"พท.-ปชป." เรียกร้อง คสช.ระบุให้ชัดว่าจะทำอย่างไรหากประชามติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ

การเมือง
30 มี.ค. 59
19:26
203
Logo Thai PBS
"พท.-ปชป." เรียกร้อง คสช.ระบุให้ชัดว่าจะทำอย่างไรหากประชามติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ
พรรคเพื่อไทยแสดงจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ "มีชัย ฤชุพันธุ์" ขณะที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์วิจารณ์ว่าหลายข้อบัญญัติสะท้อนถึงความถดถอย โดยทั้ง 2 พรรคเรียกร้องให้ คสช.ระบุให้ชัดว่าจะทำอย่างไรหากร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำในการทำประชามติ

หลังจากที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเปิดร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ต่อสาธารณะเมื่อวานนี้ (29 มี.ค.2559) พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนต่อร่างรัฐธรรมนูญ โดยประกาศจุดยืนว่าจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญซึ่งทางพรรคเห็นว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญ "ที่ไม่ยอมรับอำนาจของประชาชน ขัดต่อหลักการประชาธิปไตย และยังจะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างปัญหาให้กับประเทศมากยิ่งขึ้น"

พรรคเพื่อไทยระบุถึงปัญหาของร่างรัฐธรรมนูญที่ทำให้พรรคเลือกที่จะไม่รับร่าง 9 ประเด็น คือ เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ ประชาชนไม่มีส่วนร่วม, จะสร้างปัญหาทางการเมืองให้เพิ่มมากขึ้น, อำนาจการปกครองประเทศไม่ได้เป็นของประชาชน, นำพาเศรษฐกิจของประเทศดิ่งเหว, สร้างให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเหนือสภาและรัฐบาล, มิได้ปฏิรูปและวางระบบเพื่อแก้ปัญหาฉ้อราษฎรบังหลวง, บังคับให้ประเทศเดินตามกรอบยุทธศาสตร์ 20 ปี ของ คสช., ทำประเทศถอยหลัง และจะสร้างความขัดแย้งให้เพิ่มมากขึ้นในสังคม

พรรคเพื่อไทยยังได้วิจารณ์ถึงระบบเลือกตั้งที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าเป็นระบบเลือกตั้งที่จะสร้างให้เกิดรัฐบาลผสมหลายพรรค รัฐบาลไร้เสถียรภาพและประสิทธิภาพในการบริหาร วางกลไกเพื่อเปิดช่องให้บุคคลที่ไม่ได้เป็น ส.ส.มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

"ระบบเลือกตั้งดังกล่าวประชาชนไม่มีสิทธิในการ “เลือกคนที่รัก” และ “เลือกพรรคที่ชอบ” ได้เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 แต่ถูกบังคับให้เลือกทั้งคนและพรรคด้วยบัตรเลือกตั้งใบเดียว นอกจากนี้ยังนำคะแนนของผู้แพ้การเลือกตั้งมาคำนวณเพื่อเพิ่มจำนวน ส.ส.ให้พรรคที่แพ้เลือกตั้ง ขัดหลักประชาธิปไตย ในที่สุดรัฐบาลที่ได้มาจะเป็นรัฐบาลที่อ่อนแอไร้เสถียรภาพและประสิทธิภาพ เกิดปัญหาขัดแย้งกันได้ง่าย อายุรัฐบาลสั้น สูญเสียงบประมาณในการเลือกตั้งบ่อยครั้ง รัฐบาลจะสนใจแต่จะแก้ปัญหาตนเองมากกว่าปัญหาของประชาชน" แถลงการณ์ระบุ

สำหรับประเด็นเรื่อง ส.ว.สรรหา พรรคเพื่อไทยระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้สร้างกลไกที่ลดทอนอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชน แต่เพิ่มอำนาจให้ ส.ว. ซึ่งมาจากการสรรหา

"ยิ่งระยะ 5 ปีแรกหลังใช้รัฐธรรมนูญ ส.ว. 250 คนล้วนมีที่มาจาก คสช. ทั้งสิ้น โดยอ้างว่าเพื่อปฏิรูปและวางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศทั้งที่เรื่องดังกล่าวควรเป็นอำนาจหน้าที่ของตัวแทนประชาชน ส.ว. 250 คนจะเป็นกลไกในการยับยั้งกฎหมายของรัฐบาลที่มาจากประชาชน ยังสามารถลงมติร่วมกับ ส.ส. เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มิได้เป็น ส.ส. ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การปกครองประเทศจึงยังคงเป็นของ คสช.โดยทางอ้อม"

พรรคเพื่อไทยยังได้ตั้งคำถามถึงกลไกในการป้องกันทุจริตคอรัปชั่นในร่างรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะสร้างภาพว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับ "ปราบโกง" แต่เนื้อหาไม่ได้ปฏิรูปและวางระบบเพื่อแก้ปัญหาฉ้อราษฎรบังหลวง

"รัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นก็เปิดช่องทางให้แต่งตั้งข้าราชการประจำดำรงตำแหน่ง ส.ว. ด้วย ไม่ปรากฏให้เห็นว่าได้มีความพยายามที่จะปฏิรูปและวางแนวทางแก้ไขปัญหาทุจริตอย่างเป็นระบบ ไม่มีการปฏิรูปองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ผ่านมาได้สร้างวิกฤตให้แก่ชาติหลายครั้ง"

พรรคเพื่อไทยได้เรียกร้องให้ประชาชนออกมาลงประชาตมติ "ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ" ด้วย พร้อมกับเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ก่อนการลงประชามติ เนื่องจากไม่ได้กำหนดว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติแล้วจะดำเนินการอย่างไร โดยให้แก้ไขอย่างชัดเจนว่า "หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ให้นำรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มาปรับแก้และประกาศใช้เป็นการชั่วคราว" พร้อมกับ "จัดให้มีการเลือกตั้งภายในไม่เกิน 6 เดือน" เพื่อให้การบริหารประเทศไม่สะดุด

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญว่า ข้อบัญญัติหลายประเด็น ทั้ง ส.ว.สรรหาช่วงเปลี่ยนผ่าน หรือ แม้แต่การเปิดช่องทางให้เลือกนายกรัฐมนตรีคนนอก เป็นเหตุให้ความเป็นประชาธิปไตยถดถอยลง

"ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มองในมุมสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตยถดถอยกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 โดยเฉพาะในบทเฉพาะกาล ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในแง่ของบทบาทหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาที่จะส่งผลต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อันนี้เป็นจุดอ่อนที่ชัดเจน ที่สำคัญ การแก้ไขเพิ่่มเติมรัฐธรรมนูญก็ทำได้ยาก สิ่งนี้เป็นความห่วงใยของพรรค ส่วนข้อดี เราสนับสนุนทุกมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการปราบโกง และมีความพยายามใส่กลไกป้องกันไม่ให้บางเหตุการณ์เกิดขึ้น แต่พรรคต้องพิจารณาเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญนี้โดยประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองด้วย เพราะเป้าหมายสุดท้ายคือให้ประเทศเดินหน้า มีระบอบประชาธิปไตยที่ยั่งยืน" นายอภิสิทธิ์กล่าว

 

ความเห็น "อภิสิทธิ์ " ต่อร่าง รธน. วันที่ 30 มี.ค. 2559 เวลา11.50 น . นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ที่ พรรคประชาธิปัตย์ #DemocratTH #พรรคประชาธิปัตย์

Posted by Democrat Party, Thailand on Wednesday, 30 March 2016

 

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยังมีความเห็นสอดคล้องกับพรรคเพื่อไทยในประเด็นว่าด้วยการทำประชามติที่ว่า คสช.ควรบอกให้ชัดว่าห่างร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะทำอย่างไรต่อไป

"เราอยากให้คสช.มีความชัดเจนว่าในกรณีที่ประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จะทำอย่างไรต่อไป จะมีกระบวนการอย่างไร จะเอาอะไรมาแทน เพราะเจ้าของประเทศทุกคนมีสิทธิที่จะรู้ ไม่ใช่ไปตัดสินใจบนพื้นฐานของความไม่แน่นอน การตัดสินใจบนพื้นฐานของความไม่แน่นอนย่อมเป็นการตัดสินใจโดยเป็นเรื่องของการเมืองมากกว่าเนื้อหาสาระ" นายอภิสิทธิ์กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง