เครื่องพิมพ์ 3 มิติ : เครื่องมือสร้างสรรค์หรืออันตราย

Logo Thai PBS
เครื่องพิมพ์ 3 มิติ : เครื่องมือสร้างสรรค์หรืออันตราย
กลายเป็นข้อถกเถียงและสร้างความกังวลให้เหล่านักประดิษฐ์ในเมืองไทย รวมถึงผู้นำเข้าจัดจำหน่าย "เครื่องพิมพ์ 3 มิติ" หลังคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2559 กําหนดให้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ เป็นสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงพาณิชย์

กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เห็นว่าเครื่องพิมพ์ 3 มิติถูกนําไปใช้ได้ทั้งทางบวกและทางลบ โดยทางบวกเป็นประโยชน์ในหลายวงการทั้งการแพทย์ วิศวกรรม และการออกแบบผลิตภัณฑ์ ขณะเดียวกันก็มีความกังวลว่าเครื่องพิมพ์ 3 มิติ จะกลายเป็นเครื่องมือผลิตวัตถุผิดกฎหมายและวัตถุอันตราย เช่น อาวุธปืน จึงจำเป็นต้องจัดระเบียบการนําเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เข้ามาในราชอาณาจักร

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้จัดระดมความเห็นเรื่อง "ผลกระทบจากการจัดระเบียบเครื่องพิมพ์ 3 มิติ" เพื่ออภิปรายถึงข้อเท็จจริงของประสิทธิภาพเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ในประเทศไทย และตอบคำถามว่า มติครม.ที่ออกมาเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยจากเครื่องพิมพ์ชนิดนี้เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลหรือไม่ เมื่อต้องแลกกับการสูญเสียโอกาสในการพัฒนางานสร้างสรรค์ จากเครื่องมือที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นดาบสองคม

สวทช. จัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กรณีผลกระทบจากการจัดระเบียบเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

สวทช. จัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กรณีผลกระทบจากการจัดระเบียบเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

สวทช. จัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กรณีผลกระทบจากการจัดระเบียบเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

 

วอนรู้จักเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ให้รอบด้านก่อนพิพากษา

"ไม่เคยมีรายงานการเสียชีวิตเพราะฆ่ากันตายด้วยปืนจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ" วิวัฒน์ อรุณเรืองศิริเลิศ ผู้จัดจำหน่ายเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ยืนยันว่า เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ไม่ใช่เครื่องมืออันตราย พร้อมกับอธิบายเพิ่มเติมว่าเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เป็นที่นิยมอย่างมากในสหรัฐฯ และออสเตรเลียมานาน 5-6 ปี แม้มีกฎหมายควบคุมเข้มงวดกว่าประเทศไทย แต่รัฐบาลก็เปิดกว้างให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากเครื่องมือชนิดนี้ 

"แม้ยังไม่ใช่การห้ามนำเข้าหรือใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ แต่การออกประกาศควบคุม จะทำให้ประเทศไทยตามประเทศอื่นไม่ทัน โดยเฉพาะในด้านพัฒนาการของเยาวชน ที่จะได้จากการใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ" วิวัฒน์ระบุ

สุพัฒ สังวรวงษ์พนา นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ แสดงความกังวลเช่นกัน สุพัฒกล่าวว่า ในต่างประเทศมีกฎหมายรองรับสำหรับเครื่องพิมพ์ 3 มิติ และมีการจัดเรตของเครื่องพิมพ์สามมิติที่เหมาะสมกับการใช้งานแต่ละประเภท ทั้งนี้เพราะเห็นประโยชน์ ทั้งด้านการแพทย์ ดีไซน์ วิศวกรรม อาหาร ฯลฯ มากกว่าโทษที่จะเกิดขึ้น

สุพัฒกล่าวต่ออีกว่า เครื่องพิมพ์ 3 มิติ มีประโยชน์มาก โดยส่วนตัวเขามีแนวคิดที่จะสร้างหลอดเลือดขึ้นจากเส้นใยของเครื่องพิมพ์ 3 มิติ โดยใช้เส้นพลาสติกที่ย่อยสลายได้ กำหนดตามรูปและขนาดหลอดเลือดที่ต้องการ และรอให้เซลล์มาหุ้มเส้นพลาสติกจนได้หลอดเลือดเส้นใหม่ ขณะที่เส้นพลาสติกก็สลายไป 

แต่หากมีการควบคุมการใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ นวัตกรรมต่างๆ ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีชนิดนี้ก็คงเกิดขึ้นได้ยาก 

ขณะที่ ทศพร เวชศิริ จากอินโนเวทีฟ สตาร์ท อัพ กล่าวว่า อาวุธที่เครื่องพิมพ์ 3 มิติ จะทำได้คือการผลิตของแหลมคมไว้ใช้ทำร้ายร่างกาย แต่ไม่สามารถผลิตเป็นอาวุธปืนและนำมาใช้จริงได้โดยเฉพาะในประเทศไทย เพราะเส้นพลาสติกที่ใช้ขึ้นรูปนั้นส่วนมากเป็นชนิดเปราะง่าย เพียงแค่อาทิตย์เดียวหากโดนแสงแดดจัดก็ผุกร่อนแล้ว ดังนั้นหากต้องการพิมพ์โมเดลปืนจริงต้องใช้เส้นใยพลาสติกชนิดพิเศษ ขณะเดียวกันในการทำปืนสักหนึ่งกระบอก จำเป็นต้องมีโลหะเข้ามาผสม เช่น ทำกระเดื่องปืน และเส้นใยพลาสติกถึงแม้จะเป็นแบบพิเศษ แต่สุดท้ายแล้วไม่ก็ไม่แข็งแรงพอที่จะรองรับการทำงานของโลหะได้ 

"ในปี 2556 นักวิจัยในออสเตรเลียได้ทดลองใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ สร้างอาวุธปืนจริง แต่ประสิทธิภาพที่ได้คือระยะยิงไม่แม่น และเมื่อยิงถึง 60 นัด กระบอกปืนแตก ซึ่งอาจส่งผลกระทบหรือระเบิดคามือคนยิงได้ นอกจากนี้ การสร้างอาวุธปืนจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ต้องเป็นเครื่องพิมพ์ระดับอุตสาหกรรมที่มีราคา 20-30 ล้านบาท อีกทั้งยังต้องอาศัยองค์ความรู้อีกมาก ผู้พิมพ์ประดิษฐ์ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านอาวุธถึงจะผลิตได้ ซึ่งผลวิจัยจากสหรัฐฯ ออกมาคล้ายกัน และระบุชัดว่า การผลิตอาวุธจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ไม่คุ้มค่า ใช้วิธีอื่นง่ายกว่า" วิวัฒน์ให้ข้อมูล

เอกชนเชื่อ "รัฐได้ข้อมูลไม่ครบ"

ชัยวัฒน์ ลิ้มพรจิตรวิไล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินโนเวตีฟ เอ็กเพอริเมนต์ จำกัด หนึ่งในผู้เข้าร่วมอภิปรายแสดงความเห็นว่า ขณะนี้ รัฐยังไม่ได้ห้ามนำเข้าหรือห้ามใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพียงอยากรู้ว่าใครเป็นผู้นำเข้า นำเข้ามาแล้วนำไปใช้ที่ไหน โดยใครหรือขายให้ใคร เพื่อที่ว่าเมื่อเกิดปัญหาขึ้นจะได้รู้ว่าต้องเอาผิดกับใคร การที่รัฐบาลและทหารมีความห่วงใยในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะคนส่วนมากยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เห็นได้จากเวลาที่มีงานแสดงนวัตกรรม พอเห็นบูธเครื่องพิมพ์ 3 มิติ คนมักจะเข้ามาถามว่าผลิตอาวุธได้หรือไม่ ใช้พิมพ์ปืนจริงได้ใช่หรือเปล่า

ชัยวัฒน์ แสดงทัศนะเพิ่มว่า ความห่วงใยของรัฐส่วนหนึ่งอาจมาจากการได้รับข้อมูลไม่ถูกต้องครบถ้วน ทำให้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ถูกตีความว่าเป็นอาวุธ ซึ่งที่จริงเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่หน่วยงานรัฐกังวลว่าจะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดนั้น คนไทยสามารถประดิษฐ์ขึ้นได้เอง ไม่จำเป็นต้องสั่งนำเข้าด้วยซ้ำ และส่วนมากมักใช้ในงานที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศ

นักประดิษฐ์ยืนยันว่าเครื่องพิมพ์ 3 มิติ มีคุณมากกว่าโทษ

นักประดิษฐ์ยืนยันว่าเครื่องพิมพ์ 3 มิติ มีคุณมากกว่าโทษ

นักประดิษฐ์ยืนยันว่าเครื่องพิมพ์ 3 มิติ มีคุณมากกว่าโทษ

 

"ส่วนตัวมองว่าการออกประกาศเช่นนี้มีนัยแอบแฝง ว่าอาจเป็นการกระตุ้นยอดขายเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพื่อให้คนรีบซื้อเพราะกลัวจะถูกจัดระเบียบหลังจากนี้ และงงมากว่าทำไมรัฐบาลถึงมาพูดเรื่องนี้ในช่วงเวลาที่มีงานบริหารอย่างอื่นที่ต้องจัดการอย่างเร่งรีบมากกว่า" ชัยวัฒน์ตั้งข้อสังเกต

ส่วนหนทางแก้ไขในเรื่องนี้นั้น ภาคเอกชนต่างบอกเป็นเสียงเดียวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องปรับความเข้าใจ โดยเสนอให้พูดคุยกับผู้นำเข้าหรือผู้ผลิตเพื่อให้ใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ อย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่โหมกระแสว่าเครื่องพิมพ์ 3 มิติ สร้างอาวุธได้ จนก่อเกิดความตระหนกในสังคม และทำให้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ กลายเป็นผู้ร้าย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง