"อภิสิทธิ์" แถลงท่าที ปชป.ไม่เห็นด้วยกับร่าง รธน.- คำถามพ่วง สนช.

การเมือง
10 เม.ย. 59
15:15
474
Logo Thai PBS
"อภิสิทธิ์" แถลงท่าที ปชป.ไม่เห็นด้วยกับร่าง รธน.- คำถามพ่วง สนช.
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แถลงท่าทีของพรรคต่อร่างรัฐธรรมนูญ การทำประชามติ รวมทั้งคำถามพ่วงในการทำประชามติของ สนช. โดยย้ำว่าไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญเพราะมีข้อเสียมากกว่าข้อดี และไม่เห็นด้วยกับการให้ ส.ว.มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี

วันนี้ (10 เม.ย.2559) นายอภิสิทธิ์พร้อมด้วยแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ได้แถลงข่าวที่ที่ทำการพรรคโดยเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการทำประชามติที่เสรีและเป็นธรรม พร้อมกับแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำถามพ่วงของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการทำประชามติที่ถามว่าวุฒิสภาควรมีสิทธิเลือกนายกฯ หรือไม่

นอกจากนี้ พรรคประชาธิปัตย์ยังย้ำจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย แต่ยังไม่ระบุว่าจะ "รับ" หรือ "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญเพราะต้องพิจารณาปัจจัยอื่นประกอบ และต้องการให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตอบคำถามว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

ประชามติต้องเสรีและเป็นธรรม

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าหัวใจของการจัดทำประชามติคือต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม และต้องเป็นกระบวนการที่เสรีและเป็นธรรม ซึ่งจะทำให้รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติมีความชอบธรรมและมีภูมิคุ้มกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ การจัดทำกฎหมายประชามติมีความสับสนมากในการกำหนดบทบาทของฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะการมีข้อห้ามเรื่องการแสดงออกตามที่ปรากฏในมาตรา 62 ของร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ที่ห้ามประชาชนสื่อสารที่ผิดจากข้อเท็จจริง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่ เพื่อให้คนไปออกเสียงทางหนึ่งทางใดหรือไม่ไปออกเสียง ซึ่งเมื่อพิจารณาตามมาตรานี้แล้วหมายความว่า การแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นไปอย่างสุจริต ไม่ผิดจากข้อเท็จจริง และไม่เข้าข่ายมาตรา 62 ต้องเป็นสิ่งที่กระทำได้

"ดังนั้น กกต.ต้องออกมายืนยันว่าประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพในการกระบวนการประชามติได้ เพื่อขจัดความสับสน มิเช่นนั้นแล้วประชามติจะปราศจากความชอบธรรมและเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ เพราะถ้ากระบวนการนี้ไม่เสรีและไม่เป็นธรรม ก็จะไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการทำประชามติ พรรคประชาธิปัตย์ขอเรียกร้องให้ กกต.แสดงความชัดเจนนี้เพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับผลของการทำประชามติ" นายอภิสิทธิ์กล่าว

"ไม่รับ" คำถามพ่วง สนช.-ค้าน ส.ว.มีสิทธิเลือกนายกฯ

สำหรับประเด็นเรื่องคำถามพ่วงในการทำประชามติ ของ สนช.ที่ถามว่าสมควรให้วุฒิสภาที่อยู่ในวาระ 5 ปีตามบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญมีสิทธิเลือกนายกฯ หรือไม่นั้น พรรคประชาธิปัตย์มองว่าเป็นคำถามที่มีความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะหากประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย ก็จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยการกับที่จะให้ ส.ว.มีสิทธิเลือกนายกฯ

"พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยและไม่รับคำถามนี้ เพราะวุฒิสภาที่จะเข้ามาทำงานในระยะเวลา 5 ปีนั้นเป็นวุฒิสภาที่มาจากกระบวนการสรรหาและคสช.เป็นคนแต่งตั้ง การเอาสมาชิกวุฒิสภามาลงคะแนนเสียงร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยมีสิทธิมีเสียงเท่ากันก็หมายความว่าสามารถล้มล้างเจตจำนงของประชาชนที่แสดงออกในการเลือกตั้งได้ ซึ่งผิดหลักการ การทำเช่นนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ และมีแต่จะทำให้ความขัดแย้งและปัญหาทางการเมืองรุนแรงขึ้น" นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์แสดงความกังวลว่า หาก ส.ว.ทั้ง 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช.ทั้งหมดจับมือกับพรรคการเมืองที่ไม่ได้รับเสียงส่วนใหญ่ หรือจับมือกับ ส.ส.เสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎรแล้วตั้งนายกรัฐมนจตรีขึ้นมา รัฐบาลก็จะทำงานยาก

"ในขณะที่ คสช.ย้ำเสมอว่าไม่ต้องการให้บ้านเมืองกลับไปขัดแย้งกัน การเริ่มต้นด้วยการอนุญาตให้คนจำนวนหนึ่งมาล้มล้างเจตจำนงของประชาชนได้คือสูตรสำเร็จของการสร้างความขัดแย้งในวงกว้างในสังคมทันที" นายอภิสิทธิ์กล่าว "ด้วยเหตุนี้พรรคประชาธิปัตย์จึงยืนยันว่าคำถามนี้ประชาชนจึงไม่สมควรที่จะรับในการลงประชามติ ถ้าหากรับจะยิ่งเป็นการสร้างขัดแย้งและผิดกติกา"

นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยให้สัมภาษณ์ว่าไม่เห็นด้วยที่จะให้สภาชิกวุฒิสภามาร่วมโหวดเลือกนายกฯ จึงหวังว่า พล.อ.ประยุทธ์จะยืนยันความเห็นนี้

"อภิสิทธิ์" ไม่เห็นด้วย "ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ"

ร่างรัฐธรรมนูญมีข้อเสียมากกว่าข้อดี-คสช.ต้องเปิดเผยกระบวนการหลังประชามติ

"จากการประมวลความเห็นของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เราเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อเสียมากกว่าข้อดี และเราไม่เห็นด้วยที่รัฐธรรมนูญนี้จะเป็นกฎหมายสูงสุดที่จะมากำหนดกติกาจัดสรรอำนาจและบทบาทต่างๆ ขององค์กรต่างๆ ของรัฐกับประชาชน" นายอภิสิทธิ์กล่าวและชี้ว่าข้อเสียที่ใหญ่ที่สุดของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือการเบี่ยงเบนเจตจำนงของประชาชน และลดอำนาจของประชาชนเมื่อเทียบกับอำนาจรัฐ


นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อดีตรงมาตรการปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น การทุจริตการเลือกตั้ง และการป้องกันนักการเมืองมาแทรกแซงการจัดทำงบประมาณและนำงบประมาณนั้นไปใช้เสียเอง แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีจุดอ่อนอยู่บ้าง เช่น การยกเลิกกระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทำให้เป็นเรื่องยากในการเอาผิด

จุดอ่อนที่สำคัญที่สุดอีกจุดหนึ่งของร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย คือ สถานะของ ป.ป.ช.ที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่จะต้องถูกเข้าสู่กระบวนการถอดถอนหรือฟ้องศาลหากพบว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การจะดำเนินคดีกับ ป.ป.ช.ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจะต้องไปผ่านประธานรัฐสภาซึ่งก็คือ ส.ส.ที่สังกัดฝ่ายรัฐบาล ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า ป.ป.ช.กับรัฐบาลต่อรองกันและกันได้ ทำให้กระบวนการปราบทุจริตอ่อนแอลง

พรรคประชาธิปัตย์ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า โครงสร้างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญปี 2521 ที่มีบทเฉพาะกาล ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นคือ มีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อต่ออายุบทเฉพาะกาล ซึ่งหากมีความพยายามเช่นนั้นเกิดขึ้น โดยที่วุฒิสภากับรัฐบาลในขณะนั้นสมประโยชน์กัน ก็มีโอกาสแก้ไขเพิ่มเติมไปในทิศทางที่ตัวเองต้องการได้

"พรรคเห็นว่าข้อเสียของรัฐธรรมนูญมีมากกว่าข้อดีและเราไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประเทศไทยต้องการรัฐธรรมนูญที่ปราบโกงและเป็นประชาธิปไตย เราไม่ควรต้องเลือกระหว่างเผด็จการกับคอรัปชั่น สิ่งที่ปรากฏอยู่ขณะนี้ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้ประเทศเดินหน้าไปได้" นายอภิสิทธิ์กล่าวและอธิบายว่าเหตุที่พรรคประชาธิปัตย์บอกเพียงว่าไม่เห็นด้วยแต่ไม่ระบุว่าจะ "รับ" หรือ "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเพราะการรับหรือไม่รับมีปัจจัยทางการเมืองต้องพิจารณาประกอบ เช่น คำถามว่า ชถ้าประชาชนลงประชามติไม่รับร่าง มีหลักประกันอะไรว่ารัฐธรรมนูญที่จะบังคับใช้ต่อไปจะดีกว่าหรือไม่เลวร้ายยิ่งไปกว่านี้

"ประชาชนมีสิทธิจะรู้ว่าถ้าเขาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจะมีกระบวนการอย่างไรต่อไป เราต้องการคำตอบจาก คสช.ว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะเกิดำอะไรขึ้น รองนายกฯ พูดหลายครั้งว่าเตรียมไว้หมดแล้ว แสดงว่ารู้แล้วแต่ไม่บอกประชาชน" นายอภิสิทธิ์กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง