3 ฝ่ายจี้ไฟเขียวรณรงค์ประชามติ-เสนอเลือกตั้ง สสร.หากร่าง รธน.ไม่ผ่าน

การเมือง
4 ก.ค. 59
14:48
342
Logo Thai PBS
3 ฝ่ายจี้ไฟเขียวรณรงค์ประชามติ-เสนอเลือกตั้ง สสร.หากร่าง รธน.ไม่ผ่าน
นักการเมือง-นักวิชาการ-ภาคประชาชน เสนอหยุดจำกัดกิจกรรมทางการเมืองระหว่างการลงประชามติ นปช.หนุนทางเลือกหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชามติชั่วคราว หลังจากนั้นตั้ง สสร.ขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่

วันนี้ (4 ก.ค.2559) สถาบันสิทธิมนุษยนชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ International IDEA โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLAW) ขบวนการผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ร่วมจัดเวทีเสวนาหัวข้อ "ถกแถลงสาธารณะ มองไปข้างหน้า หลังประชามติ" โดยมีนักการเมือง นักวิชาการ และภาคประชาชน เข้าร่วม

รศ.ยุทธพร อิสรชัย รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ประเมินสถานการณ์หลังการลงประชามติวันที่ 7 ส.ค.2559 เป็น 2 แนวทาง แนวทางแรก คือ ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงผ่าน ส่งผลให้ปัญหาความขัดแย้งจะกลับมาอีกครั้งเมื่อมีการประกาศใช้กลไกต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญและมีการเลือกตั้ง นั่นหมายความว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งในอนาคต เนื่องจากประชาชนมีส่วนร่วมน้อย เปิดให้แสดงความคิดเห็นจำกัด ขณะที่การให้น้ำหนักความเห็นต่อร่างของภาครัฐมีมาก แนวทางที่สอง คือ ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงผ่าน แต่ คสช.ไม่กล้าใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ เนื่องจากมีแรงกดดันทั้งในและนอกประเทศ

ส่วนบรรยากาศการจัดประชามติที่เกิดขึ้นในขณะนี้ รศ.ยุทธพร ระบุว่าต้องเปิดกว้างให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม ความสำคัญของการลงประชามติ ไม่ได้อยู่ที่ว่าร่างผ่านหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าประชาชนรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของหรือไม่

ด้านนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เรียกร้องให้เปิดพื้นที่การรณรงค์แสดงความเห็นร่างรัฐธรรมทั้งกลุ่มที่โหวตรับและไม่รับร่าง เนื่องจากจะเป็นการยกระดับการใช้วิจารณญาณของประชาชน พร้อมชี้ว่าการตั้งศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยประชามติประจำจังหวัด จะนำไปสู่วิกฤตในการยอมรับผลประชามติ

นางธิดากล่าวเพิ่มเติมว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านประชามติ จะสนับสนุนแนวทางฉากทัศน์ของศูนย์สันติวิธี ม.มหิดล ที่เสนอให้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติมาบังคับใช้ชั่วคราว หลังจากนั้นให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ขึ้นมาจากประชาชน

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงขั้นตอนภายหลังการลงประชามติว่า หากร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงผ่าน ทาง กรธ.จะปรับแก้รัฐธรรมนูญ ให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง และส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งรูปแบบนี้ทำให้การเลือกตั้งล่าช้าไป 2 เดือน จะสามารถจัดการเลือกตั้งได้ในเดือนตุลาคม 2560 ส่วนข้อเสนอตามภาพอนาคตของนายโคทม อารียา ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล ที่เสนอให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ภายใต้การมีส่วนร่วมนั้น นายสมชัย กล่าวว่าเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากมีการระบุไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน จะมีการร่างใหม่ และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้ทันที

นายสมชัยเรียกร้องให้ประชาชนทุกภาคส่วนถกเถียงอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญอย่างละเอียด ไม่ควรไปลงประชามติด้วยการชักจูงของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และเมื่อผลประชามติออกมาไม่ว่าทางใด ขอให้เป็นที่ยุติและยอมรับของทุกฝ่าย

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มหลายๆ ฝ่ายตอนนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้น่าจะผ่านประชามติ เนื่องจากรัฐใช้กลไกรณรงค์อย่างเข้มข้น ขณะเดียวกันได้ชี้ให้เห็นแนวทางที่จะเกิดขึ้น 3 ประเด็น หลังร่างรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ได้แก่ คสช.ไม่ได้ลงจากอำนาจเร็วขึ้น แต่จะยังมีอำนาจเต็มอยู่ ขณะเดียวกันองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ จะเป็นเครือข่ายขององค์กรที่ตั้งขึ้นโดยไม่ได้มีที่มายึดโยงกับประชาชน และคำสั่งต่างๆ ของ คสช.ที่มีผลในทางกฎหมาย และการปฏิรูป ชี้ว่า คสช.จะไม่เพียงอยู่ในอำนาจแค่ปีครึ่ง หรือ 5 ปี แต่อาจยาวนานถึง 20 ปี

นอกจากนี้ยังมีความเห็นจากตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนจากภาคเหนือ กล่าวว่า กลไกการควบคุมการลงประชามติหรือคำสั่งหัวหน้า คสช.ห้ามชุมนุมทางการเมือง 5 คน ทำให้ปิดทางการมีส่วนร่วมของประชาชน ชาวบ้าน ชุมชน ภาคประชาสังคม ไม่สามารถร่วมกันปรึกษาหารือและจับตาสิ่งผิดปกติในการลงประชามติ ด้านตัวแทนกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ยังยืนยันในการใช้สิทธิรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง