเพื่อสำรวจผลกระทบจากเขื่อนเซซานตอนล่าง 2 ที่อาจเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นแล้วต่อสายน้ำและชีวิตของผู้คนในลุ่มแม่น้ำสามเซ

สิ่งที่ทีมข่าวพบไม่แตกต่างจากพื้นที่ที่อื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ รวมทั้งแม่น้ำโขงที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในจีนและลาว คนท้องถิ่นที่นั่นบอกเล่าถึงปลาที่ลดจำนวนลงทั้งชนิดและปริมาณ การขึ้นลงของน้ำที่ผิดปกติ และชะตากรรมของชาวบ้านที่ถูกอพยพออกจากพื้นที่ที่จะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำของเขื่อน พวกเขาต้องย้ายไปอยู่ในที่ที่ขาดแคลนทั้งทรัพยากรและแหล่งทำมาหากิน

 

ทีมข่าวเดินทางจากกรุงพนมเปญมุ่งหน้าขึ้นเหนือไปยัง จ.สตึงเตรง ผ่านจุดบรรจบของแม่น้ำเซกองกับแม่น้ำโขง จากนั้นเดินทางบนไปบนถนนดินลูกรังที่ตัดออกจากตัว จ.สตึงเตรง ไปเป็นระยะทาง 20 กม. แล้วจึงต่อเรือหางยาวล่องไปตามแม่น้ำเซซานเพื่อไปยังหมู่บ้านปลุกที่อยู่ห่างจากจุดก่อสร้างเขื่อนเซซานตอนล่าง 2 ประมาณ 4 กม. ระหว่างทางเราเห็นเรือของประมง 2-3 ลำหาปลาอยู่ตามเกาะแก่งหินในแม่น้ำที่ถูกขนาบข้างด้วยป่าไผ่  

จากจุดที่ลงเรือ นั่งเรือไปประมาณ 7 กม.ก็ถึงหมู่บ้านปลุก หมู่บ้านแห่งนี้มีชาวบ้านอาศัยกว่า 200 ครัวเรือน ในจำนวนนี้มี 11 ครัวเรือนที่ต้องย้ายออกเพราะบ้านของพวกเขาอยู่ในจุดก่อสร้างเขื่อน

 

 

 

"สนา" ชาวประมงวัย 25 ปี โชคดีที่ไม่ต้องอพยพไปอยู่ที่อื่นเพื่อหลีกทางให้เขื่อน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเขาและคนในหมู่บ้านปลุกซึ่งมีอาชีพหลักคือหาปลาและทำการเกษตร เช่น สวนผัก สวนกล้วยและมะม่วงหิมพานต์ จะไม่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเซซานตอนล่าง 2 ที่อยู่เหนือน้ำขึ้นไป

หลังจากทางการเริ่มสร้างเขื่อนเซซานตอนล่าง 2 ได้เพียง 2 ปีและยังไม่ทันที่เขื่อนจะสร้างเสร็จ สนาก็พบความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำเซซาน โดยเฉพาะจำนวนปลาในแม่น้ำ

"ก่อนสร้างเขื่อน เราหาปลาได้อย่างน้อยๆ วันละ 5 กิโลกรัม พอกินและเหลือขายส่วนหนึ่ง หลังสร้างเขื่อน 2 ปี ปลาเริ่มน้อยลง ปลาก็ตัวเล็กลง บางครั้งก็หาไม่ได้ ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะผลจากการสร้างเขื่อนหรือไม่"

แม้เรื่องพันธุ์ปลายังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนนัก แต่สนายืนยันว่าปริมาณปลาที่จับได้น้อยลง ปกติชาวประมงจะจับปลาบึกได้ในช่วงเดือนหก แต่ปีที่แล้ว (2558) ไม่มีชาวประมงจับปลาบึกได้เลย สนาบอกด้วยว่าเขาต้องเปลี่ยนเครื่องมือจับปลา จากเมื่อก่อนที่ใช้ "มอง" ซึ่งใช้จับปลาใหญ่ มาใช้ "แห" เพื่อให้เขาสามารถจับปลาตัวที่มีขนาดเล็กลงได้

สาเหตุที่ทำให้ปลาในแม่น้ำเซซานน้อยลงยังคงเป็นปริศนาสำหรับสนา เขารู้เพียงว่าความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นหลังจากเริ่มก่อสร้างเขื่อน

 

 

สนาและคนในหมู่บ้านปลุกไม่รู้อะไรมากนักเกี่ยวกับเขื่อนเซซานตอนล่าง 2 ก่อนหน้านี้ชาวบ้านถูกเรียกไปประชุมที่ที่ทำการกำนันและได้รับแจ้งเพียงว่าเมื่อเขื่อนสร้างเสร็จแล้วชาวบ้านจะได้ใช้ไฟฟ้าฟรี 3 ปี

"...ถ้าได้ไฟฟ้า จะใช้ไฟชาร์จโทรศัพท์และดูทีวี ทุกวันนี้ใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรี ถ้าแบตเตอรีหมดต้องไปชาร์จในหมู่บ้าน ถ้าสร้างเขื่อนแล้วต่อไฟมาถึงบ้านเราก็ดีใจ แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่โอเค" ชาวประมงหนุ่มให้ความเห็น

หากไม่ได้มีชีวิตที่ต้องพึ่งพาแม่น้ำ ไม่ต้องจับปลามากินเป็นอาหารและขายเพื่อมีรายได้เล็กๆ น้อยๆ สนาอาจต้อนรับการมาถึงของเขื่อนและกระแสไฟฟ้าอย่างไม่ลังเล

นอกจากผลกระทบต่อวิถีชีวิตแล้ว เขายังกังวลถึงความปลอดภัยของเขื่อนอีกด้วยจึงเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาทำประกันชีวิตให้ชาวบ้านด้วย

ด้านเมียช เมียน นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม อดีตผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องลุ่มน้ำสามเซ (3SPN) กล่าวว่าลุ่มน้ำสามเซ ที่ตั้งของเขื่อนเซซานตอนล่าง 2 เป็นพื้นที่สำคัญที่ปลาอพยพมาจากแม่น้ำโขงและโตนเลสาบเพื่อมาวางไข่

เมียช เมียนยังแสดงความกังวลว่า การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำเซซานจะเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศและกระทบกับพันธุ์ปลาท้องถิ่นในแม่น้ำเซซาน

"ปลาที่แม่น้ำเซซานมีพันธุ์ปลากว่า 200 ชนิด ที่แม่น้ำเซปรกมีกว่า 300 ชนิด ส่วนมากเป็นปลาอพยพมาวางไข่ และปลาท้องถิ่น เช่น ปลาวา ปลาสะอี โดยเฉพาะปลาสะอี ปลาท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อของจังหวัดสตึงเตรง ตรงที่สร้างเขื่อนเป็นที่วางไข่ของปลาชนิดนี้ พอมีเขื่อนเซซานตอนล่าง 2 ปลาท้องถิ่นเหล่านี้จะหายไป"

นอกจากหมู่บ้านปลุกแล้ว ยังมีคนในหมู่บ้านอื่นๆ ตามลำน้ำเซซานที่จะต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงจากการสร้างเขื่อนเซซานตอนล่าง 2 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากหมู่บ้านปลุก ทีมข่าวไทยพีบีเอสเดินทางต่อไปทางทิศ ตะวันออก มุ่งหน้าสู่หมู่บ้านซเรกอร์ และไปสิ้นสุดที่หมู่บ้านริมน้ำเซซานชายแดนกัมพูชา-เวียดนาม ซึ่งเราได้พบเห็นและรับฟังเรื่องราวที่หลากหลายของวิถีชีวิตผู้คนริ่มแม่น้ำเซซานที่อาจต้องกลายเป็นอดีตไปจากการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำเซซาน

ธันยพร บัวทอง ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน

หมายเหตุ: รายงานนี้เป็นตอนที่ 1 ของรายงานชุด "ล่ามโซ่แม่น้ำเซซาน: เขื่อนในกัมพูชากับอนาคตลุ่มน้ำสามเซ" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทยพีบีเอส อินเตอร์นิวส์ และองค์การ PACT ประจำประเทศไทย ที่สนับสนุนทุนจำนวนหนึ่งในการผลิตสารคดีข่าวเพื่อสำรวจผลกระทบการก่อสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำโขงของประเทศกัมพูชา อ่านรายงานพิเศษและชมคลิปทั้งหมดได้ที่ www.thaipbs.or.th/sesandams

ข่าวที่เกี่ยวข้อง