ชี้ปรับค่าจ้างลอยตัว-ลูกจ้างเสียเปรียบ แนะช่วยอีก 2.5 ล้านคนที่ยังไม่ได้

เศรษฐกิจ
9 มิ.ย. 58
05:30
208
Logo Thai PBS
ชี้ปรับค่าจ้างลอยตัว-ลูกจ้างเสียเปรียบ แนะช่วยอีก 2.5 ล้านคนที่ยังไม่ได้

นักวิชาการด้านแรงงานระบุการปรับค่าจ้างแบบลอยตัว อาจทำให้ลูกจ้างเสียเปรียบเพราะปัจจุบันข้อมูลโครงสร้างค่าจ้างยังไม่ชัดเจน สิ่งที่รัฐต้องดำเนินการในขณะนี้ คือการแก้ปัญหาแรงงานที่ยังไม่ได้ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 2,500,000 คน ส่วนกระทรวงแรงงานยืนยันว่า การปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2559 จะไม่ต่ำกว่า 300 บาท

วันที่ 9 มิ.ย.2558 นายอารักษ์ พรหมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงแนวทางการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำว่า คณะกรรมการค่าจ้างไม่มีมติยกเลิกค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท แต่มีมติให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามพื้นที่จังหวัด โดยจะใช้อัตรานี้จนถึงปลายปี 2558 และจะเป็นฐานในการพิจารณาปรับค่าจ้างในแต่ละจังหวัดในอนาคต ส่วนการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของปี 2559 จะมีข้อสรุปภายในเดือน ต.ค. 2558 หลังจากมีการรวบรวมข้อมูลจากแต่ละจังหวัดรวมถึงข้อมูลด้านวิชาการ โดยการปรับค่าจ้างจะไม่ต่ำกว่า 300 บาท ไม่ว่าจะมีแนวทางออกมาในรูปแบบใดก็ตาม

ส่วนแนวทางการปรับอัตราค่าจ้างแบบลอยตัวนายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า แม้การลอยตัวจะช่วยบ่งชี้ถึงภาพรวมสภาวะเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ได้ดี แต่อาจทำให้ลูกจ้างเสียเปรียบ เนื่องจากข้อมูลโครงสร้างค่าจ้างไม่ชัดเจน ส่วนปัญหาที่ต้องแก้ไขในขณะนี้คือ รัฐบาลควรเร่งแก้ปัญหาลูกจ้างที่ไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ที่มีอยู่อีกไม่ต่ำกว่า 2,500,000 คนทั่วประเทศ เพราะแม้จะมีการลอยตัวค่าจ้างแต่ยังคงต้องยึดค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทเป็นเกณฑ์พื้นฐาน

ด้านนายสมมาตร ขุนเศรษฐ กรรมการบริษัท แพนเอเชีย ฟุตแวร์ ในฐานะผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม กล่าวว่า การลอยตัวค่าจ้างตามประเภทอุตสาหกรรม หรือเขตเศรษฐกิจอาจซ้ำเติมภาวะขาดแคลนแรงงาน และต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด หากยังคงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ดังนั้นควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด และสภาวะเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่เป็นผู้กำหนด ส่วนความเห็นของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยยังคงมติเดิมคือเรียกร้องให้คณะกรรมการค่าจ้าง ปรับขึ้นค่าจ้างเพิ่มเป็นวันละ 360 บาททุกจังหวัด และไม่เห็นด้วยกับแนวคิดให้กลับไปใช้วิธีพิจารณาค่าจ้างรูปแบบเดิมในลักษณะลอยตัว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง