คณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. มีมติ ส่งหนังสือ “ศ.ดร.พรายพล” ให้อนุกรรมการดำเนินการแล้ว

สังคม
11 มิ.ย. 59
11:46
537
Logo Thai PBS
คณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. มีมติ ส่งหนังสือ “ศ.ดร.พรายพล” ให้อนุกรรมการดำเนินการแล้ว

วันนี้ (11 มิ.ย.2559) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสรายงานว่า ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการ ทำหนังสือร้องเรียนถึงประธานคณะกรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. จากกรณี “รายการเถียงให้รู้เรื่อง” ที่มีการบันทึกเทปในประเด็น : สัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ ได้คุ้มเสียจริงหรือ? เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2559 เพื่อออกอากาศวันที่ 7 มิ.ย.ซึ่งมีการตัดช่วงที่นักวิชาการเสนอความเห็นเพิ่มเติมออกไปนั้น

ต่อมาวันที่ 10 มิ.ย.นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานคณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. เปิดเผยว่าคณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. ได้นำเรื่องนี้เข้าพิจารณาในการประชุม เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา และมีมติให้ส่งเรื่อง นี้ไปยังคณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน เพื่อดำเนินการ โดยด่วนแล้ว

 

สำหรับเนื้อหาของจดหมายที่ ศ.ดร.พลายพล ส่งถึงประธานกรรมการนโยบาบไทยพีบีเอส มีดังนี้

วันที่ 9 มิถุนายน 2559
เรียนประธานคณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.


ตามที่ผมได้ไปบันทึกเทปสำหรับรายการชื่อ "เถียงให้รู้เรื่อง" ในประเด็น : สัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ ได้คุ้มเสียจริงหรือ? ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ของไทย PBS ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อตอนค่ำของวันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน 2559 โดยผมและอาจารย์ฐิติศักดิ์ บุญปราโมทย์ ได้รับเชิญจากผู้จัดให้เข้าร่วมรายการในฐานะนักวิชาการ เป็น commentator ให้ความเห็นเพิ่มเติมจากการอภิปรายของวิทยากรหลัก 2 ท่านคือ คุณมนูญ ศิริวรรณ และคุณรสนา โตสิตระกูล มีคุณอภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์ เป็นพิธีกร และรายการที่บันทึกเทปนี้มีกำหนดออกอากาศผ่านช่องโทรทัศน์ของไทย PBS ในเวลาสี่ทุ่มครึ่งของวันอังคารที่ 7 มิถุนายน 2559 นั้น
ต่อมาในเวลาประมาณสองทุ่มครึ่งของวันอังคารที่ 7 มิถุนายน เจ้าหน้าที่ของไทย PBS ซึ่งประสานงานการเชิญผมเข้าร่วมรายการดังกล่าวได้โทรศัพท์มาถึงผมและแจ้งให้ทราบว่าในการออกอากาศรายการ “เถียงให้รู้เรื่อง” ในคืนวันอังคารที่ 7 มิถุนายนนั้น สถานีจำเป็นต้องตัดส่วนที่เป็นความเห็นของนักวิชาการออกไปเพื่อให้เกิดความเป็นกลาง ซึ่งผมก็ตอบไปว่าผมไม่เห็นด้วยกับการกระทำเช่นนั้นและหากดำเนินการจริงก็จะทำเรื่องร้องเรียนผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป ในการออกอากาศรายการในคืนนั้นก็ปรากฏว่าสถานีไทย PBS ได้ตัดส่วนที่เป็นความเห็นของผมและอาจารย์ฐิติศักดิ์ออกไปทั้งหมดจริง

ประเด็นจึงมีอยู่ว่าการตัดความเห็นของนักวิชาการออกจากรายการนั้นก่อให้เกิด ”ความเป็นกลาง” หรือไม่อย่างไร ผมได้รับเชิญเข้าร่วมรายการในฐานะที่เป็นนักวิชาการด้านพลังงานซึ่งได้ศึกษาและมีประสบการณ์ในการทำงานด้านพลังงานมาเป็นเวลาหลายสิบปี ผมตระหนักดีว่าการให้ความเห็นของผมในฐานะดังกล่าวจะต้องยึดหลักการของการมีเหตุมีผล มีหลักวิชา และมีข้อมูลที่ถูกต้องสนับสนุนอย่างรอบด้าน ไม่จำเป็นต้องเอาใจใครหรือตามใจใคร ไม่มีอคติเป็นการส่วนตัว และไม่เห็นแก่พวกพ้อง ผมเชื่อมั่นว่าผมได้ให้ความเห็นในรายการนี้โดยยึดหลักการดังกล่าวอย่างดีที่สุดแล้ว ผมเชื่อว่าอาจารย์ฐิติศักดิ์ก็คงยึดหลักการเดียวกัน ผมและอาจารฐิติศักดิ์จึงเปรียบเสมือนเป็น “คนกลาง” ที่ให้ความเห็นจากแง่มุมของวิชาการโดยแท้จริง ดังนั้นผมจึงไม่เข้าใจเลยว่าการตัดความเห็นของนักวิชาการออกจากรายการจะทำให้เกิดความเป็นกลางได้อย่างไร ในทางตรงกันข้ามการตัดความเห็นของ “คนกลาง” ออกไปกลับจะทำให้ความเป็นกลางด้อยน้อยลงไปเสียด้วยซ้ำ

ในกรณีที่ความเห็นของนักวิชาการทั้งสองคนเผอิญไปสนับสนุนความเห็นของวิทยากรหลักท่านใดท่านหนึ่งเป็นส่วนใหญ่ ก็ไม่ได้หมายความว่ารายการจะไม่มีความเป็นกลาง และก็ไม่ได้หมายความว่าวิทยากรหลักอีกท่านหนึ่งจะเสียเปรียบหรือ "โดนรุม" เพราะผมเห็นว่าพิธีกรก็เปิดโอกาสให้วิทยากรหลักทั้งสองฝ่ายสามารถชี้แจงตอบโต้นักวิชาการและตอบโต้กันเองได้อย่างเต็มที่อยู่แล้ว ผมเห็นว่าไทย PBS ควรออกอากาศเนื้อหาสาระที่วิทยากรหลักและนักวิชาการได้นำเสนอไว้ในการบันทึกเทปอย่างครบถ้วน แล้วเปิดโอกาสให้ผู้ชมรายการสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเองว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อใครโดยอาศัยเหตุผลและข้อมูลของแต่ละฝ่าย สำหรับผู้ชมรายการที่มีใจเป็นกลางแล้ว ความเห็นที่คน 3 คนเห็นตรงกันแต่ไม่มีเหตุผลเพียงพอ ย่อมไม่น่าเชื่อถือมากไปกว่าความเห็นของคนคนเดียวที่มีเหตุผลและข้อมูลสนับสนุนอย่างหนักแน่น

ผมได้ทราบมาว่าการที่ไทย PBS ตัดความเห็นของนักวิชาการออกจากรายการที่ได้ออกอากาศในวันนั้น เนื่องมาจากว่ามีวิทยากรหลักท่านหนึ่งไม่พอใจที่นักวิชาการทั้งสองคนมีความเห็นขัดแย้งกับความเห็นของตน และมองไปว่าการอภิปรายโต้เถียงกันมีลักษณะที่ตนถูกรุมโจมตี (ในทำนอง “สามรุมหนึ่ง”) จึงได้ติดต่อไปทางสถานีเพื่อให้แก้ไขตัดต่อเทปสำหรับการออกอากาศซึ่งจะทำให้ข้อเสนอและความเห็นของตนมีน้ำหนักและความน่าเชื่อถือมากขึ้นโดยวิธีการตัดความเห็นของนักวิชาการออกไปในที่สุด

ผมได้ทราบมาด้วยว่า ในเบื้องแรกวิทยากรหลักท่านนี้ได้ขอให้ไทย PBS บันทึกเทปรายการใหม่ แต่เมื่อทำไม่สำเร็จจึงได้เดินทางไปที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทย PBS ในเย็นวันที่ 7 มิถุนายนโดยมีผู้บริหารของสถานีให้การต้อนรับเป็นพิเศษและพาเข้าไปถึงในห้องปฏิบัติงานเพื่อกำกับการตัดต่อเทปรายการ "เถียงให้รู้เรื่อง" ที่กำลังจะออกอากาศในคืนนั้นด้วย ผมไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่าวิทยากรหลักท่านนี้มีอิทธิพลและอำนาจมากล้นจนทำให้สามารถกดดันให้ผู้บริหารไทย PBS ยอมโอนอ่อนผ่อนตามและถูกแทรกแซงการทำงาน อันเป็นผลทำให้มีการแก้ไขเนื้อหาการออกอากาศตามความต้องการของวิทยากรหลักท่านนี้ หากเหตุการณ์นี้เป็นจริง ก็ถือได้ว่าเป็นการใช้อิทธิพลและอำนาจโดยบุคคลที่บ้าอำนาจ เห็นแก่ตัว มีจิตใจคับแคบ ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี และสังคมไม่ควรให้การยอมรับนับถือ

การตัดความเห็นของนักวิชาการออกจากรายการออกอากาศ รวมทั้งการยอมให้อิทธิพลภายนอกเข้าไปครอบงำและแทรกแซงการทำงานอย่างไม่เหมาะสม อันอาจก่อให้เกิดการบิดเบือนในการนำเสนอเนื้อหาสาระของรายการโทรทัศน์ หากเป็นจริง ก็ย่อมเป็นเครื่องชี้ได้ว่าผู้บริหารไทย PBS ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ได้ปฏิบัติหน้าที่อันขัดต่อข้อบังคับด้านจริยธรรมวิชาชีพอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะในข้อบังคับที่ให้ความสำคัญกับความเที่ยงตรง ความเป็นธรรม และความเป็นอิสระของวิชาชีพ ไทย PBS ในฐานะองค์กรก็คงไม่สามารถทำหน้าที่เป็นสถาบันสื่อสาธารณะที่สร้างสรรค์สังคม คุณภาพ และคุณธรรมได้อีกต่อไป ความเชื่อมั่นในการเป็นสถาบันสื่อที่มีความเป็นอิสระเพราะได้รับงบประมาณจากรายได้ภาษีสรรพสามิตของรัฐก็จะเสื่อมถอยลงในที่สุด

อนึ่ง การไม่ยอมให้ความเห็นทางวิชาการของผมได้รับการเผยแพร่ น่าจะเข้าข่ายการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางวิชาการอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งได้รับการคุ้มครองในรัฐธรรมนูญของไทยเกือบทุกฉบับ
ดังนั้น ผมจึงขอร้องเรียนต่อคณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. ให้สืบหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์และบุคคลที่ทำให้ความเห็นของผมและอาจารย์ฐิติศักดิ์ถูกตัดออกจากรายการ "เถียงให้รู้เรื่อง" ซึ่งออกอากาศในคืนวันอังคารที่ 8 มิถุนายน 2559 และหากพบว่ามีการปฏิบัติหน้าที่อันขัดต่อข้อบังคับด้านจริยธรรมวิชาชีพ ก็ให้ดำเนินการตามระเบียบวินัยขององค์กรต่อไป พร้อมทั้งหาทางป้องกันไม่ให้เกิดข้อบกพร่องในการทำงานเช่นนี้อีกในอนาคต

ในช่วงเวลาไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมทราบว่าในกรณีที่ผมร้องเรียนนี้ ไทย PBS ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบผ่านโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก ผมจึงหวังว่าคณะกรรมการฯ จะสามารถพิจารณาข้อร้องเรียนของผมได้อย่างรวดเร็วและเป็นธรรม และชี้แจงผลการพิจารณาให้สาธารณชนได้ทราบ อันจะเป็นการกอบกู้ฟื้นฟูให้ไทย PBS มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นและสามารถกลับมาทำหน้าที่เป็นสื่อสาธารณะที่สร้างสรรค์สังคมได้อย่างแท้จริง

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

(นายพรายพล คุ้มทรัพย์)

สำเนาส่ง ผู้อำนวยการ และกรรมการทุกท่านในคณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท.

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง