ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่ง มธ.ลงโทษไล่ออก "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล"

สังคม
11 เม.ย. 59
13:03
896
Logo Thai PBS
 ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่ง มธ.ลงโทษไล่ออก "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล"
วันนี้ (11 เม.ย.2559) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงวันที่ 23 ก.พ.2558 ที่ลงโทษไล่นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มธ. ออกจากราชการ

คดีนี้นายสมศักดิ์ยื่นฟ้องอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 ตามลำดับ โดยขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ 356/2558 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ลงโทษไล่ออกจากราชการ

คำสั่งฉบับนี้ลงนามโดยนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มธ.ระบุว่า นายสมศักดิ์ได้ละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่า 15 วัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรและมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ ตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค.2557 จนถึงวันที่ มธ.มีคำสั่งไล่ออกคือในวันที่ 23 ก.พ.2558 ถือเป็นการกระทำผิดวินัยและทำให้มหาวิทยาลัยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

คำสั่งระบุว่าระหว่างที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่นั้น นายสมศักดิ์ไม่ได้ยื่นขอลาหยุดแต่อย่างใด มีเพียงการยื่นหนังสือขอลาออกจากราชการโดยขอให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค.2557 เท่านั้น

ศาลปกครองชี้ "สมศักดิ์" ไม่ได้จงใจฝ่าฝืนระเบียบราชการ

เอกสารสรุปคำพิพากษาของศาลปกครองระบุว่าเมื่อวันที่ 16 พ.ค.2557 นายสมศักดิ์ได้ยื่นเรื่องขอไปปฏิบัติงานภายในประเทศเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการเป็นเวลา 1 ปี คือ ระหว่างวันที่ 1 ส.ค.2557-31 ก.ค.2558 ซึ่งแม้อธิการบดีฯ จะยังไม่ได้ลงนามอนุมัติในคำขอไปปฏิบัติงานของนายสมศักดิ์ แต่กระบวนการสำคัญในการพิจารณาซึ่งตามระเบียบกำหนดให้หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ และคณะกรรมการประจำคณะเป็นผู้พิจารณาได้เสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่ก่อนวันที่ 1 ส.ค.2557 อันเป็นวันเริ่มต้นการทำวิจัย ซึ่งเมื่อพิจารณาจากคำสั่งที่ไล่ออกที่ระบุว่าให้มีผลตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค.2557 แสดงให้เห็นว่าทางมหาวิทยาลัยก็เห็นว่านายสมศักดิ์ไม่ได้จงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือละทิ้งหน้าที่ราชการในช่วงระยะเวลาที่ขอไปปฏิบัติงานภายในประเทศเพื่อเพิ่มพูนความรู้

ต่อมาหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์และคณบดีคณะศิลปศาสตร์ได้มีหนังสือ ลงวันที่ 18 ธ.ค.2557 และ 26 ธ.ค.2557 แจ้งให้นายสมศักดิ์ซึ่งถือว่าอยู่ระหว่างปฏิบัติงานภายในประเทศเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ กลับไปปฏิบัติราชการและรับมอบหมายภาระงานสอน แต่นายสมศักดิ์ไม่ได้กลับไปปฏิบัติราชการที่คณะฯ ซึ่งศาลเห็นว่ากรณีนี้นายสมศักดิ์ไม่ได้มีพฤติการณ์ที่เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง เนื่องจากคำสั่งที่ให้กลับไปฏิบัติราชการนั้นไม่ได้ลงนามโดยอธิการบดี อีกทั้งในขณะนั้นยังไม่มีคำสั่งไม่อนุมัติคำขอไปเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการของนายสมศักดิ์ ในสถานการณ์เช่นนี้จึงยังไม่มีความชัดเจนว่านายสมศักดิ์ต้องยื่นใบลาประเภทอื่นต่อผู้บังคับบัญชาหรือไม่ ส่วนกรณีที่ทางมหาวิทยาลัยมีคำสั่งยกเลิกการขออนุมัติลาไปเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการของนายสมศักดิ์นั้น ศาลระบุว่าเป็นคำสั่งที่ออกเมื่อวันที่ 28 ม.ค.2558 หรือหลังจากที่คณะฯ มีคำสั่งให้กลับไปปฏิบัติราชการนานกว่า 1 เดือน และภายหลังจากที่นายสมศักดิ์ได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากราชการ

นอกจากนี้ศาลยังระบุด้วยว่า การจะพิจารณาความผิดวินัยของข้าราชการที่มีพฤติการณ์ "จงใจ" ไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามระเบียบแบบแผนของทางราชการนั้น จะต้องปรากฏว่าข้าราชการผู้นั้นได้รู้หรือทราบข้อเท็จจริงดีอยู่แล้วว่า การกระทำของตนเข้าลักษณะเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามระเบียบแบบแผนของทางราชการและเป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการ แต่ก็ยังเจตนาแสดงพฤติการณ์ที่ฝ่าฝืนดังกล่าว แต่ในกรณีของนายสมศักดิ์นั้น ทางมหาวิทยาลัยไม่ได้แจ้งคำสั่งยกเลิกการขออนุมัติไปปฏิบัติงานในประเทศให้นายสมศักดิ์ทราบ และไม่ปรากฏว่านายสมศักดิ์มีพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่าได้รู้ถึงหน้าที่ที่ต้องกลับไปปฏิบัติราชการที่มหาวิทยาลัย แต่ก็ยัง "จงใจ" ฝ่าฝืนไม่ยอมกลับไปปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว

"ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้กลับมาปฏิบัติราชการประจำตามหนังสือแจ้งของหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์และคณบดีคณะศิลปศาสตร์ดังกล่าว จึงเป็นพฤติการณ์ที่มีเหตุผลตามสมควร และถือไม่ได้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวผู้ฟ้องคดีมีพฤติการณ์จงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบ แบบแผนของทางราชการ และละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่า 15 วัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือโดยมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ ที่อธิการบดีฯ จะนำมาเป็นเหตุออกคำสั่งลงโทษทางวินัยผู้ฟ้องคดีได้ ดังนั้น คำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย" ศาลปกครองระบุ

ศาลปกครองกลางจึงพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามคำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ 356/2558 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ให้ยกอุทธรณ์ของนายสมศักดิ์ โดยให้มีผลย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่มีคำสั่งและคำวินิจฉัยดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากวันที่มหาวิทยาลัยมีคำสั่งยกเลิกการขออนุมัติลาไปปฏิบัติงานภายในประเทศเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการของนายสมศักดิ์แล้ว แต่นายสมศักดิ์ยังคงไม่มาปฏิบัติราชการ และอธิการบดีฯ เห็นว่ามีการกระทำที่เป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หรือละทิ้งหน้าที่ราชการนั้น ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังการสอบสวนในคดีนี้ จึงเป็นเรื่องที่อธิการบดีฯ จะไปพิจารณาดำเนินการตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

ภายหลังฟังคำพิพากษา น.ส.ภาวิณี ชุมศรี ทนายความผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีแทนนายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวประชาไทว่า พอใจผลคำพิพากษาคดี ขณะที่นายสมศักดิ์ไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง