คาด “รถไฟทางคู่” สายอีสานช่วงแรก เริ่มเดินรถได้ปีหน้า

สังคม
11 ก.ค. 59
19:50
228
Logo Thai PBS
คาด “รถไฟทางคู่” สายอีสานช่วงแรก เริ่มเดินรถได้ปีหน้า

ชุมทางถนนจิระ อ.เมือง จ.นครราชสีมา ถึงขอนแก่น เป็นเส้นทางแรกที่เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการรถไฟทางคู่ระยะทางเร่งด่วน ตามมติของคณะรัฐมนตรีในปี 2553 ระยะทาง 187 กิโลเมตร มูลค่ากว่า 26,000 ล้านบาท ประกอบด้วยสถานีรับส่งผู้โดยสาร 19 แห่ง สถานีย่านเก็บกองและขนถ่ายสินค้าตู้สินค้า 3 แห่ง

รูปแบบการก่อสร้าง จะก่อสร้างทางรถไฟใหม่เพิ่มอีก 1 ทาง ขนานไปกับทางรถไฟเดิม โดยทางรถไฟส่วนใหญ่อยู่ระดับพื้น ยกเว้นช่วงบริเวณสถานีขนส่งขอนแก่นเป็นทางยกระดับ โดยจะเริ่มเปิดการเดินรถได้ก่อน เริ่มที่สถานีบ้านเกาะถึงสถานีเมืองคง ระยะทาง 50 กิโลเมตร

ที่สถานีบ้านเกาะแห่งนี้ เป็นสถานีที่อยู่ในแผนการพัฒนารถไฟทางคู่ของรัฐบาล โดยขณะนี้มีการเริ่มการก่อสร้างไปแล้ว โดยคาดว่าน่าจะสามารถเปิดใช้งานทดลองเดินรถได้ในปีหน้า แต่ก่อนจะเริ่มการก่อสร้าง กลับมีปัญหาในส่วนของการออกแบบ ที่สถานีเมืองคง จากเดิมจะทำคันดิน 4 เมตร และทำอุโมงลอดแทนทางกั้น และสะพานกลับรถที่ห่างประมาณ 500 เมตร แต่คนในพื้นที่ระบุว่า อาจไม่คุ้มค่าและส่งผลกระทบต่อสภาพเมือง จึงเปลี่ยนเป็นทางราบเสมอพื้นดิน และจะทำสะพานข้ามถนนแทน

และที่สถานีบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น จากเดิมจะสร้างคันดินสูง 7 เมตร แต่ชาวบ้านกังวลว่า จะทำให้กลายเป็นเมืองอกแตก โดยจะปรับแบบเป็นการสร้างต่อม่อแทน ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณางบประมาณและศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมใหม่ ซึ่งรมช.คมนาคมยืนยันว่า จะช่วยลดงบประมาณการก่อสร้า งและจะไม่ส่งผลให้การก่อสร้างล่าช้าไปกว่าแผน

เส้นทางชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น มีการประเมินเบื้องต้น จากผลการศึกษาระบุว่า จะสามารถลดระยะเวลาการขนส่งสินค้าสำหรับรถโดยสารได้จากเดิม 3 ชั่วโมง เป็น 1.20 ชั่วโมง และการขนส่งสินค้าจากเดิม 6 ชั่วโมง จะใช้ระยะเวลาเพียง 2.30 ชั่วโมง

นอกจากนี้ ยังจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการขนส่ง เพราะจะมีผู้โดยสารจากปีละ 2 ล้านคน เป็น 6 ล้านคน และเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าจาก 4 แสนตันต่อปีเป็น 4 ล้านตันต่อปี

สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ ที่จะเปิดเส้นทางต่อไปคือ เส้นทางฉะเชิงเทรา-คลอง 19-แก่งคอย และในปีนี้จะสามารถลงนามได้อีก 4 เส้นทาง คือช่วงประจวบ คีรีขันธ์-ชุมพร ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ช่วงนครปฐม-หัวหิน และช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 8 ปี ที่กำหนดไว้

แม้รัฐบาลจะมั่นใจว่า โครงการรถไฟทางคู่จะพลิกโฉมการขนส่งทางรางของประเทศไทย เพราะนอกจากจะสามารถขนส่งโดยสารได้ ยังสามารถลดต้นทุนการขนส่งจากแหล่งผลิต เชื่อมต่อไปยังการขนส่งรูปแบบอื่นๆ รวมถึงการลบภาพความล่าช้า เสียเวลาในการเดินทางของรถไฟ ซึ่งจากเดิมยังต้องคอยหลบหลีกขบวนอื่นๆ แต่ก็ยังมีข้อสังเกตจากบางฝ่ายว่า การก่อสร้างอาจล่าช้าหรือไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด รวมถึงไม่คุ้มค่าการลงทุน จากหลายปัจจัย อาทิ การคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่ หรือจำนวนกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้ามาใช้บริการ ท้ายที่สุด หากการดำเนินการก่อสร้างไม่สำเร็จ และไม่เต็มประสิทธิภาพ ก็อาจไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศตามเป้าหมาย ของรัฐบาล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง