รอพิสูจน์อีก 1 ปี "โรงเผาขยะแบบไร้ควัน" นวัตกรรมผ่าทางตันวิกฤตขยะล้นเกาะล้าน

สิ่งแวดล้อม
25 เม.ย. 59
18:47
1,603
Logo Thai PBS
รอพิสูจน์อีก 1 ปี "โรงเผาขยะแบบไร้ควัน" นวัตกรรมผ่าทางตันวิกฤตขยะล้นเกาะล้าน
สำนักงานเมืองพัทยาวางแผนสร้าง "โรงเผาขยะแบบไร้ควัน" เพื่อจัดการขยะบนเกาะล้าน แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมใน อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งขณะนี้กำลังประสบปัญหาขยะล้นเกาะ โดยผู้บริหารเมืองพัทยาตั้งเป้าไว้ว่าจะสามารถกำจัดขยะตกค้างกว่า 10,000 ตันได้ภายในเวลา 1 ปี

เป็นเวลาเกือบ 1 ปีแล้วนับตั้งแต่ นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ให้สัมภาษณ์ว่าเมืองพัทยาจะมีแผนการจัดการแก้ไขปัญหาขยะล้นเกาะล้านในระยะยาว แต่จากการลงพื้นที่สำรวจปัญหาของผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส พบว่าเกาะล้านยังประสบปัญหาขยะตกค้างเป็นจำนวนมากและเริ่มมีการนำขยะมากองทิ้งตามถนนบนเกาะอยู่เกลื่อนกลาด

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารเมืองพัทยายืนยันว่าไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหานี้ และกำลังมีแผนสร้างโรงคัดแยกขยะ และเตาเผาขยะแบบไร้ควัน แทนการก่อสร้างเตาเผาขยะซึ่งถูกคัดค้านจากประชาชน

ขยะตกค้างนับหมื่นตันบนเกาะล้าน

 

ปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเกินศักยภาพการรองรับของเกาะล้านเป็นต้นเหตุหนึ่งของปัญหาขยะล้นเกาะ 

แก้ปัญหาขยะเกาะล้านด้วย "โรงเผาขยะแบบไร้ควัน"

นายชวลิต ประดิษฐ์พฤกษ์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยสำนักงานเมืองพัทยา สาขาเกาะล้าน เผยกับ "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ว่า ทางเมืองพัทยาไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ปัญหา ซึ่งหลังจากโครงการเตาเผาขยะครั้งแรกที่เสนอไปถูกคัดค้านโดยชาวเกาะล้านบางส่วน ทำให้การดำเนินงานแก้ปัญหาล่าช้า แต่ขณะนี้ทางเมืองพัทยาได้วางงบประมาณและแผนดำเนินงาน เพื่อแก้ไขแบบระยะยาวไว้แล้ว

"ทางแก้ไขที่เราจะทำคือสร้างโรงคัดแยกขยะที่มีเตาเผาขยะแบบไร้ควันและเผาไหม้แบบหมดจด ซึ่งเป็นนวัตกรรมจากต่างประเทศที่มีการศึกษาแล้วว่าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยเกาะล้านถือเป็นพื้นที่แรกในภูมิภาคเอเชียที่นำนวัตกรรมนี้มาใช้ คาดว่าประมาณสิ้นเดือนมิถุนายน 2559 จะมีการลงนามเอ็มโอยูเพื่อลงมือก่อสร้างในพื้นที่บ่อขยะเดิมที่ออกเอกสารสิทธิ์ให้เป็นที่ดิน นสล. (หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง) เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี ส่วนเรื่องงบประมาณไม่ต้องกังวลเพราะใช้งบประมาณเดิมที่มีอยู่แล้ว" นายชวลิต กล่าวถึงโครงการก่อสร้างโรงเผาขยะซึ่งใช้งบประมาณ 30 ล้านบาท

นายชวลิต อธิบายการกำจัดขยะด้วยเทคโนโลยีเตาเผาขยะแบบไร้ควันว่า จะต้องมีการคัดแยกขยะรีไซเคิล รวมถึงอะลูมิเนียมและพลาสติกที่ไม่สามารถเข้าเตาเผาได้ออก โดยบางส่วนจะนำไปขาย ขยะที่เหลือกจะถูกบดอัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยมก่อนนำเข้าเตาเผา ซึ่งในกระบวนการนี้กำลังศึกษาว่าจะมีการใช้พลังงานความร้อนจากการเผาขยะไปผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้บนเกาะล้านได้หรือไม่

หากการก่อสร้างเป็นไปตามแผน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีในการจัดการขยะที่ตกค้างอยู่บนเกาะได้ทั้งหมด 

หมักน้ำอีเอ็มไว้ใช้ฉีดพ่นดับกลิ่นขยะมูลฝอยที่บ่อขยะใหญ่ 

"นอกจากสิ่งที่ทางการกำลังเร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา อยากขอความร่วมมือจากคนในชุมชนและนักท่องเที่ยว ในเรื่องการคัดแยกและทิ้งขยะให้เป็นที่ตามเวลาตามจุดที่ทางเกาะล้านจัดไว้ให้ด้วย เพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาอื่นๆ ที่ยังมีอีกมากบนเกาะล้าน เช่น น้ำเสียที่ไหลลงสู่ทะเล" นายชวลิต กล่าว พร้อมกับยืนยันว่าจะเร่งแก้ปัญหาขยะและวางระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมบนเกาะล้านให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 2 ปี

วอนเที่ยวอย่างตระหนัก ช่วยเกาะล้านสวยงามคู่เมืองพัทยา

"ถ้าเรายังไม่ตระหนัก ไม่ช่วยกัน อีกไม่กี่ปีเกาะล้านจะเน่า ทั้งขยะล้นเกาะ ทั้งน้ำเสีย ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาแรงงานต่างด้าว แล้วใครจะมาเที่ยว รายได้ที่เคยมีก็หดหาย ถึงเวลานั้นเราก็แก้ไขอะไรไม่ได้อีกแล้ว" รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเมืองพัทยา สาขาเกาะล้าน กล่าว

ผู้ประกอบการเบี้ยวจ่ายค่าเก็บขยะ-เจ้าหน้าที่ไม่พอ

นอกจากโครงการก่อสร้างโรงงานเผาขยะแล้ว สิ่งที่เจ้าหน้าที่เชื่อว่าจะทำให้การจัดการขยะบนเกาะล้านเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น คือ การที่ผู้ประกอบการบนเกาะยอมจ่ายค่าบริการจัดเก็บขยะ เนื่องจาก สำนักงานเมืองพัทยา สาขาเกาะล้าน พบว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการบนเกาะ 75 คนที่ติดค้างค่าบริการจัดเก็บขยะ บางคนติดค้างนาน 2-3 ปี คิดเป็นเงินมูลค่า 3-4 แสนบาท ทำให้เกาะล้านสูญเสียรายได้ที่จะนำมาจัดการปัญหาขยะบนเกาะให้ดีขึ้น

การแก้ปัญหาอีกประการหนึ่ง คือ การเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานให้เหมาะสม ซึ่ง นายจรัญ เทียมเมือง หัวหน้าฝ่ายป้องกันและรักษาความปลอดภัย สำนักงานเมืองพัทยา สาขาเกาะล้าน แสดงความเห็นว่า ส่วนหนึ่งที่งานพัฒนาเกาะล้านในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมไม่คืบหน้า เพราะจำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ โดยขณะนี้มีอยู่เพียง 9 คน ซึ่งถือว่าน้อยมากถ้าเทียบกับประชากรทั้งหมดที่อาศัยหรือทำธุรกิจอยู่บนเกาะ ซึ่งนับวันจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

นายจรัญ เทียมเมือง หัวหน้าฝ่ายป้องกันและรักษาความปลอดภัย เกาะล้าน

"นอกจากนี้ ยังมีเรื่องค่าตอบแทนที่ทำให้หลายคนไม่อยากทำงานบนเกาะล้าน เพราะเงินเดือนที่ได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายเนื่องจากค่าครองชีพสูง ขณะที่อุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดการก็เสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ เนื่องจากถูกความเค็มของเกลือทะเลกัด ถ้าเป็นไปได้อยากขอกำลังเจ้าหน้าที่จากทางเมืองพัทยาเพิ่ม รวมถึงอุปกรณ์คุณภาพสูง" นายจรัญ ระบุ

มาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าปัญหาขยะเกาะล้าน

โครงการก่อสร้างโรงเผาขยะมูลค่า 30 ล้านบาทนั้น คาดว่าต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 1 ปีถึงจะเปิดใช้การได้ ระหว่างนี้ชุมชนเกาะล้านจำเป็นที่จะต้องหาทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการร่วมมือกับสำนักงานเมืองพัทยา สาขาเกาะล้าน ในการจัดการกับขยะที่เพิ่มปริมาณขึ้น

นายบุญเชิด บุญยิ่ง ประธานชุมชนเกาะล้าน เมืองพัทยา กล่าวว่า อันดับแรกทางชุมชนจะร่วมมือกับสำนักงานเมืองพัทยา สาขาเกาะล้าน เพื่อพูดคุยสร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน และทำประชาพิจารณ์ต่อแผนการจัดการขยะ จากนั้นจะจัดเวรรถเก็บขยะอย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยให้บ้านเรือนและสถานประกอบการนำขยะมาทิ้งไว้ยังจุดที่ทางการกำหนดในช่วงเวลา 06.00-08.00 น. แต่หากเป็นขยะวัสดุก่อสร้างต้องนำไปทิ้งที่บ่อขยะใหญ่เอง

นอกจากนี้ ชุมชนจะปลูกฝังให้เยาวชนบนเกาะล้านตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อม และเป็นตัวเชื่อมให้ผู้ปกครองหันมาตระหนักในเรื่องนี้ไปพร้อมกัน

"เพื่อให้เกาะล้านพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น เกาะล้านจึงอยู่ในข่ายที่จะถูกยกระดับขึ้นเป็นอีกอำเภอของจังหวัดชลบุรี ซึ่งอาจทำให้จำนวนเจ้าหน้าที่และงบประมาณในการจัดการได้รับการจัดสรรมากขึ้น" นายบุญเชิด กล่าว

นายบุญเชิด บุญยิ่ง ประธานชุมชนเกาะล้าน เมืองพัทยา

แม้ว่าปัญหาขยะบนเกาะล้านที่สะสมมานานอาจจะไม่สามารถแก้ได้ภายในเร็วๆ นี้ แต่ทุกฝ่ายต่างก็หวังว่า แผนการที่วางไว้โดยสำนักงานเมืองพัทยาและชุมชนเกาะล้าน จะช่วยให้ปัญหาขยะหมดไปในเร็ววัน และทำให้ "เกาะล้าน" เป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างชื่อให้เมืองพัทยา ทั้งในแง่ภาพลักษณ์สวยสะอาดตา และสร้างรายได้อย่างยั่นยืนให้กับคนในชุมชน

ติดตามในรายงานพิเศษ "วิกฤตขยะเกาะล้าน" ตอนที่ 1 วิกฤตขยะล้น "เกาะล้าน" : หาดสวย-ทะเลใสกับกองขยะกว่า 1 หมื่นตัน

สิรินภา อิ่มศิริ ผู้สื่อข่าวไทยบีพีเอสออนไลน์ รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง