นักวิเคราะห์ลงทุนไทย ประเมิน Brexit ไม่นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ
27 มิ.ย. 59
20:27
197
Logo Thai PBS
นักวิเคราะห์ลงทุนไทย ประเมิน Brexit ไม่นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจ
สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ประเมินผลประชามติอังกฤษออกจากอียู กระทบเศรษฐกิจไทยน้อย และอาจได้อานิสงส์จากเงินทุนไหลเข้า หากไทยมีความชัดเจนทางการเมือง พร้อมย้ำ Brexit ไม่นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจโลก

ความเคลื่อนไหวการลงทุนของไทย หลังการลงประชามติออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ของสหราชอาณาจักรหรือ Brexit วันนี้ (27 มิ.ย.2559) ดัชนีหลักทรัพย์ฟื้นตัวขึ้น

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน วิเคราะห์ว่า กระบวนการออกจากอียูของอังกฤษ และปัญหาการเมืองภายในประเทศของอังกฤษ อาจสร้างความไม่แน่นอนและความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนสูง แต่จะไม่นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจโลก เนื่องจากอังกฤษไม่ได้ใช้เงินยูโร แต่ต้องติดตามว่าประเทศที่ใช้เงินยูโรต้องการเลียนแบบอังกฤษหรือไม่ เพราะอาจจุดฉนวนวิกฤตสถาบันการเงินในอียู ซึ่งกระทบเศรษฐกิจโลกรุนแรงกว่า แต่เชื่อว่าผู้นำอียูจะออกมาตรการปรามไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แต่ผลจากการลงประชามติอาจกระทบการส่งออกและท่องเที่ยวไทยอยู่บ้าง แต่เชื่อว่าไทยอาจได้รับอานิสงส์จากการลงประชามติ เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาไม่ขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ รวมทั้งอียูและญี่ปุ่น อาจอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเพื่อสร้างความเชื่อมั่น และทำให้เงินทุนจากต่างชาติไหลเข้าเอเชียและไทย

"นักลงทุนส่วนหนึ่งในยุโรป อาจกลัวความเสี่ยง จึงอาจเอาเงินส่วนหนึ่งออกมาข้างนอก ผมคิดว่าตอนนี้ภูมิภาคตอนนี้ที่น่าไปที่สุดคือ เอเชีย เพราะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยที่มีเงินต่างชาติเหลือในประเทศน้อยที่สุดในแถบภูมิภาคนี้ ผมคิดว่าไทยน่าจะเป็นที่ที่ต่างชาติจับตาดูอยู่ แต่เราเองก็มีต้องพัฒนาให้เป็นประเทศที่น่าดึงดูดการลงทุนเช่นกัน" นายไพบูลย์ กล่าว

ด้านนางภรณี ทองเย็น อุปนายก สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ยังคงกรอบดัชนีหลักทรัพย์ ทั้งปีจะอยู่ที่ประมาณ 1,380-1,450 จุด ขณะที่นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ประเมินว่าผลของประชามติ อาจกระทบส่งออกไทยทั้งปีให้ติดลบ แต่หากอังกฤษและสหภาพยุโรปไม่สามารถตกลงแนวทางในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจร่วมกันได้ก็จะส่งผลให้การค้าของโลกหยุดชะงัก

น.ส.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอ เห็นว่า หากการรวมกลุ่มของอียูล่มสลาย จะทำให้สหรัฐอเมริกาขึ้นมาเป็นผู้ควบคุมกรอบการค้าโลก โดยใช้ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิกหรือทีพีพี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง