นักวิชาการหนุนข้อเสนอผู้หญิงชายแดนใต้ : ขอให้ "ตลาด" เป็นพื้นที่ปลอดภัย

ภูมิภาค
16 พ.ค. 59
16:10
261
Logo Thai PBS
นักวิชาการหนุนข้อเสนอผู้หญิงชายแดนใต้ : ขอให้ "ตลาด" เป็นพื้นที่ปลอดภัย
คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้เสนอพื้นที่ปลอดภัย 5 แห่ง คือ 1) ตลาด 2) ถนนสายหลักและสายรอง 3) โรงเรียน 4) มัสยิด วัดและสถานที่ประกอบศาสนกิจ และ 5) ป้อมของชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ได้รับการสนับสนุนจากนักวิชาการในพื้นที่

คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ซึ่งเป็นการรวมตัวกันขององค์กรผู้หญิงในพื้นที่ชายแดนใต้ 23 องค์กรจัดเวทีสานเสวนาใน "พื้นที่สีแดง" 4 แห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ต.ท่าสาป อ.เมือง จ.ยะลา, อ.บันนังสตา จ.ยะลา, อ.สายบุรี จ.ปัตตานี, และ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อปลายเดือนเมษายน 2559 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 12 ปี ของเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ 

ข้อเสนอที่ได้จากเวทีสานเสวนา คือ การทำให้พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยพื้นที่ที่ผู้หญิงชายแดนใต้ต้องการให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย 5 อันดับแรก ได้แก่ ตลาด ซึ่งครอบคลุมถึงตลาดนัดและร้านค้าในชุมชน, ถนนทั้งถนนสายหลักและถนนสายรอง, โรงเรียนทั้งในระดับประถมและมัธยม, มัสยิดหรือวัดรวมถึงสถานที่ประกอบศาสนกิจ และป้อมของชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.)

ณาตยา แวววีรคุปต์ บรรณาธิการกลุ่มข่าววาระทางสังคม สนทนากับ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ซึ่งศึกษาและผลักดันกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้ ถึงข้อเสนอเรื่องพื้นที่ปลอดภัยดังกล่าว ซึ่ง ผศ.ดร.ศรีสมภพมองว่าเป็น "มิติใหม่" ของข้อเสนอเรื่องพื้นที่ปลอดภัย เพราะเป็นการเลือกพื้นที่ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ซึ่งต่างจากการเสนอพื้นที่ปลอดภัยในเชิงภูมิศาสตร์หรือการแบ่งเขตการปกครอง

การทำงานเรื่องพื้นที่สาธารณะปลอดภัยของเครือข่ายผู้หญิง มีความสำคัญอย่างไรต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังดำเนินอยู่

เป็นการสะท้อนเสียงเรียกร้องของเครือข่ายผู้หญิงที่มีพลังในแง่ของความต้องการให้เกิดพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งผมคิดว่าการเริ่มต้นที่ตลาดนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและสะท้อนให้เห็นว่า เราต้องการให้ประชาชนใช้ชีวิตตามปกติได้จริงๆ ตลาดเป็นที่ที่มีผู้หญิงมารวมตัวกันเยอะ ทั้งแม่ค้าและคนที่มาจับจ่ายซึ้อของ เราจึงอยากให้ตลาดเป็นที่ปลอดจากการก่อเหตุ ข้อเสนอนี้เป็นการแสดงพลังของผู้หญิงที่ต้องการพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งเป็นข้อเสนอที่เกิดขึ้นในขณะที่การพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้กำลังจะหารือการเรื่องพื้นที่ปลอดภัย หากกระบวนการพูดคุยนี้เดินหน้าไปได้

พื้นที่ปลอดภัยที่มีการพูดกันมาก่อนนั้น เป็นการกำหนดบางพื้นที่บางจุดโดยเลือกเป็นตำบล อำเภอหรือหมู่บ้าน ซึ่งเป็นการเลือกพื้นที่ในทางภูมิศาสตร์หรือการแบ่งเขตการปกครอง แต่พื้นที่ปลอดภัยในความหมายของกลุ่มผู้หญิงเป็นพื้นที่ในเชิงวัฒนธรรมหรือพื้นที่เฉพาะในทางเศรษฐกิจ เช่น ตลาดซึ่งมีอยู่ทุกที่ 

 

ข้อเสนอของเครือข่ายผู้หญิงจังหวัดชายแดนใต้ จะนำไปสู่การเคลื่อนนโยบายหรือกระบวนการสันติภาพได้อย่างไร

ข้อเสนอนี้เป็นมิติใหม่ของการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ไม่ใช่การมองในเชิงภูมิศาสตร์อย่างเดียว ผมคิดว่านี่เป็นประเด็นที่การพูดคุยสันติภาพจะต้องคำนึงถึง ถ้าหากว่าทุกฝ่ายยอมรับว่าข้อเสนอนี้มีความสำคัญ ก็อาจจะทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ คือ ทำให้พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยจริงๆ ตั้งแต่นี้ไปลองมาทำให้ตลาดปลอดจากเหตุรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นตลาดในเมือง เทศบาล ตลาดในชุมชนหรือตลาดนัด รวมทั้งถนนสายหลักที่มีชุมชนอยู่เยอะๆ และพื้นที่ทางศาสนา เช่น มัสยิดและวัด ทุกฝ่ายต้องละเว้นหรือหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นในพื้นที่เหล่านี้

ข้อเสนอนี้ควรถูกทำให้เป็นเงื่อนไขทางสังคมและการเมืองที่ทุกฝ่ายในพื้นที่ความขัดแย้งจะต้องยอมรับ ถ้าใครก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่เหล่านี้ก็จะเสียหายทั้งในทางการเมืองและเชิงอุดมการณ์เป้าหมายในการต่อสู้ จะต้องถูกปฏิเสธจากสังคม เพราะเรายังเชื่อว่า ความขัดแย้งหรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้นั้น เป็นความขัดแย้งที่ถึงแม้จะมีความรุนแรงทางกายภาพ แต่ก็มีลักษณะของความขัดแย้งในเชิงสัญลักษณ์ด้วย กล่าวคือ การใช้ความรุนแรงเป็นการส่งสารทางการเมือง ซึ่งเราไม่ต้องการให้สิ่งนี้เกิดขึ้น ถ้าคุณต้องการสร้างสัญลักษณ์ทางการเมืองในการต่อสู้ก็ขออย่าให้กระทบกับชีวิตของคน

ข้อเสนอเรื่องพื้นที่ปลอดภัยของเครือข่ายผู้หญิงนี้ถือได้ว่าเป็นความก้าวหน้าในกระบวนการสันติภาพ แม้เวทีการพูดคุยอาจจะไม่มีความก้าวหน้า แต่ประชาชนสามารถสร้างสันติภาพขึ้นมาเองได้ 

 

ทำอย่างไรให้ข้อเสนอเรื่องพื้นที่ปลอดภัยของเครือข่ายผู้หญิงมีความก้าวหน้าเป็นรูปธรรม

ผมคิดว่าเราควรเริ่มทำเป็นพื้นที่ไป เช่น เริ่มต้นจากตลาดใน จ.ปัตตานีก่อน แล้วค่อยๆ ขยายไปที่ จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส โดยเริ่มต้นที่ตลาดใหญ่ของเมืองจากนั้นก็ลงไปสู่ตลาดในอำเภอ ไปจนถึงตลาดนัดซึ่งมีอยู่ทั่วไปใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมเชื่อว่าถ้าพ่อค้าแม่ค้าและประชาชนทั่วไปเห็นด้วย ก็จะขยายพื้นที่ปลอดภัยออกไปได้มาก เมื่อเริ่มทำแล้วต้องมีการเก็บสถิติดูว่าเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในตลาดลดลงหรือไม่ แต่ข้อสำคัญก็คือ สิ่งที่เราทำนี้ ไม่ได้เป็นการทำในเชิงท้าทาย เพราะถ้าเป็นการทำในเชิงท้าทายก็จะมีคนแกล้งหรือตอบโต้เพื่อให้เกิดความรุนแรงในตลาด เราจะต้องระวังไม่ให้ข้อเสนอนี้กลายเป็นการท้าทาย เราเพียงแต่อยากให้ตลาดเป็นพื้นที่ปลอดภัย เพราะเราอยากให้ชาวบ้านและชุมชนมีชีวิตที่ดี

  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง