ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ เผยแรงงานไทยหนี้สูงสุดในรอบ 8 ปี

เศรษฐกิจ
29 เม.ย. 59
10:59
268
Logo Thai PBS
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ เผยแรงงานไทยหนี้สูงสุดในรอบ 8 ปี
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจสถานภาพแรงงานไทย พบว่ามีปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายและมีการกู้ยืมมาก ซึ่งถือว่าแย่สุดในรอบ 8 ปี โดยวันแรงงานปีนี้ต้องการให้รัฐให้ความสำคัญเรื่องค่าแรงและการช่วยเหลือในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจสถานภาพแรงงานไทย ที่ใช้กลุ่มตัวอย่างผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท จำนวน 1,212 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่าในปี 2559 สถานภาพเศรษฐกิจของแรงงานแย่ที่สุดในรอบ 8 ปีนับตั้งแต่มีการสำรวจ เนื่องจากแรงงานมีปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย มีหนี้สินมากขึ้น มีการกู้ยืมมาก โดยเฉพาะการกู้ยืมนอกระบบที่สถิติสูงสุดในรอบ 8 ปี

ขณะเดียวกันแรงงานร้อยละ 54.2 ยังห่วงเรื่องโอกาสในการตกงานและเห็นว่าโอกาสในการเปลี่ยนงานใหม่ยังมีน้อย อีกทั้งยังต้องการให้มีการปรับรายได้ขั้นต่ำเพิ่มจากเดิมขั้นต่ำที่ 300 บาทต่อวัน เป็นเฉลี่ยที่ 356 บาท 76 สตางค์ต่อวัน ซึ่งอาจปรับขึ้นตามกลไกให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น

ส่วนสิ่งที่แรงงานกังวล 3 อันดับแรก คือ รายได้ในปัจจุบัน การตกงาน และราคาสินค้าในปัจจุบัน โดยแรงงานมองว่าสิ่งที่รัฐต้องให้ความสำคัญกับแรงงานคือ เรื่องค่าแรง นโยบายการให้ความช่วยเหลือแรงงาน ส่งเสริมฝีมือแรงงาน และการประกันสังคม รวมถึงการดูแลหนี้ของแรงงาน ค่าครองชีพ (ราคาสินค้า) และการช่วยเหลือในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว แต่หากมีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แรงงานร้อยละ 68.2 ระบุว่ารับไม่ได้หากราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นจากปัจจุบันด้วย

หากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ กลุ่มธุรกิจมองว่าควรอยู่ที่ระดับ 310 บาท 68 สตางค์ต่อวัน โดยลักษณะการปรับค่าแรงขึ้นนั้น ส่วนใหญ่มองว่าต้องปรับขึ้นแยกตามพื้นที่ หรือแยกตามทักษะแรงงาน ขณะเดียวกันรัฐควรช่วยภาคธุรกิจด้วยการค่อยๆปรับขึ้น และมีการลดภาษีนิติบุคคล จัดอบรมฝีมือแรงงาน ให้เงินชดเชยแรงงานขั้นต่ำ อีกทั้งหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็อาจมีการเพิ่มราคาสินค้าและลดจำนวนแรงงานลง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง