องค์กรระหว่างประเทศเรียกร้องปล่อยตัว “สมยศ” หลังครบถูกจับขังมาแล้ว 5 ปี

การเมือง
30 เม.ย. 59
12:34
819
Logo Thai PBS
องค์กรระหว่างประเทศเรียกร้องปล่อยตัว “สมยศ” หลังครบถูกจับขังมาแล้ว 5 ปี
16 องค์กรระหว่างประเทศ เรียกร้องรัฐบาลไทยปล่อยตัว “สมยศ พฤกษาเกษมสุข” หลังถูกจับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ครบ 5 ปี แล้ว

วันนี้ (30 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์รายงานว่า เช้าวันนี้ องค์กรระหว่างประเทศ 16 องค์กร คือAmnesty International, Article 19, ASEAN Parliamentarians for Human Rights, Asian Forum for Human Rights and Development (FORUM-ASIA), Civil Rights Defenders, Clean Clothes Campaign, Committee to Protect Journalists, FIDH - International Federation for Human Rights, Fortify Rights, Front Line Defenders, Human Rights Watch, International Commission of Jurists (ICJ), Lawyers’ Rights Watch Canada, PEN International, Reporters Sans Frontières / Reporters Without Borders, World Organization Against Torture (OMCT) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งถูกควบคุมตัวมา 5 ปีแล้ว

เอกสารแถลงการณ์ระบุว่า ปัจจุบัน นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อายุ 54 ปี ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยอยู่ระหว่างโทษจำคุก 10 ปี ภายหลังศาลตัดสินว่า เขามีความผิดในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของไทยที่บัญญัติว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึง 15 ปี” ทั้งนี้โดยรวมถึงโทษจำคุกอีกหนึ่งปีในข้อหาหมิ่นประมาท แต่ก่อนหน้านี้มีการรอลงอาญาไว้

หน่วยงานกำกับดูแลด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติหลายแห่ง ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการควบคุมตัวนายสมยศ คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (UN Working Group on Arbitrary Detention - WGAD) ยืนยันในความเห็นที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2555 ว่า การควบคุมตัวนายสมยศเป็นการกระทำโดยพลการ คณะทำงานฯ ยังเรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวและให้ชดเชยค่าเสียหายแก่นายสมยศด้วย

นายสมยศเป็นอดีตนักกิจกรรมด้านสิทธิแรงงานและบรรณาธิการนิตยสาร เขาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 30 เม.ย.2554 ห้าวันหลังจากที่เขาเริ่มการรณรงค์เพื่อรวบรวม 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอให้รัฐสภาพิจารณาแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อมาในวันที่ 23 มกราคม 2556 ศาลอาญากรุงเทพพิพากษาลงโทษให้จำคุกเขาเป็นระยะเวลา 10 ปีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยแยกเป็นสองกระทง ทั้งนี้เป็นผลจากการที่นายสมยศอนุญาตให้ตีพิมพ์บทความล้อเลียนสองชิ้นในนิตยสาร Voice of Taksin ซึ่งเขาเป็นบรรณาธิการในขณะนั้น แต่บุคคลอื่นเป็นผู้เขียนบทความดังกล่าว ซึ่งทางการไทยเห็นว่าเป็นการหมิ่นพระเกียรติองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2557 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลอาญากรุงเทพให้ลงโทษนายสมยศในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยก่อนหน้านั้นศาลอุทธรณ์ไม่ได้แจ้งให้นายสมยศ ทนายความและครอบครัวทราบ ถึงกำหนดนัดหมายว่าจะมีการอ่านคำพิพากษา เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 นายสมยศยื่นคำร้องขออุทธรณ์คดีต่อศาลฎีกา

แถลงฝการณ์ระบุต่อว่า การตัดสินลงโทษและการควบคุมตัวนายสมยศ ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศของไทยซึ่งเป็นรัฐภาคี ในข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) ได้กำหนดให้บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งนี้รวมถึงสิทธิที่จะมี “เสรีภาพที่จะแสวงหา รับ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท”

ในความเห็นอย่างเป็นทางการต่อกติกาข้อ 19 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลการปฏิบัติตามข้อบทของกติกา ICCPR ของรัฐภาคีต่างๆ ยืนยันว่า “บุคคลสาธารณะทั้งปวง รวมทั้งบุคคลที่มีอำนาจทางการเมืองสูงสุดอย่างเช่นประมุขของรัฐและผู้นำรัฐบาล ต่างเป็นบุคคลที่ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์และถูกค้านทางการเมืองได้อย่างชอบธรรม”คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนยังแสดงความกังวลเป็นการเฉพาะ เกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และระบุว่า “การคุมขังไม่ใช่โทษที่เหมาะสม” สำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาท

ในวันที่ 23 กันยายน 2557 สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Office of the High Commissioner for Human Rights - OHCHR) แสดงความผิดหวังต่อคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ซึ่งพิพากษายืนให้นายสมยศมีความผิด ต่อมาในวันที่ 11 สิงหาคม 2558 สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้กระตุ้นให้รัฐบาลไทยแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่มีเนื้อหา “กำกวมและกว้างเกินไป" เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯ ยังเรียกร้องให้ปล่อยตัวบุคคลที่ถูกคุมขังเพียงเพราะใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกโดยทันที
ทางองค์กรที่ร่วมลงชื่อยังกล่าวถึงข้อบกพร่องและความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม ของนายสมยศ และการที่ศาลปฏิเสธไม่ให้ประกันตัว ที่ผ่านมานายสมยศยื่นคำร้องขอประกันตัวถึง 16 ครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ รวมถึงการยื่นขอประกันตัวครั้งสุดท้าย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 255

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า นายสมยศเป็นหนึ่งในจำเลยเพียงไม่กี่คนในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งตัดสินใจอุทธรณ์คำตัดสินจนถึงศาลฎีกา นายสมยศยืนยันว่า เขาเป็นผู้บริสุทธิ์และไม่รับสารภาพตามข้อกล่าวหา ทั้งนี้เนื่องจากคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทยมีอัตราโทษสูงมาก จำเลยส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะรับสารภาพ เพื่อให้ได้รับโทษจำคุกลดลง และเพื่อให้สามารถยื่นคำร้องขอพระราชทานอภัยโทษได้

องค์กรที่ร่วมลงชื่อเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ยุติการคุกคามนายสมยศโดยทันที และให้ปล่อยตัวเขากลับไปอยู่กับภรรยาและครอบครัว นอกจากนี้ทางองค์กรในที่นี้ยังเรียกร้องรัฐบาลไทยให้จ่ายค่าชดเชยอย่างเหมาะสมให้กับนายสมยศ และให้เขาได้รับการเยียวยาอย่างเป็นผลเนื่องจากการควบคุมตัวโดยพลการครั้งนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง