“เหล้า-บุหรี่-อ้วน” ทำให้คนไทยเสียสุขภาพดีรวมถึง 15.3 ล้านปี

สังคม
7 ก.ค. 59
11:42
143
Logo Thai PBS
“เหล้า-บุหรี่-อ้วน” ทำให้คนไทยเสียสุขภาพดีรวมถึง 15.3 ล้านปี
ผลศึกษาวิจัยเรื่อง “ภาระโรค” พบคนไทยสูญเสียการมีสุขภาพดีถึง 15.3 ล้านปี ในจำนวนนี้เป็นการตายก่อนวัยอันควรถึง 10 ล้านปี ส่งผลเสียทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าประมาณ 930,000 ล้านบาท

ชี้สาเหตุสำคัญจากโรคไม่ติดต่อ หรือพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ “เหล้า-บุหรี่-โรคอ้วน” ขณะที่การสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนทั้งการตายและภาวะพิการโดยเฉพาะในเพศชาย ยังคงเป็นสาเหตุสำคัญของประเทศ

วานนี้ (6 ก.ค.) แผนงานการพัฒนาดัชนีภาระทางสุขภาพเพื่อการพัฒนานโยบาย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาวิชาการ “เปิดเผยผลสำรวจสถานการณ์ภาระโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย” โดยมี ศ.นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานดำเนินรายการ

ทพญ.กนิษฐา บุญธรรมเจริญ หัวหน้าแผนงานการพัฒนาดัชนีภาระทางสุขภาพเพื่อการพัฒนานโยบาย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ เปิดเผย “รายงานผลการศึกษาภาระโรคของประชากรไทยในปี 2556” ว่า จากการประเมินภาระโรค ซึ่งเป็นตัววัดการสูญเสียด้านสุขภาพหรือ “ปีสุขภาวะที่สูญเสีย” อันเป็นดัชนีชี้วัดสถานะสุขภาพที่เป็นมาตรฐานของประชากร ประกอบด้วยการวัดความสูญเสียจากการตายก่อนวัยอันควร และ ความสูญเสียจากการมีชีวิตอยู่ด้วยความพิการหรือความบกพร่องทางสุขภาพ

จากการศึกษา ความสูญเสียปีสุขภาวะของประชากรไทย ล่าสุดทสำรวจในปี 2556 และวิเคราะห์รวบรวมเพื่อแปลผลในปี พ.ศ.2559 พบว่า ประชากรไทยมีการสูญเสียปีสุขภาพดีร่วมกัน 15.3 ล้านปี โดยเป็นความสูญเสียด้วยการตายก่อนวัยอันควร 10 ล้านปี และต้องอยู่อย่างเจ็บป่วยหรือพิการ 5.3 ล้านปี หากคำนวณเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจะสูงถึง 930,053 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 7.2 เปอร์เซนต์ ของจีดีพีประเทศ โดยมีกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาระโรคที่สูงเพิ่มขึ้น เป็นผลจากพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพของคนไทย โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และภาวะน้ำหนักเกิน ที่เกิดจากการบริโภคไม่เหมาะสม ขาดการออกกำลังกายที่เพียงพอ

“เมื่อวิเคราะห์อายุเฉลี่ยของคนไทย พบว่า คนไทยมีอายุยืนขึ้นเล็กน้อย เทียบจากปี 2552 โดยเพศชายจะมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 71 ปี (เพิ่มขึ้น 0.9 ปี) และเพศหญิงอยู่ที่ 77 ปี (เพิ่มขึ้น 0.2 ปี) อย่างไรก็ตาม แม้ผู้หญิงจะมีอายุยืนยาวกว่าผู้ชาย แต่มีช่วงเวลาที่สุขภาพไม่สมบูรณ์ หรือมีความบกพร่อง พิการมากกว่าผู้ชาย เฉลี่ยประมาณ 2 ปี โดยอายุเฉลี่ยที่ประชากรมีสุขภาพดีของ เพศชายอยู่ที่ 68 ปี และของเพศหญิงอยู่ที่ 72 ปี” ทพญ.กนิษฐา กล่าว

ทพญ.กนิษฐากล่าวว่า สำหรับสาเหตุหลักของการสูญเสียจำนวนปีแห่งการมีสุขภาพที่ดีในเพศชาย 3 อันดับแรก คือ 1.อุบัติเหตุทางถนน 2.การดื่มแอลกอฮอล์ และ 3.โรคหลอดเลือดสมอง ส่วนเพศหญิง 3 อันดับแรก คือ 1.โรคหลอดเลือดสมอง 2.โรคเบาหวาน และ 3.โรคซึมเศร้า เห็นได้ว่า อุบัติเหตุทางถนน และการเสพติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังคงเป็นสาเหตุหลักของความสูญเสียของประเทศ ขณะที่แนวโน้มการติดเชื้อเอชไอวี เอดส์ มีความสูญเสียลดลงเทียบจากครั้งก่อน เนื่องจากการแพร่ระบาดลดลงและการเข้าถึงการรักษาโรคเอดส์ที่เร็วขึ้น ส่วนโรคเรื้อรังมีแนวโน้มสูงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัย

ทพญ.กนิษฐาระบุด้วยว่า การนำเครื่องมือวัดปีสุขภาวะที่สูญเสียไปจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บของประชากร (Disability-Adjusted Life Years เรียกย่อ ๆ ว่า DALY) มาใช้ในการวัดสถานะสุขภาพของประชากรแบบองค์รวม จะมีประโยชน์อย่างมากต่อการกำหนดทิศทางของนโยบายด้านสุขภาพของรัฐบาล เพราะมีความครอบคลุมถึงการมีชีวิตอยู่อย่างบกพร่องหรือพิการ และการสูญเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ทำให้สามารถเปรียบเทียบขนาดของปัญหาสุขภาพที่มีความสำคัญของประชากรได้ในหน่วยเดียวกันและยังคาดประมาณมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการตายและความพิการได้อีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง