"คลิปเด็ก" อย่ามองแค่น่ารัก โพสต์-แชร์ เสี่ยงผิด พรบ.คุ้มครองเด็ก

สังคม
7 ก.ค. 59
14:27
3,272
Logo Thai PBS
"คลิปเด็ก" อย่ามองแค่น่ารัก โพสต์-แชร์ เสี่ยงผิด พรบ.คุ้มครองเด็ก
ปัจจุบันมีการถ่ายภาพและคลิปของเด็กแล้วนำไปเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์เป็นจำนวนมาก หลายคนอาจโพสต์หรือแชร์คลิปเด็กเพราะความน่ารัก น่าเอ็นดู แต่การกระทำเหล่านี้กลับเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของเด็กและเป็นการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย

วันนี้ (7 ก.ค.2559) สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ร่วมกับเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ พร้อมด้วยมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ร่วมจัดเวทีเสวนา "คลิปเด็ก" ถ่าย โพสต์ แชร์ มองให้ลึกกว่าความน่ารัก โดยมีหน่วยงานภาครัฐและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง นักกฎหมาย รวมถึงแอดมินเฟซบุ๊กเพจยอดนิยม "Drama-addict" เข้าร่วมเสวนา

น.ส.เข็มพร วิรุฬราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวว่า ผู้ปกครองหลายคนยังไม่ตระหนักรู้ว่าสื่อสังคมออนไลน์เป็นทั้งเครื่องมือที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เป็นเสมือนดาบสองคมที่อาจจะส่งผลกระทบกับตัวเด็ก ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ ผศ.มรรยาท อัครจันทโชติ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ระบุว่า โลกของสื่อยุคใหม่มีธรรมชาติที่แตกต่างจนทำให้ผู้ใช้ตามไม่ทัน ซึ่งการลงภาพเด็กหรือคลิปเด็กในเฟซบุ๊กที่หลายคนคิดว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัว แต่หากคลิปนั้นเป็นการละเมิดสิทธิของเด็กก็เป็นเรื่องที่ไม่สมควร เพราะอาจถูกเผยแพร่ไปในวงกว้าง ถึงแม้จะมาลบทีหลังก็ตาม เพราะคลิปหรือภาพนั้นอาจถูกผู้อื่นบันทึกไว้แล้ว

ด้าน พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น รพ.รามาธิบดี ระบุว่า การโพสต์ภาพเด็กลงในสื่อสังคมออนไลน์ส่งผลกระทบกับภาพลักษณ์และความเป็นส่วนตัวของเด็ก อาจทำให้เด็กอึดอัดและมีนิสัยก้าวร้าว ขณะที่คำชื่นชมต่างๆ อาจกลายเป็นการสนับสนุนให้พ่อแม่เด็กเผยแพร่ภาพหรือคลิปมากขึ้น

ส่วนกรณีที่มีการโพสต์คลิปประจานจากคนในครอบครัวหรือคนใกล้ตัวของเด็กลงในโซเชียลฯ จนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร้ลิมิตจากสังคม อาจทำให้เด็กบางคนทนไม่ไหวหรือรับไม่ได้กับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่รุนแรงนั้น จนเกิดเป็นความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า จนนำไปสู่การทำร้ายตัวเอง จึงอยากให้ผู้ปกครองหรือคนใกล้ตัวเด็กตระหนักเรื่องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของเด็กเป็นสำคัญ

ขณะที่ "จ่าพิชิต ขจัดพาลชน" เจ้าของเพจดัง Drama-addict ระบุถึงปรากฏการณ์คลิปเด็กว่า ทุกวันนี้ทุกคนเป็นสื่อที่สามารถผลิตเนื้อหาของตัวเองได้ หรือผู้ปกครองที่เห็นว่าบุตรหลานของตัวเองน่ารักก็อยากจะเผยแพร่ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่ปัญหาคือบุคคลเหล่านี้ไม่รู้ถึงผลกระทบที่จะตามมา เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์มันไม่สามารถควบคุมได้ หรืออาจมีผู้ไม่หวังดีนำภาพหรือคลิปไปเผยแพร่ต่อในทางที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย ซึ่งคลิปเด็กถือเป็นวัตุดิบชั้นดีที่ผู้ไม่หวังดีจะนำไปบิดเบือนข้อมูลในเพจของตัวเองเพื่อเรียกยอดวิวและเรียกคนเข้ามากดไลค์

 

"จ่าพิชิต" ยังกล่าวอีกว่า การโพสต์ภาพและคลิปของเด็กลงสื่อสังคมออนไลน์ เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เรียกให้อาชญากรเข้ามาหาตัวเด็กได้งายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์เรื่องราวในชีวิตประจำวัน รวมถึงการ "เช็คอิน" ตามสถานที่ต่างๆ ขณะที่ปัจจุบันมีคลิปเด็กจำนวนมากที่ถูกเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งผู้เผยแพร่กลับเป็นคนที่ทำงานอยู่กับเด็กและเป็นผู้ใกล้ชิดเด็กโดยตรง อย่างกรณีที่ครูถ่ายคลิปเด็กชายร้องไห้ขอโทษเพื่อนที่ถูกตัวเองต่อยจนปากแตก ก็ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์และมีการแชร์คลิปกันเป็นจำนวนมาก จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกวดขันจริยธรรมวิชาชีพให้มากขี้น

นายณัฐวุฒิ บัวประทุม หัวหน้านักกฎหมายมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ระบุว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 27 ระบุว่าห้ามมิให้ผู้ใดเผยแพร่ข้อมูลในสื่อสารสนเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลเด็ก จนส่งผลกระทบกับชื่อเสียง เกียรติคุณ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ แต่ปัญหาคือคำว่า "เจตนา" ก็ต้องดูว่าอย่างไรที่เรียกว่าเจตนาที่จะเป็นการละเมิด ซึ่งบางครั้งสื่อมวลชนที่นำเสนอแต่ก็ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้กฎหมายคุ้มครองเด็กยังมีความผิดตามกฎหมายคุ้มครองอื่นๆ เช่น หากเป็นความผิดเกี่ยวกับกฎหมายคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจเป็นภาพหรือคลิปลามก ข้อมูลเท็จและข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อสาธารณะ

หัวหน้านักกฎหมายมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กยอมรับด้วยว่ากฎหมายของไทยยังครอบคลุมไม่ครบทุกปัญหาเกี่ยวกับสิทธิเด็ก ส่วนช่องโหว่ที่เห็นได้ชัดคือการนำข้อมูลเด็กเข้าไปสู่ระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งประเทศไทยไม่มีการกำหนดอายุ ขณะที่กฎหมายของสหรัฐอเมริกามีการกำหนดว่าข้อมูลของเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีไม่ควรอยู่ในเว็บไซต์ต่างๆ ส่วนเด็กที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไปจะต้องได้รับความยินยอมจากครอบครัว หรือแม้กระทั่งตัวเด็กเอง แต่หากบรรลุนิติภาวะไปแล้วก็ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ข้อมูลนั้นต้องไม่ส่งผลกระทบต่อศีลธรรมต่างๆ ซึ่งหลายครั้งที่ผู้ถ่ายภาพ ผู้โพสต์และผู้แชร์มองเป็นความน่ารัก หรือเป็นข้อมูลทั่วไป แต่ก็ต้องคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว ซึ่งเป็นหลักการที่อยู่ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ยังไม่ถูกแปลงมาเป็นกฎหมายที่ชัดเจน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง